สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

การจัดหมวดหมู่สารนิเทศ

สื่อสารนิเทศต่าง ๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บ การใช้สารนิเทศ ตลอดจนการคัดเลือกสารนิเทศ ที่มีปริมาณมหาศาลมาใช้ในเวลาที่ต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกใช้สารนิเทศในอดีตที่สำคัญคือ บรรณารักษ์ และสถานที่ให้บริการ สารนิเทศที่สำคัญคือ ห้องสมุด แต่ในปัจจุบันผู้ให้บริการสารนิเทศขยายกว้างขวางออกไป หน้าที่ในการควบคุมสารนิเทศเพื่อให้ บริการและใช้ประโยชน์จากสารนิเทศจึงเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ นักสารนิเทศ นักจดหมายเหตุ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา ตลอดจน บุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารนิเทศได้เต็มที่ การควบคุมสารนิเทศจัดทำได้หลายวิธีการ มีทั้งที่เป็นระบบที่เป็นที่ยอมรับ และระบบที่จัดทำขึ้นเองหรือควบคุมสารนิเทศด้วยวิธีการเฉพาะด้าน แต่ไม่ว่าจะมีวิธีการควบคุมสารนิเทศด้วยวิธีใด ล้วนแต่ให้ ประโยชน์ในการสืบค้นการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศนั้นๆทั้งสิ้น

การจัดหมวดหมู่สารนิเทศ เป็นการควบคุมสารนิเทศที่มีประสิทธิภาพที่จัดดำเนินการดยห้องสมุดมาตั้งแต่แรกเริ่ม การมีหนังสือ ในสังคมมนุษย์ การจัดหมู่มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Classification" บุชนัน (Buchanan,1979, p. 9) ให้คำจำกัดความว่า การจัดหมู่เป็นการจัดกลุ่มสิ่งของเข้าด้วยกัน กลุ่มของอาจจะเป็นสิ่งของ แนวความคิด หรือนามธรรมอื่น ๆ เช่น อาจจัดเสือ สิงโต เสือดาว ไว้ใกล้ ๆ กันในสวนสัตว์ โดยพิจารณาว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (1943, p. 30) ให้คำจำกัดความว่า เป็นระบบที่เป็นระเบียบต่อการจัดหนังสือและวัสดุอื่น ๆ ตามหัวเรื่องหรือรูปลักษณะ จารุวรรณ สินธุโสภณ (2521, หน้า 37) อธิบายความหมายของการจัดหมวดหมู่ว่า เป็นการจัดหมวดหมู่ของหนังสือหรือโสตทัศนวัสดุอื่น ๆ ที่ห้องสมุดมีอยู่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วในการหยิบใช้ได้ง่าย การจัดหมวดหมู่หนึ่งเรียกว่า ระบบหนึ่ง มีระบบการจัดหมวดหมู่หลายระบบ ห้องสมุดสามารถเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่ง การจัดหมวดหมู่หนังสือจึงมีขอบเขตแล้วแต่พื้นฐานของการจัดหมวดหมู่ของวัสดุสิ่ง ของต่างๆ การจัดหมู่หมู่โดยทั่วๆ ไปแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การจัดหมู่ตามลักษณะธรรมชาติ และการจัดหมู่ตามลักษณะที่ปรากฏภายนอก Srivastava (1973, p. 6) ได้ กล่าวสรุปว่า การจัดหมู่ตามลักษณะธรรมชาติ หมายถึง การจัดหมวดหมู่วัสดุ โดยพิจารณา จากลักษณะโครงสร้างเนื้อหาและหน้าที่ของสิ่งที่จะนำมาจัดหมู่ ถ้ามีความคล้ายคลึงกันก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น การจัดเนื้อหาตามกลุ่มวิชา เช่น เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ เป็นต้น โดยไม่คำนึงถึงสีของปกหนังสือ ขนาดรูปเล่มหนังสือ หรือเลขทะเบียนของวัสดุห้องสมุดชิ้นนั้น ๆ

