../banner.gif
***สร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาท้องถิ่น***

000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลป
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

584.5
ปลูกหวายขาย เป็นรายได้เสริมของ ธวัช เกียรติเสรี

ผู้แต่ง: อุราณี ทับทอง
ชื่อเรื่อง: ปลูกหวายขาย เป็นรายได้เสริมของ ธวัช เกียรติเสรี

ยามว่างจากงานประจำ หากพอมีเวลา หลายคนคงคิดหาอะไรทำ บางคนทำเล่น ๆ เป็นงานอดิเรก บางคนจริงจังหวังผลกำไร ซึ่งกิจกรรมยามว่างที่ได้รับความสนใจไม่น้อยก็คือ การเกษตร
ถึงแม้เกษตรกรคิดแค่ปลูกไว้เองด้วยใจรัก แต่ถ้าหากเกิดผลิตผลที่ดี มีคนต้องการ สิ่งที่ตามมาก็คือผลตอบแทน ถือเป็นรายได้อีกส่วน ที่มาจากหนึ่งเวลายามว่างของตนเอง เช่นเดียวกับ ธวัช เกียรติเสรี เจ้าหน้าที่ประจำเป็นนักวิชาการเผยแพร่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาป่าชุมชนในพื้นที่แนวกันชน จังหวัดปราจีนบุรี วัย 40 ปี อาศัยอยู่ที่ 490 ต. หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โทร. 0-1377-4146

ปลูกเสริมป่า

คุณธวัช เล่าว่า ตนได้ทำงานร่วมกับชุมชนมาตลอด เห็นว่าหวายกำลังจะหมดไปในเขตภาคตะวันออก จะเหลืออยู่เพียงในป่าอนุรักษ์เท่านั้น ทางสำนักงานป่าไม้เขตจึงมีนโยบายให้เพาะหวายเพื่อสนับสนุนชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนได้ขยายพันธุ์หวายเป็นอาชีพเสริม ตั้งแต่การปลูกจนถึงการผลิต ทุกขั้นตอน โดยศึกษาต้นแบบจาก อำเภอกุดมาก จังหวัดสกลนคร มาปรับใช้ในเขตป่าตะวันออก
ตนจึงผันเวลาว่างมาทดลองปลูกด้วย โดยชักชวน คุณพิเชษฐ์ พูลสวัสดิ์ เป็นยามประจำของสำนักงานป่าไม้เขตเห็นว่าเขามีรายได้น้อยมาช่วยกันดูแล ตอนนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว แต่ปีนี้เพิ่งเริ่มขยายเป็นปีแรก
ปัจจุบันปลูกขายให้กับกรมป่าไม้ เพื่อนำไปปลูกในป่าอนุรักษ์ส่วนหนึ่ง และขายให้กับชาวบ้านอีกส่วน
มีแปลงปลูกทั้งหมดกว่า 60 แปลง แปลงละ 1,200 ต้น
คุณธวัช บอกว่า หวายมีคุณค่าด้านสมุนไพร เท่าที่ได้คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเอารากไปต้มเป็นยาตำรับเข้ากับยาชนิดอื่น ที่เรียกว่าเข้ายาเย็น แก้ร้อนใน ตนมีความเชื่อส่วนตัวว่า สามารถนำไปเป็นยาตำรับรักษาโรคมะเร็งได้ ส่วนยอดหวายมีคุณค่าทางโภชนาการคล้ายกับยอดพืชผักอื่น ๆ เช่น ยอดมะพร้าวทั่วไป แต่มีรสชาติออกขม ชาวอีสานนิยมกินยอดหวายกันมาก

