สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

สารนิเทศไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials)

สารนิเทศประเภทสื่อไม่ตีพิมพ์ หรือสื่อประเภทโสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียนกาสอนและวงการธุรกิจ การสื่อสารประเภทนี้จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่ง โดยตรง คือ วิชาโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาที่กล่าวถึงเทคนิค การสอน โดยใช้โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ประกอบบทเรียนของครู คำว่า โสตทัศนศึกษา หมายถึง คำต่าง ๆ อีกหลายคำ เช่น Audio Visual Media, Instructional Media, Educational Technology, Educational Media เป็นต้น (เกื้อกูล คุปรัตน์ และ คนอื่น ๆ, 2520, หน้า 2) สื่อวัสดุสารนิเทศไม่ตีพิมพ์จึงเป็นวัสดุประเภทที่ใช้ดูหรือฟัง หรือทั้งดู และฟังพร้อมกันเป็นหลัก เป็นสารนิเทศที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ ได้ง่าย มักใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนในชั้นเรียนและใช้ประโยชน์ในวงการธุรกิจ เนื่องจากมีคุณค่าทางการศึกษาและ การบริหารงานทางธุรกิจ

สื่อสารนิเทศไม่ตีพิมพ์ที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ภาพ (Pictures) ได้แก่ ทัศนสัญลักษณ์ที่ได้มาจากการถ่ายภาพ วาดหรือพิมพ์ เป็นสื่อสารนิเทศที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีประโยชน์ต่อการสื่อสารในสังคม ภาพมี ความหมายในตัวของมันเอง เป็นเครื่องมือสื่อสารสากลที่ชนทุกชาติทุกภาษาเข้าใจ และสัม ผัสความจริงได้ด้วยสายตาของตนเอง (Dale, 1969, p. 430) ภาพเพียงภาพเดียวดีเท่า กับคำพูดล้านคำ (Shores, 1949, p. 190) ภาพจึงเป็นสื่อสารนิเทศที่สามารถ อธิบายความหมายในตัวของมันเอง ภาพมีความสำคัญในทุกสาขาวิชา ครูอาจารย์ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบใน การสอนวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น วงการอุตสาหกรรมหนังสือ ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบในหน้าหนังสือหรือหนังสือพิมพ์เพื่ออธิบายข้อความหรือเรื่องราวให้ แจ่มชัดขึ้น ภาพที่มีคุณค่าทางศิลปะให้ความจรรโลงใจแก่ผู้พบเห็น ปัจจุบันห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศจัดรวบรวมภาพประเภทต่าง ๆ ให้บริการและ เพื่อการค้นคว้าแยกไว้เป็นบริการพิเศษโดยเฉพาะ

2. วัสดุกราฟฟิค (Graphic Materials) เป็นสื่อประเภททัศนวัสดุที่นำมา ใช้ในการสื่อความหมายเพื่อแสดงสัญลักษณ์ หรือความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อ เท็จจริงแนวความคิด และเสริมความเข้าใจจากการผสมผสานสื่อของภาพวาด คำพูด สัญลักษณ์ และรูปภาพ เป็นต้น (Wittich and Schuller, 1973, p. 110) วัสดุกราฟ ฟิคมีบทบาทต่อสังคมข่าวสารในปัจจุบัน สื่อวัสดุกราฟฟิค มีดังต่อไปนี้
2.1 แผนสถิติ (Graphs) เป็นสื่อสารนิเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อเน้นการสื่อ ความหมายในเชิงปริมาณและตัวเลข ซึ่งเป็นนามธรรม กราฟแต่ละแผ่นควรแจ้งให้ทราบที่มา ของข้อมูลต่าง ๆ ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อถือและเปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ง่ายขึ้น ตัวอักษร เส้น และสี ควรชัดเจน อ่านง่าย มีหลายชนิด (Prytherch, 1987, p. 339) จัดแบ่งเป็น 4 ชนิด (Modley, 1981, p. 312) ดังนี้ คือ
2.1.1 กราฟเส้น ใช้แสดงด้วยเส้นที่แทนข้อมูลในแต่ละหน่วย
2.1.2 กราฟแท่ง ใช้แสดงด้วยรูปแท่ง อาจจะอยู่ในรูปแนวนอนหรือแนวตั้ง
2.1.3 กราฟรูปภาพ ใช้แสดงด้วยสัญลักษณ์หรือรูปภาดของข้อมูลเป็น การอธิบายที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องนั้นๆ
2.1.4 กราฟวงกลม ใช้แสดงด้วยวงกลม แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ตามค่าของข้อมูลที่ปรากฏ

