1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

งานบริการในฐานะที่เป็นสถานศึกษาสนองนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

ห้องสมุดประชาชนระดับต่างๆไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชนจังหวัด ห้องสมุด ประชาชนอำเภอ หรือ ห้องสมุดประชาชนตำบล ควรสนองนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในการจัดการให้บริการในทุกรูปแบบเท่าที่สามารถจะจัดทำได้ งานบริการที่ควร กล่าวถึง งานบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ และงานบริการเพื่อสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ

งานบริการห้องสมุดเคลื่อนที่

การบริการห้องสมุดเคลื่อนที่เป็นการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางในชนบท การให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ พิจารณาถึงสื่อที่จะนำหนังสือโสตทัศนวัสดุไปให้บริการว่าควรจะใช้พาหนะใด โดยทั่วไปแล้ว ประเทศต่าง ๆ มักนิยมใช้รถเคลื่อนที่ (Bookmobile) เป็นพาหนะ บางประเทศ เช่น ประเทศไทย ใช้เรือเคลื่อนที่ ในอาณาเขตที่ใกล้แม่น้ำดังเช่นปฎิบัติอยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา อ่างทอง เป็นต้น

ห้องสมุดคลื่อนที่ (Mobile Library) คือ พาหนะขนส่งซึ่งมีอุปกรณ์พร้อมต่อการให้บริการห้องสมุดสู่ประชาชนโดยตรง (Eastwood 1967 : 31) ห้องสมุดเคลื่อนที่จึงมักหมายถึง รถที่บรรทุกหนังสือและวัสดุห้องสมุดอื่น ๆ

วิวัฒนาการการใช้รถเคลื่อนที่นำวัสดุห้องสมุดให้บริการในชนบทมีมานานแล้ว โดยเริ่มต้นจากการบริการการอ่าน โดยใช้รถม้าเป็นพาหนะ เมื่อ ค.ศ. 1859 ที่เมืองวาร์ริงตัน ประเทศอังกฤษ และในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้เกวียนหนังสือ (Book- wagon) เป็นพาหนะในการให้บริการเมื่อ ค.ศ. 1970 (C.R. Eastwood 1967 : 31) จนกระทั่งวิวัฒนาการการใช้รถเคลื่อนที่ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คำภาษาอังกฤษที่มีความหมายเหมือนกับห้องสมุดเคลื่อนที่ ได้แก่ Travelling Library, Prime Mover, Articulated Mobile Library, Trailer Library Caravan Library, Exhibition Van และ Delivery Van เป็นต้น (Eastwood 1967 : 25-28)

ในประเทศนอร์เว ซึ่งเป็นประเทศที่มีฝั่งทะเลเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่นับพันเกาะ รวมทั้งแนวฟยอร์ที่ยาวนับร้อยไมล์ ตามชายฝั่งทะเลเป็นเหตุให้ชุมชนในแถบนั้นถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามสภาพธรรมชาติ และแต่ละกลุ่มก็ขาดการติดต่อ ซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากกฎหมายห้องสมุดของนอร์เวกำหนดให้เทศบาลทุกเมืองจะต้องมีห้องสมุดให้บริการประชาชน (ละอองกาญจน์ สุริชัยพาณิชย์, ผู้แปล 2518 : 379) ห้องสมุดที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ คือ การให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ทางน้ำและการให้บริการ ห้องสมุดคลื่อนที่ทางบก การให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ทางน้ำใช้เรืออับดุลลา (Abdulla) เปิดให้บริการ เมื่อ พ.ศ. 2502 ยังห้องสมุดต่างๆ จำนวน 150 แห่ง โดยการบริหารงานของห้องสมุดประชาชนกลางที่เมืองเบอร์เจน (Bergen) ส่วนการให้บริการห้องสมุด เคลื่อนที่ทางบกนั้น ประเทศนอร์เว ได้จัดให้บริการมานานแล้ว (ละอองกาญจน์ สุริชัยพาณิชย์ 2518 : 380-381)

ห้องสมุดประชาชนในประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเซียต่างก็มีการให้บริการรถเคลื่อนที่ด้วยเช่นเดียวกัน ในประเทศอิรัค มีให้บริการ ตั้งแต่ ค.ศ. 1961 ประเทศญี่ปุ่นให้บริการตั้งแต่ ค.ศ. 1946 นอกจากนี้ยังมีรายงานการให้บริการรถเคลื่อนที่ไปประเทศ อิสราเอง และสิงคโปร์ (Eastwood 1967 : 47-48)