เพาะเมล็ดก่อนลงปลูก

หวายที่ปลูกนี้ คุณธวัชซื้อเมล็ดจากชาวบ้านสกลนคร กิโลกรัมละ 20 บาท มาแกะเปลือกแล้วเอาเนื้อออก ใช้แต่เฉพาะเมล็ดข้างใน เมล็ดหวายจะแก่ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถเพาะได้ หวายเป็นพืชที่ออกดอกและเมล็ดปีละครั้งเท่านั้น แต่เก็บไว้นานเปอร์เซ็นต์งอกจะต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ถ้าได้เมล็ดที่แก่จัดก็สามารถลงเพาะได้เลย จะมีเปอร์เซ็นต์งอกสูง
วิธีการเพาะมี 2 วิธี คือ เพาะแบบธรรมชาติและแคะตาเมล็ด แต่ที่นี่มีปริมาณเมล็ดมาก ไม่สะดวกที่จะแคะตา คุณธวัชจึงใช้แบบธรรมชาติ โดยการแกะเนื้อและเปลือกออกจากเมล็ด ให้เหลือเพียงเมล็ดใน ต้องล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนนำมาลงเพาะ เนื่องจากเนื้อเมล็ดหวายจะเป็นตัวทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งจะส่งผลให้หวายไม่เจริญเติบโตแล้วนำลงเพาะในขุยมะพร้าว ไม่ใช้ดินเพราะถ้าเป็นดินล้วน ๆ ถ้าคุณภาพดินไม่ดีจะทำให้เกิดเชื้อราเช่นเดียวกัน
การเพาะเมล็ดหลังจากที่ได้เมล็ดที่แก่จัดแล้ว ให้เอาเปลือกออก เหลือแต่เนื้อเมล็ด จากนั้นนำมาใส่ถุงกระสอบประมาณ 2 ชั้น ถ้ามีปริมาณมากนำมาใส่กระสอบปุ๋ยก็ได้ มัดปากถุงให้แน่น ขับรถเหยียบไปมาให้เนื้อแตกหลุดจากเมล็ด หลังจากนั้นจึงนำมาร่อนในตะแกรงให้เนื้อออกให้หมด เหลือแต่เมล็ดล้วน ๆ นำมาผึ่งให้แห้งในร่ม พอแห้งแล้วลงแปลงเพาะได้เลย
แปลงเพาะในพื้นที่ใช้ขุยมะพร้าวรองไว้ ให้หนาประมาณ 3 นิ้ว โรยเมล็ดหวายที่ผึ่งแห้งแล้วให้สม่ำเสมอ ให้พอมีพื้นที่งอกขึ้น พอโรยเสร็จใช้ขุยมะพร้าว กลบทับอีกประมาณ 1-1.5 นิ้ว กลบแล้วเกลี่ยให้เท่า ๆ กัน จากนั้นจึงรดน้ำให้ชุ่ม แต่เมื่อรดน้ำแล้วต้องระวังไม่ให้อยู่กลางแดด ควรมีซาแรนอยู่ในร่มประมาณ 60%
หากเมล็ดที่นำมาเพาะแก่จริง เพาะประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง หวายจะเริ่มงอก
"เนื่องจากหวายเป็นพืชตระกูลปาล์ม ฉะนั้น ระยะฟักตัวจะไม่เท่ากัน การงอกจะไม่สม่ำเสมอ บางครั้งงอกแล้วชุดหนึ่ง ปีหน้ายังจะมีโผล่อีก ไม่เหมือนเมล็ดอย่างอื่นที่งอกออกมาทีเดียวเหมือนถั่วงอก บางเมล็ดจะฟักตัวนานมาก คือมีความงอกไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมือนไม้ชนิดอื่น บางคนไม่เข้าใจ พองอกชุดนี้แล้วก็ทำลายแปลงทิ้ง ต้องรอหน่อย" คุณธวัชเล่า