2.2 แผนภูมิ (Charts) เป็นสื่อสารนิเทศที่หมายถึง แผนที่ เส้น หรือ ตารางที่ทำขึ้นเพื่อแสดงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ราชบัณฑิตยสถาน ก, 2530, หน้า 563) จึงเป็น สารนิเทศอาจอยู่ในรูปของแผนสถิติ ภาพวาด กราฟ หรือวิธีการออกแบบใด ๆ เพื่อแจ้งสารนิเทศให้ง่ายต่อการเข้าใจ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลทางธุรกิจ ภูมิศาสตร์ และ สภาพอากาศ (Kurtzworth, 1981, p. 298) การใช้แผนภูมิประกอบความเข้าใจ ในการสื่อสารได้ง่าย เพราะเป็นการทำให้สื่อประเภทคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรเป็นทัศนสัญลักษณ์ที่ เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แบ่งได้เป็นหลายประเภท (เกื้อกูล คุปรัตน์, 2520, หน้า157-159) ดังต่อไปนี้ คือ
2.2.1 แผนภูมิแบบต้นไม้ เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นสารนิเทศว่าสิ่งๆ หนึ่งอาจแบ่งแยกออกไปได้หลายอย่าง และแต่ละอย่างได้แก่อะไรบ้าง
2.2.2 แผนภูมิแบบสายธาร เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นว่าสิ่ง ๆ หนึ่ง เกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน
2.2.3 แผนภูมิแบบต่อเนื่อง เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงให้เห็นลำดับของ การทำงานอย่างต่อเนื่องกัน
2.2.4 แผนภูมิแบบองค์การ เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ของ สายงานในองค์การหรือหน่วยงานหนึ่ง ๆ หรือระหว่างองค์การหนือหน่วยงาน
2.2.5 แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ เป็นแผนภูมิที่ใช้เปรียบเทียบให้เห็น ความแตกต่างกันระหว่างรูปร่าง ลักษณะ ขนาด แนวความคิดของสิ่งต่าง ๆ
2.2.6 แผนภูมิแบบตาราง เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์
2.2.7 แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงความเปลี่ยนแปลงไปของสิ่งของต่าง ๆ
2.2.8 แผนภูมิแบบอธิบายภาพ เป็นแผนภูมิที่ใชสำหรับชี้แจงส่วนต่างๆ ของภาพที่ต้องการ แผนภูมิมีประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอน ในวงการธุรกิจมักใช้ แผนภูมิอธิบายข้อมูลด้านการตลาด การรายงานภาวะตลาดหุ้น และสถานการณ์ทางธุรกิจทั่ว ๆ ไป

