สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

ดรรชนีวารสาร
(Periodical Index)

ความรู้เกี่ยวกับดรรชนีวารสาร

ดรรชนี มีความหมายว่า ชี้หรือแสดง ในทางสารนิเทศ ดรรชนี หมายถึงสิ่งบ่งชี้ไปยังแหล่งข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ หรือเป็นหนังสือ ที่ให้รายการที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อหัวข้อ คำศัพท์ หัวเรื่อง ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง หรือรายการอื่นๆที่มีความสำคัญ ว่าอยู่หน้าใดในหนังสือเล่มเดียวกัน หรืออยู่ในหนังสือเล่มใด วารสารเล่มใด

ความสำคัญของดรรชนี คือช่วยในการค้นหาสารนิเทศได้สะดวกและรวดเร็ว ทันกับความต้องการที่จะใช้และทำให้มีการค้นหาสารนิเทศที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆได้อย่างทั่วถึง ไม่ถูกละเลยโดยไม่มี การนำมาใช้

ประเภทของดรรชนี

การแบ่งประเภทของดรรชนีสามารถแบ่งได้ตามลักษณะการใช้ได้ 2 ประเภทคือ
1. แบ่งตามลักษณะของสิ่งพิมพ์ที่นำมาทำดรรชนี ได้แก่
- ดรรชนีของหนังสือ คือดรรชนีที่ปรากฎอยู่ตอนท้ายเล่มของหนังสือเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการ ค้นคว้าเรื่องราวในหนังสือนั้น
- ดรรชนีวารสาร คือดรรชนีตามหัวเรื่องของบทความในวารสารซึ่งในแต่ละรายการ ประกอบด้วย ชื่อผู้เขียนบทความ ชื่อบทความ ขื่อวารสาร ปีที่ ฉบับที่ เดือน ปี และเลขหน้าของบทความ
- ดรรชนีหนังสือพิมพ์ มีลักษณะคล้ายดรรชนีวารสาร คือให้รายละเอียดว่าบทความหรือข่าวสำคัญนั้น อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับไหน อยู่หน้าและคอลัมน์ไหน
2. แบ่งตามวิธีการจัดทำ ได้แก่
- ดรรชนีผู้แต่ง เป็นดรรชนีที่เรียงลำดับรายการโดยใช้ชื่อผู้เขียน
- ดรรชนีชื่อเรื่อง คือดรรชนีที่เรียงลำดับรายการโดยใช้ชื่อเรื่องเป็นหลัก
- ดรรชนีหัวเรื่อง คือดรรชนีที่ใช้คำหรือวลีที่มีผู้กำหนดไว้ก่อนแล้วเป็นหัวเรื่อง นำมาจัดเรียงลำดับ เพื่อให้งานที่อยู่ในลักษณะวิชาเดียวกันอยู่รวมกัน

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของดรรชนีวารสารซึ่งแบ่งประเภทได้ 4 ประเภทคือ
1. ดรรชนีวารสารทั่วไป เป็นการนำวารสารประเภทต่างๆไม่จำกัดเนื้อหาวิชา มาจัดทำเป็นหนังสือดรรชนี
2. ดรรชนีวารสารเฉพาะวิชา เป็นการเลือกบทความเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งมาทำดรรชนี
3. ดรรชนีวารสารเฉพาะเรื่อง เป็นการนำบทความจากวารสารที่มีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มาจัดทำดรรชนี เช่น ดรรชนีราชกิจจานุเบกษา
4. ดรรชนีวารสารชนิดที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเอง ห้องสมุดหลายแห่งได้จัดทำดรรชนีวารสารบริการแก่ผู้ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาบทความ บางแห่งทำเป็นบัตรรายการ บางแห่งทำเป็นรูปเล่ม เช่น ห้องสมุดสำนักบรรณสารการพัฒนาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ที่มา:

สุนิตย์ เย็นสบาย. (2543). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง.

พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ:ศิลปาบรรณาคาร.

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008