|
ประวัติการจัดหมวดหมู่หนังสือ
การจัดหมวดหมู่หนังสือคงเริ่มมีการจัดเมื่อมีความต้องการใช้เอกสารต่าง ๆ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นพวก ๆ และคงมีวิธีการจัด
ควบคู่ไปกับการเริ่มบันทึกตัวอักษร เมื่อราว 3600-2357 ปี ก่อนคริสตศักราช ชาวสุเมเรียนบันทึกข้อมูลลงบน แผ่นดินเหนียว เรื่องราว
ที่บันทึกส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทพนิยาย กฎหมาย การปกครอง และเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ แต่การเก็บแผ่นดินเหนียวคงใช้วิธีการทำเป็น
ชั้นแล้วเอาวางเรียงซ้อน ๆ กันไว้ (สุพัฒน์ ส่องแสงจันทร์, 2521, หน้า 3) การจัดหมวดหมู่ในสมัยโบราณอาจมีวิธีการจัด ตามลักษณะรูปเล่ม
ตามสีของปกหรือตามความสะดวกของผู้จัดโดยไม่มีระเบียบ แบบแผนที่เป็นหมวดหมู่
แต่เดิมตั้งแต่สมัยอารยธรรมของโลก การจัดหมวดหมู่หนังสือเป็นไปอย่างง่าย เพราะเรื่องราวมีบันทึกไม่มากนัก เช่น
ที่ห้องสมุดดินเหนียว (Clay Tablets) ซึ่งพระเจ้าอัสเซอรบานิปาล (Assurbanipal) แห่งอาณาจักรอัสซีเรีย เป็นผู้ทรงรวบรวม
แผ่นดินเหนียวเข้าไว้ด้วยกัน มีการแบ่งจัดออกเป็น 2 ประเภท
1. เรื่องเกี่ยวกับทางโลก - Knowledge of the Earth
2. เรื่องเกี่ยวกับทางสวรรค์ - Knowledge of the Heavens
ต่อมามีหลักฐานการกล่าวถึงการจัดหมวดหมู่หนังสือที่เป็นระบบในสมัยโบราณ คือ ในสมัยของ คัลลิมาคัส
(Callimachus, 310-240 ก่อน คศ.) บรรณารักษ์ชาวอียิปต์
ได้คิดระบบการจัดหมู่หนังสือขึ้นใช้ในห้องสมุดอเล็กซานเดรียโดยเขาได้แบ่งหมวดหมู่วิชาการ
สมัยนั้น 5 หมวดหมู่ (Herdman, 1978, p. 10) ได้แก่
1. กวีนิพนธ์ (Poetry)
2. ประวัติศาสตร์ (History)
3. ปรัชญา (Philosophy)
4. วาทศิลป์ (Oratory)
5. เบ็ดเตล็ด (Miscellaneous)
ห้องสมุดในสมัยโบราณตลอดถึงสมัยกลางในทวีปยุโรปมีวิวัฒนาการการจัดเก็บหนังสือเป็นหมวดหมู่แบบหยาบ ๆ
ตามสภาพเนื้อหาของหนังสือที่จัดเก็บ จนกระทั่งเริ่มได้มาตรฐาน มีการจัดหมวดหมู่วิชาออกเป็น 7 กลุ่มวิชา (Herdman, 1978, p. 11)
ได้แก่
1.เอกสารจดหมายเหตุ
2. ตำราจารึกเรื่องต่าง ๆ
3. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
4. บันทึกการประชุมของสภา
5. คำสอนทางศาสนา
6. ข้อปฎิบัติทางศาสนา
7. ตำนานชาดก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการจัดหมู่หนังสือในสมัยแรกๆนิยมการจัดตามความสะดวกเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาในสมัยหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ที่คิดระบบการจัดหมู่หนังสือได้ยึดถือหลักความจริงเป็นพื้นฐาน( จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2520, หน้า 56) ผู้ที่คิดภายหลังล้วนแต่ได้แนวคิดมาจากนักปรัชญา
ในราวศตวรรษที่ 16 และ 17 มีการจัดทำรายการบรรณานุกรมหนังสือกันอย่างแพร่หลาย นักปรัชญาสำคัญคนหนึ่งในช่วงนี้
ได้แก่ เซอร์ฟรานซิส เบคอน (Sir Francis Bacon) ได้เขียนแนวความคิดทฤษฎีของการเรียนรู้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Advancement
of Learning (คศ. 1605) และ De Augmentis Scientarium ไว้ว่า ความรู้ทางวิทยาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับหน้าที่ต่าง ๆ ของจิตใจ 3 ส่วน คือ
ความรู้ทางประวัติศาสตร์ซึ่งจิตใจทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ กวีนิพนธ์ซึ่งจิตใจทำหน้าที่ในการคิดจินตนาการ และปรัชญาซึ่งจิตใจ
