|
ดรรชนีวารสาร
(Periodical Index)
ความรู้เกี่ยวกับดรรชนีวารสาร
ดรรชนี มีความหมายว่า ชี้หรือแสดง ในทางสารนิเทศ ดรรชนี หมายถึงสิ่งบ่งชี้ไปยังแหล่งข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ หรือเป็นหนังสือ ที่ให้รายการที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อหัวข้อ คำศัพท์ หัวเรื่อง ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง หรือรายการอื่นๆที่มีความสำคัญ ว่าอยู่หน้าใดในหนังสือเล่มเดียวกัน หรืออยู่ในหนังสือเล่มใด วารสารเล่มใด
ความสำคัญของดรรชนี คือช่วยในการค้นหาสารนิเทศได้สะดวกและรวดเร็ว ทันกับความต้องการที่จะใช้และทำให้มีการค้นหาสารนิเทศที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆได้อย่างทั่วถึง ไม่ถูกละเลยโดยไม่มี การนำมาใช้
ประเภทของดรรชนี
การแบ่งประเภทของดรรชนีสามารถแบ่งได้ตามลักษณะการใช้ได้ 2 ประเภทคือ
1. แบ่งตามลักษณะของสิ่งพิมพ์ที่นำมาทำดรรชนี ได้แก่
- ดรรชนีของหนังสือ คือดรรชนีที่ปรากฎอยู่ตอนท้ายเล่มของหนังสือเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการ ค้นคว้าเรื่องราวในหนังสือนั้น
- ดรรชนีวารสาร คือดรรชนีตามหัวเรื่องของบทความในวารสารซึ่งในแต่ละรายการ ประกอบด้วย ชื่อผู้เขียนบทความ ชื่อบทความ ขื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ เดือน ปี และเลขหน้าของบทความ
- ดรรชนีหนังสือพิมพ์ มีลักษณะคล้ายดรรชนีวารสาร คือให้รายละเอียดว่าบทความหรือข่าวสำคัญนั้น อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับไหน อยู่หน้าและคอลัมน์ไหน
2. แบ่งตามวิธีการจัดทำ ได้แก่
- ดรรชนีผู้แต่ง เป็นดรรชนีที่เรียงลำดับรายการโดยใช้ชื่อผู้เขียน
- ดรรชนีชื่อเรื่อง คือดรรชนีที่เรียงลำดับรายการโดยใช้ชื่อเรื่องเป็นหลัก
- ดรรชนีหัวเรื่อง คือดรรชนีที่ใช้คำหรือวลีที่มีผู้กำหนดไว้ก่อนแล้วเป็นหัวเรื่อง นำมาจัดเรียงลำดับ เพื่อให้งานที่อยู่ในลักษณะวิชาเดียวกันอยู่รวมกัน
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของดรรชนีวารสารซึ่งแบ่งประเภทได้ 4 ประเภทคือ
1. ดรรชนีวารสารทั่วไป เป็นการนำวารสารประเภทต่างๆไม่จำกัดเนื้อหาวิชา มาจัดทำเป็นหนังสือดรรชนี
2. ดรรชนีวารสารเฉพาะวิชา เป็นการเลือกบทความเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งมาทำดรรชนี
3. ดรรชนีวารสารเฉพาะเรื่อง เป็นการนำบทความจากวารสารที่มีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มาจัดทำดรรชนี เช่น ดรรชนีราชกิจจานุเบกษา
4. ดรรชนีวารสารชนิดที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเอง ห้องสมุดหลายแห่งได้จัดทำดรรชนีวารสารบริการแก่ผู้ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาบทความ บางแห่งทำเป็นบัตรรายการ บางแห่งทำเป็นรูปเล่ม เช่น ห้องสมุดสำนักบรรณสารการพัฒนาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ที่มา:
สุนิตย์ เย็นสบาย. (2543). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง.
พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ:ศิลปาบรรณาคาร.
|
|