2.3 แผนภาพ (Diagrams) เป็นสื่อสารนิเทศที่หมายถึง ภาพหรือเค้า โครงที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยในการอธิบายเรื่องราว (ราชบัณฑิตยสถาน ก, 2530, หน้า 563) เป็น วัสดุกราฟฟิคที่แสดงส่วนประกอบและระบบการทำงานภายในของสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถมอง เห็นด้วยตาได้ ด้วยการใช้ภาพเหมือนหรือภาพลายเส้นและสัญลักษณ์อื่นประกอบ เน้นเฉพาะ แนวความคิดที่สำคัญไม่มีรายละเอียด ที่ไม่จำเป็น เช่น การวาดภาพ แผนภาพให้เห็นการ ทำงานของลูกสูบในรถยนต์ ส่วนประกอบของต้นไม้ ดอกไม้ เป็นต้น แผนภาพที่นิยมใช้ประกอบการอธิบายสารนิเทศ จัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท (พรรณพิมล กุลบุญ, 2523, หน้า 11) คือ
2.3.1 แผนภาพเทคนิค (Technical diagrams) ใช้แสดงข้อสารนิเทศทางเทคนิค เช่น วงจรไฟฟ้า และพิมพ์เขียวงานก่อสร้าง เป็นต้น
2.3.2 แผนภาพกระบวนการ (Process diagrams) ใช้แสดงให้ เห็นความเห็นต่อเนื่องของกิจกรรม หรือขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การทำงานของลูกสูบในรถยนตร์ เป็นต้น
2.4 ภาพชุด (Flipcharts หรือ Flipbooks) เป็นสื่อสารนิเทศที่ รวมภาพถ่าย ภาพวาด แผนภูมิ หรือแผนสถิติ ซึ่งนำมารวมเข้าเป็นเรื่องราว ให้มีความต่อ เนื่องสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบ มีประโยชน์อย่างมากในการอธิบายประกอบสารนิเทศ มัก นิยมใช้ประกอบการบรรยายในการประชุม หรือการฝึกอบรมในห้องเรียน (ณรงค์ สมพงษ์, 2530, หน้า 126) ในแต่ละหน้าของภาพชุด จะมีภาพที่สัมพันธ์กัน คำอธิบายด้านหลังของหน้าแรกจะเป็นคำบรรยายของภาพในหน้าที่สอง คำบรรยายสรุปนี้จะช่วยแนะแนว ทางการบรรยายให้กับผู้ใช้ด้วย นับว่าเป็นวัสดุกราฟฟิคที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการฝึกอบรมในวงการธุรกิจ
2.5 ภาพโฆษณา (Posters หรือ Placards) เป็นสื่อสารนิเทศประเภทวัสดุกราฟฟิคที่จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูล โดยใช้ภาพ สี และคำ หรือข้อความประกอบเข้าด้วยกัน มีการออกแบบอย่างดีเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นและเพื่อจูงใจให้มีความ เห็นคล้อยตาม (พรรณพิมล กุลบุญ, 2523, หน้า 11) ภาพโฆษณาจึงเป็นสื่อที่นำมาใช้ในวงการค้า การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานทั้งราชการและเอกชน เป็นสื่อสารนิเทศที่สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นได้อย่างมาก