ทำหน้าที่ในการค้นหาเหตุผล (Herdman, 1978, p. 11) อิทธิพลจากแนวความคิดของเบคอนได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ผู้คิดระบบ
การจัดหมู่หนังสือที่ได้แนวคิดมาจากเบคอนที่สำคัญ ได้แก่ กาเบรียล โนเด้ (Gabriel Naude') ได้จัดแบ่งวิชาการ เป็น 12 หมวด ได้แก่
เทววิทยา แพทยศาสตร์ บรรณานุกรม กาลานุกรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การทหาร การปกครอง กฏหมาย ปรัชญา การเมือง
และวรรณคดี (Herdman, 1978, p. 11)
ฌอง กานิเย (Jean Ganier) ได้จัดทำบัตรรายการหนังสือของวิทยาลัยแครมอง (Clermont College) ในปารีส เมื่อ คศ. 1678
อิสมาเอล บุลลิโอ (Ismael Bouilliau) เป็นผู้ที่รวบรวมบัตรรายการของห้องสมุด ชาร์ค โอกุสท์ เดอตู (Jacques Auguste de Thou)
และเป็นผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดทำระบบจัดหมู่หนังสือแบบฝรั่งเศส (French System) หรือระบบของร้านขายหนังสือที่ปารีส
(System of the Paris Bookseller) ในเวลาต่อมาระบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในยุโรป ต่อมาภายหลัง กุสตาฟ บรูเนต์ (Gustave Brunet,
1780-1867) ได้จัดทำรายละ เอียดต่าง ๆเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520, หน้า 59-60)
วิวัฒนาการของแนวความคิดในการจัดหมวดหมู่หนังสือของนักปรัชญาและบรรณารักษ์ในสมัยศตวรรษที่ 18-19 นี้เอง
ที่เป็นต้นกำเนิดและแรงดลใจของบรรณารักษ์ในช่วงศตวรรษที่19 ต่อมา โดยมีการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ ที่รัดกุมและเป็น
มาตรฐานในการจัดหนังสือมากขึ้น เช่น ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ดัดแปลงระบบของเบคอนมาใช้ เมื่อปี ค.ศ. 1812 วิลเลียม ทอร์เรย์
แฮร์ริส (William Torrey Harris) ดัดแปลงแผนผังของการเรียนรู้ของเบคอนมาใช้กับระบบ การจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุด
ประชาชนเซนส์หลุยส์(St. Louis Public School Library) เมื่อปี ค.ศ. 1870 (Herdman, 1978, p. 12) การปรับปรุงการจัดหมวดหมู่หนังสือ
จึงเกิดเป็นระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือที่มีระเบียบมากยิ่งขึ้น
จึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงคริสตวรรษที่ 19 มีการจัดระบบหมวดหมู่หนังสือเพื่อใช้ในห้องสมุดอย่างแท้จริง เริ่มด้วย
ระบบทศนิยมของดิวอี้ (DeweyDecimal Classification) ซึ่งถือว่าเป็นระบบจัดหมู่หนังสือที่สมบูรณ์แบบระบบแรกในประวัติศาสตร์
การจัดหมู่หนังสือ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520, หน้า 61) ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือที่พัฒนาในช่วงนี้ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
ระบบเอ็กซแฟนซีฟ ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ระบบทศนิยมสากล ระบบบิบโอกราฟฟิค ระบบโคลอน ระบบหอสมุดแพทย์แห่งชาติ
อเมริกัน เป็นต้น
เนื่องจากปริมาณสารนิเทศในช่วงคริสตวรรษที่ 20 มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก ผู้ใช้สารนิเทศเริ่มเกิดความไม่สะดวก
ต่อการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศได้เต็มที่จึงมีการคิดค้นในการจัดหมวดหมู่เป็นของตนเอง เพื่อใช้ในหน่วยงาน
การจัดหมวดหมู่หนังสือจึง มี 2 วิธี คือ การจัดหมวดหมู่หนังสือตามระบบสากล และการจัดหมวดหมู่หนังสือขึ้นใช้เอง
|
|