ไม่มีแปลงเพาะ แก้ได้

แปลงเพาะอาจจะต้องใช้พื้นที่มาก แต่ถ้าไม่มีแปลงเพาะ คุณธวัช บอกว่า อาจใช้กะละมังหรือถุงพลาสติกแทนแปลงได้ โดยไม่ต้องนำมาโรยเหมือนปลูกแปลง ให้ใช้ขุยมะพร้าวคลุกกับเมล็ดเลย ในอัตราส่วน เมล็ดหวาย 1 ส่วน ต่อ ขุยมะพร้าว 3 ส่วน คลุกให้เมล็ดกระจายเสมอกันแล้วมัดปากถุง หรือหากใช้กะละมังให้คลุมพลาสติกไว้
ขุยมะพร้าวที่ใช้ควรมีความชื้นพอเหมาะ ประมาณ 30% สังเกตว่า หากกำแล้วเป็นก้อนไม่มีน้ำหยด หรือคลายตัวเพราะความแห้งเป็นใช้ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรใช้ปุ๋ยชีวภาพคลุกผสมด้วย จะสามารถช่วยขจัดเชื้อราได้อย่างดี
พอหวายเริ่มงอกแล้ว นำมาแต้มหรือนำต้นมาปลูกลงดินในถุงดำ ขนาด 2 x 6 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดพอเหมาะไม่ควรใช้ถุงใหญ่เกินไป ดินที่ใช้ต้องเป็นดินร่วนระบายน้ำได้ดี ในช่วงแรกไม่ควรผสนดินกับปุ๋ยคอก เพราะหากหวายเจอดินเค็มจะทำให้เกิดการชะงักตัว ทำให้รากหวายไม่เจริญเติบโต เมื่อลงดินแล้วประมาณ 15 วัน หวายจะแตกใบ อาจจะช้าหรือเร็วกว่าขึ้นอยู่กับปุ๋ยและดิน
จากนั้นอีกประมาณ 3- 4 เดือน ต้องตัดรากออกป้องกันรากลงดิน และแยกขนาดของหวายออก เพราะหากต้นเล็กคละอยู่ในต้นใหญ่ จะทำให้ต้นเล็กไม่โตแต่ไม่ตาย ในการตัดรากไม่ควรปล่อยให้ต้นหวายโตมากกว่านี้ เพราะอาจทำให้ตายได้
"พอแต้มเมล็ดแล้วควรเร่งปุ๋ยเลย วิธีการให้คือใช้ปุ๋ยยูเรียพ่นทางใบ ส่วนปุ๋ยชีวภาพเราก็ใช้แต่ไม่ได้ใช้ชีวภาพอย่างเดียวเลย ต้องประยุกต์กัน ครั้งแรกอาจใช้ยูเรียเพื่อเร่งใบ ต่อไปก็ใช้ชีวภาพแล้ว ถ้าจะให้ดี ต้องใช้ปุ๋ยเม็ด สูตร 15-15-15 ผสมพูไมต์ หยอดหรือหว่านตามแปลงจะทำให้เร่งใบแตกและโตดี มันต้องใช้ผสมผสานกัน ถ้าไปใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างเดียว จะให้ผลช้า และเลี้ยงหวาย มีเวลาจำกัดเราไปทำอย่างนั้นไม่ได้"
การเร่งปุ๋ยหากใช้เฉพาะปุ๋ยเม็ดให้อาทิตย์ละครั้ง ถ้าเป็นปุ๋ยเม็ดผสมพูไมต์ให้เดือนละครั้ง อาจใช้ปุ๋ยชีวภาพควบคู่ด้วยโดยให้ปุ๋ยชีวภาพ 10 วันครั้ง รดน้ำด้วยสปริงเกลอร์ช่วงเย็น ประมาณ 5 นาที จากนั้นประมาณ 8 เดือน หวายจะเติบโต มีขนาดสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถจำหน่ายได้ ราคาประมาณ 3-6 บาท แล้วแต่ปริมาณและขนาดของต้น
นอกจากจะปลูกไปขายไป คุณธวัชยังช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกพืชผักที่มีประโยชน์ โดยเน้นว่าอยากกินอะไรให้ปลูกอย่างนั้น ถ้ามีตลาดจำหน่ายได้ค่อยจริงจัง และแนะนำว่าหวายเป็นพืชเอนกประสงค์ นอกจากอาหารแล้วยังใช้ในงานหัตถกรรมได้ อายุยืน เลี้ยงง่าย แต่ต้องจัดการให้ดี

ที่มา :

อุราณี ทับทอง. (2545, ธันวาคม 14). ปลูกหวายขาย

เป็นรายได้เสริมของ ธวัช เกียรติเสรี.ค้นเมื่อ ธันวาคม 14,
2545, จาก http://www.matichon.co.th/techno/

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2002
Revised:April 2002