3. วัสดุแผนที่ (Cartographic Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่รวมหมายถึงวัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนบางส่วน หรือทั้งหมดของโลก (Gorman, 1978, p. 85) มักแสดงข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของสถานที่ ทรัพยากร ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เส้นทางคมนาคม จัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2531, หน้า 36) ดังต่อไปนี้คือ
3.1 แผนที่ (Maps) เป็นสื่อสารนิเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงสารนิเทศ เกี่ยวกับโลกทั้งหมดหรือบางส่วน มีการอธิบายด้วยเส้น คำ สัญลักษณ์ และสีในเรื่องลักษณะ พื้นผิวโลก แผนที่อาจจะแสดงวัตถุในอวกาศ เช่น ดวงดาวและดาวนพเคราะห์ต่าง ๆ การจัดทำแผนที่จะจัดแสดงลักษณะโดยการย่อส่วนบนกระดาษหรือลูกโลก (Jenks, 1981, p. 134-136) แผนที่แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
3.1.1 แผนที่อ้างอิงทั่ว ๆ ไป (General reference map)
3.1.2 แผนที่พิเศษ (Special of thermatic map) แผนที่อ้างอิงทั่ว ๆ ไป แสดงสารนิเทศทั่ว ๆ ไป เช่นทวีป ประเทศ แม่น้ำ เมือง และลักษณะอื่น ๆ ส่วนแผนที่พิเศษจัดทำขึ้นเพื่อแสดงลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น จำนวนฝนตก การกระจายของประชากร หรือลักษณะผลผลิตของพืชบางชนิด เป็นต้น การใช้ข้อมูลสารนิเทศจากแผนที่ ผู้ใช้ข้อมูลจะต้องรู้ ถึงภาษาของแผนที่ซึ่ง ประกอบไปด้วยการรู้จักอ่านมาตราส่วน การใช้สัญลักษณ์ ลักษณะของสีที่ปรากฏในแผนที่ ตลอดจนการรู้จักเส้นรุ้ง เส้นแวง ซึ่งจะทำให้ได้สารนิเทศจากแผนที่ได้อย่างดี มาตราส่วนที่ใช้กับแผนที่ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2531 : 36) ดังต่อไปนี้ คือ
1. แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วน 1: 75,000 รองลงมา มีขนาด 1: 50,000, 1: 25,000, 1: 20,000 และ 1: 12,500 เป็นต้น
2. แผนที่มาตราส่วนปานกลาง ได้แก่ แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1:600,000 ลงมา มีขนาด 1: 500,000, 1: 250,000, 1:200,000, 1:125,000 และ 1:100,000 เป็นต้น
3. แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1: 1,000,000 ขึ้นไป มีขนาด 1:1,250,000 และ 1:2,500,000 เป็นต้น
3.2 หนังสือแผนที่ (Atlases) ได้แก่ การรวมแผนที่หลายแผ่นหรือหลาย ๆ ชุดมารวมกันเข้าเป็นเล่ม เรียกว่า สมุดแผนที่หรือหนังสือแผนที่
3.3 ลูกโลก (Globes) เป็นสื่อสารนิเทศของวัสดุแผนที่ที่จัดทำขึ้นจำลอง โลกเป็นวัสดุกลม หมุนได้รอบ มีหลายขนาด ทำด้วยวัสดุหลายประเภท แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ ทำด้วยพลาสติก บางชนิดมีหลอดไฟติดตั้งอยู่ภายใน เมื่อเปิดไฟจะเห็นรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน วัสดุแผนที่อื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมา อาจหมายรวมถึง ภาพถ่ายทางอากาศที่ได้ จากการถ่ายภาพจากดาวเทียมด้ววย (Gorman, 1987, p. 85) วัสดุแผที่ต่าง ๆ จึงนับว่า เป็นวัสดุสารนิเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับโลกและทรัพยากรของโลกที่สำคัญ

4. สไลด์ (Slides) หรือแผ่นภาพเลื่อน (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 85) เป็นสารนิเทศที่มีลักษณะเป็นภาพนิ่ง ซึ่งถ่ายลงบนฟิล์มโปร่งแสงผนึกกับกรอบกระดาษหรือ พลาสติก (Prytherch, 1987, p. 726) มีทั้งสไลด์ขาวดำและสี เมื่อนำไปเข้าเครื่องฉาย แสงสว่างที่มีความสว่างสูงจะส่องผ่านฟิล์มไปปรากฏภาพบนจอ สไลด์มีหลายขนาดตาม แต่ชนิดของฟิล์มที่ใช้ถ่าย แต่ขนาดที่นิยมใช้กันมาก คือ ขนาด 2"x2" ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ กับกล้อง 35 มม. และมีขนาดภาพ 3 ขนาด (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2531, หน้า 117) คือ
1. ขนาดหนึ่งกรอบภาพ มีขนาดของภาพเท่ากับ 18 x 24 มม.
2. ขนาดสองกรอบภาพ มีขนาดของภาพเท่ากับ 24 x 36 มม. หรือเท่ากับฟิล์ม สตริปสองกรอบภาพ
3. ขนาดพิเศษ มีขนาดของภาพเท่ากับ 31 x 31 มม.