ในประเทศไทยได้เคยมีการให้บริการรถเคลื่อนที่ ในช่วงการปรับปรุงและพัฒนากิจการห้องสมุดประชาชนระยะที่ 2 แต่ภายหลังเกิดปัญหาทางด้านบุคลากรและอื่น ๆ จึงไม่มีรายงานการให้บริการรถเคลื่อนที่ในปัจจุบัน คงมีแต่ห้องสมุดเคลื่อนที่โดยทางเรือ โดยให้บริการตามริมแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือ 3 ลำ ชื่อ เรือสหประชาชาติ เรือนพมาศ และเรือธรรมจักร (สุภัทรา ฉัตรเงิน 2524 : 129) บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนจึงควรจัดทำโครงการการให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ทางบกขึ้นมาใหม่ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมบริการการอ่านในรูปแบบของหีบหนังสือสู่ชนบทหรือ การจัดหนังสือตามสภาพความต้องการใช้ ของประชาชนในชนบทใส่รถหรือเรือของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในการให้บริการต่อไป

การบริการห้องสมุดประชาชนเพื่อสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ

ในฐานะที่ห้องสมุดประชาชนเป็นหน่วยงานของกรมการศึกษานอกโรงเรียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดให้บริการ เพื่อสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่สำคัญของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งนี้ เนื่องจากว่าประเทศไทยได้เริ่มจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2464 เป็นเวลากว่า 60 ปี แต่ปัจจุบันยังมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ 14.5 (พ.ศ. 2524) รัฐบาลเห็นว่าการรู้หนังสือของประชาชนจะเป็น การช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และระหว่างรัฐบาลกับประชาชนได้ดีขึ้นจะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสที่จะ แสวงหาความรู้ ความคิดเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2524-2529) จึงได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จะลดอัตราการไม่รู้หนังสือของประชาชนให้เหลือร้อยละ 10.5 ในปี พ.ศ. 2529 กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมการศึกษานอก โรงเรียน ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้จัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเตล็ดขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนสามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น ทำเป็น และสามารถที่จะแก้ปัญหาได้สอดคล้องกับสภาพของตนและสังคมในแต่ละสภาพ ซึ่งไม่เหมือนกัน การดำเนินการ ต้องอาศัยครูที่มีความรู้ ความสามารถเป็นพิเศษ ทั้งจะต้องมีการนิเทศติดตามผลที่มีประสิทธิภาพสูง การจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะต้องใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จากทรัพยากรและบุคคลที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นการยากที่จะจัดการศึกษาตามโครง การจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเตล็ดได้เกินปีละ 5 หมื่นคน ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายมากในอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากร จากร้อยละ 14.5 เป็นร้อยละ 10.5 หรือประมาณ 1.5 ล้านคน

ดังนั้น กรมการศึกษานอกโรงเรียน จึงได้จัดดำเนินการโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

    1.เพื่อให้ประชาชนที่มีอายุ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปถึง 50 ปีที่ไม่รู้หนังสือ ได้มีความรู้ อ่านเขียนภาษาไทยได้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิตและแสวงหาความรู้ต่อไป
    2.เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียนของประชาชนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีนิสัยรักการอ่าน
    3.เพื่อให้ประชาชนสามารถแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และข่าวคราวได้จากการอ่าน อันจะทำให้เป็นผู้ที่ทันต่อเหตุการณ์
    4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเห็นว่าหากร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประชาชน ด้วยกันเองแล้ว จะทำให้ตนเองและชุมชนของตนดีขึ้น (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2526 : 48)

เพื่อสนองนโยบายและวัตถุประสงค์ของโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนควร ประสานนโยบาย และเสนอโครงการต่อศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด เพื่อจัดทำบริการของห้องสมุดประเภทต่าง ๆ และเน้นบริ การห้องสมุดเคลื่อนที่ในการให้บริการ การอ่านในท้องที่ และที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านภายในตำบล

การจัดที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน เป็นวิธีการส่งเสริมโครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือได้เป็นอย่างดียิ่งในชนบท เป็นการขยายโครงการทางการศึกษา ก่อให้เกิดความเสมอภาคในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล เป็นการส่งเสริมการอ่านและป้องกัน การลืมหนังสือ และ สร้างนิสัยการอ่านให้ประชาชน (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2530 : 1)

การดำเนินการจัดตั้งที่อานหนังสือประจำหมู่บ้าน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2528 มีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านจำนวน 23,222 แห่ง

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com