1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library
2 (2 - 0)
ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com
กิจกรรมและบริการส่งเสริมการอ่านในระดับชาติ
นอกจากการจัดดำเนินการให้บริการแก่เด็กประเภทต่างๆแล้ว ยังมีการส่งเสริมการจัดทกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมการอ่าน ในห้องสมุดประชาชนอีกหลายวิธีการ ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. การจัดเทศกาลการอ่าน (Reading Festervals) มีวิธีการจัดที่แตกต่าง กันในรายละเอียด เช่น การเชิญนักเรียน มาร่วมรายการควรทำได้หลายระดับ อาจจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรืออาจจัดรายการในลักษณะข้ามแดน - สำหรับประเทศที่มีชาย แดนติดต่อกัน และจัดได้ในระดับอายุหรือกลุ่มชนเชื้อชาติต่าง ๆ กัน ในหลาย ๆ สถาบัน เช่น โรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาลเด็ก และอื่น ๆ หรืออาจจัดให้สัมพันธ์กัน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น ๆ เช่น ในงานสินค้าออกร้านต่าง ๆ การแสดงผลงาน ด้านการเกษตร การประชุมทางศาสนา เป็นต้น
การจัดกิจกรรมนั้น ควรได้รับความร่วมมือจากกลุ่มและองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของเด็ก การประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไป โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าว การประกาศให้ทราบเรื่องรางวัล ซึ่งอาจเป็นวุฒิบัตร หรือสิ่งอื่น ๆ ให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป ก็เป็นสิ่งจำเป็น
2. การแข่งขันกันในด้านวรรณกรรม (Literacy Competition) ควรมีการส่งเสริมให้เยาวชนทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ได้มีโอกาสผลิตงานด้านวรรณกรรม วรรณกรรมดังกล่าวอาจผลิตออกมาในรูปของเนื้อเรื่องที่มี หรือไม่มี ภาพประกอบก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องนั้น ๆ บวกกับความสนใจของเยาวชนเหล่านั้นด้วย การจัดนิทรรศการหรือการแสดงผลงานในด้านนี้เป็นสิ่งที่อาจทำได้ในทำนองเดียวกับการจัดเทศกาล การอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การมีรางวัล ให้เป็นพิเศษ หรือการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนในประเทศที่ยังมีการ โต้แย้งกันในเรื่องของภาษาประจำชาติ อาจใช้การแข่งขันเช่นนี้ว่าเป็นเครื่องสนับสนุนการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วย
3. การแข่งขันการเขียนป้ายประกาศ (Poster Competition) หลาย ๆ ประเทศปรารถนาจะให้มีแผ่นใบปลิว หรือป้ายประกาศที่มีข้อความเกี่ยวกับการอ่านของเด็ก การจัดการแข่งขันการเขียนป้ายประกาศดังกล่าว อาจทำได้โดยอาจ ให้เด็ก ๆ เขียนเอง คือ ศิลปิน และนักออกแบบเป็นผู้เขียนก็ได้ ตัวอย่างข้อความใน ป้ายประกาศ เช่น "หนังสือสำหรับทุกคน" (Books for All) ซึ่งเป็นคำขวัญสำหรับเด็กสากล สำหรับคณะกรรมการผู้ตัดสินใจให้รางวัล ควรเป็นตัวแทนจากสถาบัน และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและหนังสือ
4. จัดให้มีรางวัลหนังสือสำหรับเด็ก (Awards for Children's Books) ควรจัดให้มีการประกวดหนังสือสำหรับเด็ก ที่มีคุณค่าทั้งในด้านเนื้อหา ภาพประกอบ และการพิมพ์ที่ได้มาตรฐาน โดยมีการประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบทางสื่อมวลชน
5. การจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการอ่านของเด็ก (National Bibliographies on "The Reading for Children") การรวบรวมและจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการอ่านของเด็ก การทำงานนี้อาจทำได้ในรูป ของการวิจัยและการผลิต โดยอาจขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลหรือสถาบันอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความพร้อม ของประเทศผู้จัดทำด้วย
6. การสำรวจนิสัยการอ่านของเด็ก (Surveys of Children's Reading Habits) การจัดสำรวจนิสัยรักการอ่านของเด็กในประเทศ หรือในท้องถิ่นอาจทำทั้งปี หรือ ช่วงเวลา 2 ปี ผลจากสำรวจดังกล่าว จะเป็นวิธีที่ทำให้รัฐบาล หรือหน่วยงานเอกชนสามารถ ให้การสนับสนุนส่งเสริมการอ่านของเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น
7. การจัดทำดวงตราไปรษณียากรเป็นพิเศษ (Special Postage Stamp Issue) ดวงตราไปรษณียากรที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่ควรจะจัดทำขึ้นเพราะโดยปกติแล้วดวงตราไปรษณียากรเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง การจัดทำควรจะจัดทำเป็นชุดพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องเด็ก กับการอ่านและการเรียนรู้ เนื้อหาที่บรรจุอยู่บนดวงตราไปรษณียากรนั้น อาจรวมถึง การนำหนังสือเด็กที่ได้รับรางวัลหรือจัดพิมพ์ใหม่มาเสนอ ภาพระบายสีหรืองานศิลปอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้หนังสือและ ความรื่นรมย์ที่ได้รับจากหนังสือของเด็ก ๆ นอกจากนี้ ควรนำเอาผลงานด้านการวาดภาพประกอบเรื่องของเด็กมารวมไว้ด้วย ข้อความที่มีอยู่ในดวงตราไปรษณียากร อาจจะเป็นข้อความที่ว่า "หนังสือสำหรับเด็ก" (Books for Children)
8. การจัดงานออกร้านหนังสือ (Book Fairs) การจัดสัปดาห์หนังสือ งานออกร้านหนังสือ และอื่น ๆ ที่ทำในระดับชาติ ระดับ ภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ควรจะได้รวมเอานิทรรศการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ สำหรับเด็ก
นอกจากกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเล่นปริศนาคำทาย การเล่นเกมส์ และการร้องเพลง เป็นต้น ก็จะเป็นกิจกรรมที่มีส่วนส่งเสริมและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของเด็กได้เช่นเดียวกัน
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com