การจัดหมวดหมู่วัสดุห้องสมุดตามแบบนี้ นับได้ว่าได้ประโยชน์กว้างขวางและยาวนาน (ณรงค์ ป้อมบุปผา, 2528, หน้า 5) ส่วนการจัดหมู่ตามลักษณะที่ปรากฎภายนอก ต้องพิจารณาจากความคล้ายคลึง และความแตกต่างของสิ่งที่ปรากฎภายนอก ได้แก่ สี ขนาด และรูปร่าง เป็นต้น ตัวอย่าง เช่น การจัดแบ่งวัสดุห้องสมุดออกตามสภาพและประเภทของวัสดุห้องสมุด เช่น การจัดเก็บ วารสารไว้ด้วยกันในแผนกวารสาร การจัดเก็บวัสดุโสตทัศนอุปกรณ์ตามลำดับของหมายเลขทะเบียนของวัสดุเหล่านั้น เป็นต้น สารนิเทศในศูนย์สารนิเทศและห้องสมุด ซึ่งมีทั้งวัสดุตีพิมพ์ และวัสดุไม่ตีพิมพ์ จึงจำเป็นต้องมีการจัดหมวดหมู่ตามความจำเป็น ของการให้บริการภายในห้องสมุดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการการจะเลือกใช้ระบบหมวดหมู่ใด ในการบริหารงานศูนย์สารนิเทศ จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาจำนวนวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ภายในศูนย์สารนิเทศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณา เช่น ห้องสมุด โรงเรียน มีหนังสือน้อยอาจใช้ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสืออย่างกว้าง ๆ ในขณะที่ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมี ความจำเป็นต้องใช้ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสืออย่างละเอียด หรือศูนย์สารนิเทศเฉพาะด้านอาจจะต้องกำหนดระบบหมวด หมู่เอกสารขึ้นใช้เองโดยเฉพาะ

จุดประสงค์และประโยชน์ของการจัดหมวดหมู่หนังสือ

การจัดหมู่หนังสือมีวิธีการจัดหนังสือที่มีเนื้อหาหรือวิธีการประพันธ์ที่คล้ายกัน ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ก็เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
    1. เพื่อให้ผู้ใช้หยิบหนังสือได้ถูกต้องและรวดเร็ว การจัดหมู่หนังสือจะมีวิธีการกำหนดเลขเรียกหนังสือ (Call Number) ที่แน่นอน มีที่อยู่ตายตัวบนชั้นหนังสือ ผู้ใช้ห้องสมุดสามารถหยิบหนังสือได้ถูกต้องและรวดเร็ว
    2. เพื่อให้ผู้ใช้สามารถหยิบหรือค้นหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันเพื่อนำไปประกอบการศึกษาค้นคว้าได้สะดวก ทั้งนี้เพราะหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันย่อมจัดเรียงลำดับอยู่ใกล้ๆกัน ผู้ใช้ห้องสมุดหยิบหนังสือจากชั้นใดชั้นหนึ่ง ย่อมพบเนื้อหาวิชาของหนังสือเล่มอื่นๆ อยู่ใกล้เคียงกันสามารถหยิบหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่านเปรียบเทียบเพื่อศึกษา รายละเอียดต่าง ๆ เปรียบเทียบกันได้
    3. เพื่อสะดวกในการเก็บรักษาและดูแล การจัดหมู่หนังสือที่ดีที่เป็นระบบต่อการให้หมวดหมู่มีความสะดวกอย่างมาก ต่อห้องสมุดในการเก็บรักษาและดูแลภายในห้องสมุด เพราะหนังสือแต่ละเล่มมีที่อยู่แน่นอนสะดวกต่อการตรวจตรา
    4. ทำให้ทราบว่าหนังสือในแต่ละหมวดหมู่มีจำนวนมากน้อยเพียงใด บรรณารักษ์ของห้องสมุดจะได้เพิ่มจำนวนหนังสือ ในแต่ละหมวดหมู่ให้สมดุลย์กับหมวดหมู่อื่น ๆ หรือตาม วัตถุประสงค์ของห้องสมุด
    5. การจัดหมวดหมู่ทำให้การเพิ่มจำนวนหนังสือบนชั้นหนังสือไม่เกิดความยุ่งยากสับสน ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปมา
    6. เพื่อสะดวกต่อการให้บริการจ่าย-รับ ดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว
    7. เมื่อมีหนังสือใหม่เข้ามาในห้องสมุด บรรณารักษ์ผู้ทำหน้าที่จัดหมู่หนังสือ สามารถจัดหมู่หนังสือเล่มใหม่ ๆ เหล่านั้นได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยอาศัยตรวจดูจากเลขหมู่เดิม

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008