|
อักขรานุกรมชีวประวัติ
(Biographical Dictionary)
ความหมายของอักขรานุกรมชีวประวัติ
อักขรานุกรม หมายถึง หนังสือสำหรับค้นชื่อเรียงลำดับตามตัวอักษร ชีวประวัติ หมายถึง ประวัติชีวิตของบุคคลที่บันทึกไว้โดยบุคคลอื่น หนังสือชีวประวัติบางเล่มให้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชีวิตของบุคคลเดียว หรือหลายคนก็ได้ อักขรานุกรมชีวประวัติ หมายถึง หนังสืออ้างอิงที่รวบรวมชีวประวัติบุคคลสำคัญ โดยเรียงตามลำดับอักษรชื่อเจ้าของประวัติแต่ละรายการจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เดือน ปีเกิดและปีตาย (ถ้าตายแล้ว) ภูมิลำเนา การศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน และผลงานที่สำคัญ เป็นต้น
ประโยชน์และความสำคัญของอักขรานุกรมชีวประวัติ
วิลเลียม เอ แคทส์ (William A. Kate) ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์เบื้องต้นของหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ไว้ 4 ประการ คือ
1. เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของบุคคล
2. เป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสะกดชื่อและตำแหน่ง
3. เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนายจ้างในการพิจารณาจ้างบุคคลเข้าทำงาน หรือการเชิญวิทยากรมาบรรยาย
4. เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีในการหาข้อมูลย้อนหลังในอดีต นอกจากนี้อักขรานุกรมชีวประวัติยังเป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญในเรื่องของข้อมูลซึ่งเป็นการบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่มีเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล ของประเทศ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวและอุดมการณ์จากบุคคลรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่ง เป็นบทเรียนของชีวิตที่คนรุ่นหลังสามารถ นำไปศึกษา เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
ประเภทของอักขรานุกรมชีวประวัติ
1. อักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลทั่วไป (Universal Biographical Dictionary) เป็นหนังสือรวมชีวประวัติของบุคคลสำคัญโดยไม่คำนึงถึงชาติ ศาสนา ลัทธิทางการเมือง และอาชีพ
2. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลในชาติหรือภูมิภาค (National Biographical Dictionary) เป็นหนังสือรวมชีวประวัติของบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใด ภูมิภาคหนึ่ง ไม่จำกัดช่วงสมัยที่มีชีวิตอยู่ ไม่จำกัดอาชีพและเชื้อชาติ
3. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลที่มีอาชีพเดียวกัน (Professional Biographical Dictionary) เป็นหนังสือรวมชีวประวัติของบุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง
อักขรานุกรมชีวประวัติทั้ง 3 ประเภทนี้ ยังอาจแบ่งตามลักษณะของการรวบรวมได้อีก 2 ประเภท คือ
1. อักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ (Current Biographical Dictionary)
2. อักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว (Restrospective Biographical Dictionary)
วิธีใช้อักขรานุกรมชีวประวัติ
1. พิจารณาดูว่าชีวประวัติที่ต้องการเป็นบุคคลประเภทใด ดังนี้
1.1 บุคคลทั่วไป บุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ เป็นต้น
1.2 บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
1.3 บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
2. เลือกใช้อักขรานุกรมชีวประวัติให้ถูกต้องตามกับเรื่องที่ต้องการค้น
3. ก่อนใช้อักขรานุกรมชีวประวัติ ควรอ่านวิธีใช้ก่อน
ที่มา:
สุนิตย์ เย็นสบาย. (2543). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง.
พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ:ศิลปาบรรณาคาร.
|
|