นอกจากนี้ยังมีสไลด์ขนาด 3 1/4 x 4 นิ้ว และสไลด์ขนาดเล็ก ซึ่งผลิต จากฟิล์ม 11 มม. มีขนาดของภาพ 15 x 15 มม. งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สไลด์สามารถช่วยให้เกิดการเรียนได้ดี มีความคงทนในการจำมาก ให้ความประทับใจแก่ผู้ดู สามารถบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นมาแสดงได้ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และสามารถขยายรายละเอียดของภาพมาให้ดูกันได้มาก (ณรงค์ สมพงษ์, 2530, หน้า 195) สไลด์จึงเป็นสื่อสารนิเทศที่สำคัญประเภทหนึ่งในการให้สารนิเทศ เพื่อการศึกษาตลอดจนการประชาสัมพันธ์ หน่วยงานต่าง ๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องเสียง ทำให้มีการใช้สไลด์ประกอบเสียงในการอธิบาย ประกอบการบรรยาย ยิ่งทำให้ สื่อสารนิเทศประเภทนี้มีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สไลด์ประกอบเสียงเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพมากอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างของการ แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้า ในการปรับและผสมผสานความรู้ในด้านภาพและเสียงเข้าด้วยกัน โดยบริษัทฟิลลิปส์เป็นผู้นำเอาระบบคาสเซ็ทอัตโนมัติ (Audio-cassette) เข้ามาเชื่อมกับสัญญาณภาพ และต่อมามีการพัฒนาระบบการฉายภาพสไลด์ประกอบเสียงเป็นภาพชุดที่มีความซับซ้อน (Complex Multi-image Presentation) และควบคุมระบบการนำเสนอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (เกรียงศักดิ์ ทวีวัฒน์, 2530, หน้า ก) การ ใช้สไลด์ประกอบเสียงจึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นสื่อข้อมูลที่เร้าความสนใจได้เป็นอย่างมาก

5. ฟิล์มสตริป (Filmstrips) หรือฟิล์มแถบยาว (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 31) ได้แก่สื่อสารนิเทศประเภทภาพนิ่งโปร่งใส จัดทำขึ้นจากการถ่ายบนฟิล์ม โปร่งใส ขนาด 35 มม. มีความยาวประมาณ 20-50 ภาพ เรียงตามลำดับต่อกัน อาจเป็น สีหรือขาวดำมี 2 ขนาด คือ ขนาดหนึ่งกรอบภาพ ขนาด 3/4 x 1 นิ้ว ภาพจะเรียงซ้อนกัน ตามด้านขวางของฟิล์ม และขนาดสองกรอบภาพขนาด 1 x 11/2 นิ้ว ภาพจะเรียงตาม ความยาวของฟิล์ม มักจะม้วนเก็บในกล่องโลหะหรือพลาสติก (กัลยา จยุติรัตน์ และ คนอื่น ๆ, 2531, หน้า 128) เวลาใช้จะต้องใช้ฉายภาพไปบนจอด้วยเครื่องฉายฟิล์มสตริป ฟิล์มสตริปบางม้วนมีเสียงประกอบ เรียกว่า ฟิล์มสตริปเสียง (Sound Filmstrips) เสียงที่บันทึกมักเป็นคำบรรยายหรือเสียงประกอบ การฉายฟิล์มสตริปต้อง ใช้กับเครื่องฉายฟิล์มสตริปควบคู่กันกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง (เกื้อกูล คุปรัตน์, 2520, หน้า 95) วิธีการใช้ฟิล์มสตริปจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเหมาะสำหรับใช้สารนิเทศในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

6. ภาพยนตร์ (Motion Pictures หรือ Cine Films) เป็นสื่อสารนิเทศที่ จัดทำเป็นภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นเคลื่อนไหวได้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 616) สื่อประเภทนี้จึงเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็นฟิล์มพอซิทิฟ ซึ่งเรียงต่อเนื่องกัน ตามลำดับ แต่ละภาพมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เมื่อมาฉายต่อเนื่องกันในอัตราความเร็วที่พอเหมาะ ก็จะปรากฎเป็นภาพเคลื่อนไหว ปกติภาพยนตร์เสียงขนาด 16 มม. จะปรากฎภาพจำนวน 24 ภาพต่อวินาที ดังนั้นภาพ 1 ภาพ จะอบู่บนจอภาพ 1/24 วินาที การเห็น ภาพเคลื่อนไหวบนจอเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์การรับรู้ภาพของมนุษย์ที่เรียกว่า Persistance of vision กล่าวคือ ตาของมนุษย์จะสามารถคงภาพที่เห็นติดตาอยู่บนเรตินาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นภาพนิ่งที่ปรากฎบนจอหลาย ๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่ามีภาพเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบนจอภาพ (ณรงค์ สมพงษ์, 2530, หน้า 249) กลายเป็นสารนิเทศที่มองเห็นได้อย่างต่อเนื่อง การใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ต้องใช้เครื่องฉาย ภาพยนตร์ประกอบ การชมจึงจะได้สารนิเทศทั้งเสียงและภาพ ภาพยนตร์ที่ให้สารนิเทศต่าง ๆ นั้น อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท (เกื้อกูล คุปรัตน์, 2520, หน้า 106) ดังต่อไปนี้ คือ
6.1 ภาพยนตร์บันเทิง ผู้สร้างมุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก มีศิลป การสร้างภาพยนตร์มาตามลำดับ เป็นการพัฒนาภาพยนตร์เพื่อการบันเทิง เมื่อจัดสร้างแล้ว จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ และบันทึกในรูปม้วนวีดีทัศน์เพื่อชมในสถานที่อื่น ๆ
6.2 ภาพยนตร์การศึกษา จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษา ใช้ประกอบการเรียนวิชาต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ใช้ประกอบการสอนเฉพาะวิชาต่าง ๆ ในห้องเรียน และใช้ฝึกทักษะหรือเทคนิคบางอย่าง
6.3 ภาพยนตร์สารคดี เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ จัดทำขึ้น มุ่งให้ความรู้และข่าวสารโดยตรง
6.4 ภาพยนตร์ข่าว เป็นภาพยนตร์ที่เสนอข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น ที่สนใจแก่ผู้สนใจ ปัจจุบันเป็นประเภทของภาพยนตร์ที่มีบทบาทต่อการดำเนินงานสถานี โทรทัศน์ในประเทศต่าง ๆ โดยออกรายการภาคข่าว ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น ในแต่ละวัน
6.5 ภาพยนตร์โฆษณาสินค้า เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโฆษณาชักจูงให้ซื้อสินค้า หรือสนับสนุนธุรกิจการค้า

7. วัสดุบันทึกเสียงและภาพ (Sound and Picture Recordings) เป็นสื่อสารนิเทศที่ให้สารนิเทศในรูปของการบันทึกเสียง และภาพออกมาในรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทของการจัดทำ (Gorman, 1978, p. 146) วัสดุบันทึกเสียงและภาพที่จัดทำใน ปัจจุบันที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
7.1 แผ่นเสียง (Disc) ได้แก่ สื่อสารนิเทศที่เป็นแผ่นกลม ซึ่งบันทึก เสียงด้วยคำพูดไว้ในลักษณะเป็นร่องบนพื้นผิว เมื่อใส่บนหีบเสียงและให้เข็มเดินตามร่องที่จะ เกิดเสียงตามที่บึกทึกไว้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก, 2530, หน้า 563) แผ่นเสียงแบ่งได้หลายประ เภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2531, หน้า 54) คือ
1. แบ่งตามขนาด คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7", 10", 12" และ 16" ขนาดที่นิยม คือ ขนาด 10"
2. แบ่งตามความเร็วของการหมุน คือ ความเร็ว 33 1/2, 45, 78 และ 16 2/3 รอบต่อนาที
3. แบ่งตามความกว้างของร่องเสียง คือ Standard Groove ขนาด 0.003" Micro Groove ขนาด 0.001" Stereo Microgroove ขนาด 0.0005"- 0.0007" และ Ultra Microgroove ขนาด 0.000025"
7.2 แผ่นวีดิทัศน์ (Video Disc) เป็นสื่อสารนิเทศที่พัฒนามาจากแผ่นเสียง ต่างกันที่แผ่นวีดิทัศน์มีการบันทึกสัญญาณภาพ และเสียงที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่า โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ (กัลยา จยุติรัตน์, 2531, หน้า 85-86) แผ่นวีดิทัศน์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
7.2.1 ระบบเลเซอร์ แผ่นทำด้วยเงินฉาบพลาสติกใส ขนาดของแผ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 600-1,8000 รอบต่อนาที ความยาว 30 นาทีต่อหน้า
7.2.2 ระบบคาปาซิแตนซ์ แบบมีร่องสัญญาณ บันทึกสัญญาณลงแผ่นด้วยสำแสงเลเซอร์ แต่เล่นด้วยเข็มธรรมดา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.2 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 900 รอบต่อนาที ความยาว 1 ชั่วโมงต่อหน้า แผ่นวีดิทัศน์ ให้สารนิเทศออกมาเป็นภาพ และเสียงเหมือนภาพยนตร์หรือ แถบวีดิทัศน์ แต่ไม่สามารถบันทึกสัญญาณภาพและเสียงลงบนแผ่นได้
7.3 เทปบันทึกเสียง (Sound Tapes) เป็นวัสดุที่สามารถบันทึกเสียงได้ และเมื่อต้องการฟังเสียงก็สามารถเปิดฟังได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของเครื่องบันทึกเสียง มี 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2531, หน้า 54-55) คือ
7.3.1 เทปม้วน (Open reel-to-reel) เป็นเทปกว้าง 1/4 นิ้ว และมีขนาดล้อม 3, 5, 7 และ 10 1/2 นิ้ว เทปมีความยาว 1,200 ถึง 1,400 ฟุต อัตราความเร็วในการเล่นเทปคิดเป็นนิ้วต่อวินาที มีหลายอัตรา คือ 7 1/2, 3 3/4, 17/8 และ 15/16 นิ้วต่อวินาที
7.3.2 เทปตลับ (Cassetts tapes) มีลักษณะคล้ายเทปม้วน แต่มีขนาดเล็กกว่า ตัวเทปบรรจุอยู่ในกล่องพลาสติก ด้านข้างมีช่องสำหรับให้หัวเทปสัมผัสกับ เนื้อเทปกว้าง 1/8 นิ้ว อัตราความเร็ว 17/8 นิ้วต่อวินาที เทปแต่ละม้วนมีระยะ เวลาในการบันทึกแตกต่างกัน เช่น C-60 หมายถึงเทปที่บันทึกเสียงได้ด้านละ 30 นาที นอกจากนี้ยังมีเทปขนาดอื่น ๆ อีก เช่น c-90} c-120 เป็นต้น
7.3.3 เทปกล่อง (Cartridge tapes) เทปชนิดนี้เส้นเทปจะเดิน ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการหยุดหรือจบ ไม่ต้องหมุนเทปกลับ และมีความกว้างเท่ากับ เทปม้วน คือ 1/4 นิ้ว บรรจุในกล่องพลาสติกขนาด 51/2, 3 3/4, และ 3/4 นิ้ว ใช้อัตราความเร็วในการเล่น 3 3/4 นิ้วต่อวินาที

7.4 แถบวีดิทัศน์ (Video tapes หรือ Video Cassette) เป็นแถบ บันทึกภาพและเสียง สามารถเล่นได้จากเครื่องเล่นวีดิทัศน์ โดยเปิดชมภาพและเสียงจาก โทรทัศน์ ลักษณะของแถบวีดิทัศน์คล้ายเทปตลับ คือ มีลักษณะเป็นเส้นเทปทำมาจากวัสดุ ประเภทพลาสติกจำพวกเซลลูโลส ไตรอาซิเตต โพลีเอสเตอร์ หรือโพลิไวนิล ฉาบด้วยสารแม่เหล็กอย่างแข็งเพื่อคงสภาพ สัญญาณที่ถูกบันทึกลงไว้ให้ดีที่สุด แถบวีดิทัศน์บันทึกได้ทั้งเสียงและภาพในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และสามารถลบภาพและเสียงที่บันทึกไว้ออก แล้วบันทึกเทปได้หลายครั้ง (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 84) แถบวีดิทัศน์ที่นิยมใช้กันมี ขนาดของแถบกว้างประมาณครึ่งนิ้ว

8. ชุดการสอน (Kits) หมายถึง การนำสื่อสารนิเทศตั้งแต่ 2 ชนิด มาใช้ ประกอบกัน เพื่อให้ความรู้หรือสารนิเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ทางการศึกษาจัดเตรียมขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้ หรือมีความคิดรวบยอดได้ดีขึ้น เนื่องจากได้รับประสบการณ์จากประสาทรับรู้หลายทางโดยสื่อต่างชนิด สื่อเหล่านั้นอาจเป็น โสตทัศนวัสดุ หรือวัสดุตีพิมพ์ต่างๆ (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 137) การใช้ชุด การสอนจึงเป็นการใช้สื่อสารนิเทศผสมหลายอย่าง และใช้ประกอบการเรียนการสอนใน สถาบันการศึกษาชุดการสอนประเภทหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการฝึกอบรมทักษะ ได้ แก่ เกมส์ต่าง ๆ ซึ่งจัดเตรียมขึ้น มีการกำหนดวิธีการและกฏเกณฑ์ในการเล่นหรือการ แข่งขันเพื่อเป็นการจูงใจผู้เรียน

9. ตู้อันตรทัศน์ (Diorama) เป็นสื่อสารนิเทศที่ใช้ประโยชน์มากในการ เรียนการสอน มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า กล่องทัศนียภาพ เวทีจำลอง หรือตู้จำลอง คือการจำลองแสดงเหตุการณ์ สถานที่เพื่อให้ผู้เขียนได้เรัยนรู้ถึงเหตุการณ์ใกล้เคียงของจริงมากขึ้น ลักษณะของตู้อันตรทัศน์ประกอบด้วยกล่องสี่เหลี่ยม หรือตู้สี่เหลี่ยม เปิดฝาไว้ด้านหนึ่ง ปิดด้วยกระจกใส หรือเปิดโล่ง ภายในจัดตกแต่งด้วยหุ่นจำลองของตัวอย่างและฉาก เพื่อแสดงเหตุการณ์ในเนื้อหาเรื่องราวที่ต้องการจัดแสดง (กัลยา จยุติรัตน์, 2531, หน้า 151) เช่น ตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์สงครามเก้าทัพ ณ ทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ในศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี และตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นต้น

10. แผ่นโปร่งใส (Overhead tranparency) เป็นสื่อสารนิเทศที่แสดงบนแผ่นพลาสติก หรือแผ่นอาซีเตทโปร่งใส ด้วยการวาดภาพ หรือเขียนเป็นตัวหนังสือ แผ่นโปร่งใสจึงเป็นวัสดุฉายที่มีลักษณะโปร่งใส ซึ่งนำมาใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) สารนิเทศที่ได้จากการดูจะอยู่ในลักษณะการบรรยาย การเสนอแนวความคิดเห็นกระบวนการข้อเท็จจริง (ณรงค์ สมพงษ์, 2530, หน้า 229) ขนาดของแผ่นโปร่งใสมีขนาดที่นินมกันคือประมาณ 10 x 12 นิ้ว

11. หุ่นจำลอง (Models) หุ่นจำลองเป็นวัสดุ 3 มิติที่สร้างขึ้นเฟื่อเลียนแบบของจริงหรือใช้แทนของจริง ที่ไม่สามารถจะนำมาแสดงได้โดยตรง มีการจัดทำหลายประเภท เช่น หุ่นจำลองแสดงลักษณะภายนอก หุ่นจำลองเหมือนของจริง หุ่นจำลอง แบบขยายหรือแบบย่อ หุ่นจำลองแบบผ่าซีก หุ่นจำลองแบบแยกส่วน หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ และหุ่นจำลองเลียนแบบของจริง เป็นต้น (กัลยา จยุติรัตน์, 2531, หน้า149- 150) การใช้หุ่นจำลองเป็นสารนิเทศนี้ นิยมใช้ในการเรียนการสอน เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนประกอบการเรียนวิชาแพทยศาสตร์ เป็นต้น เพราะทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและเปิดโอกาสให้สามารถศึกษาลักษณะ และการทำงานของของจริงได้ง่ายขึ้น

12. ของตัวอย่าง (Specimens)เป็นสื่อสารนิเทศที่นำตัวแทนของสิ่งของกลุ่มหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง อาจเป็นส่วนใดของของจริงก็ได้ เพราะของจริงบางอย่างไม่สามารถนำมาแสดงได้ด้วย มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือหาได้ยาก หรือมีราคาแพง เป็นต้น ของตัวอย่างจะช่วยให้ได้ ประสบการณ์ใกล้กับความจริงยิ่งขึ้น เช่น ตัวอย่างหิน แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008