1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การจัดชั่วโมงนิทาน (Story - hour)

จุดประสงค์ในการจัดชั่วโมงนิทาน

ฮาโรลด์ โจลลิฟ (Harold Jolliffe) กล่าวไว้ว่า เพื่อแนะนำหนังสือสำหรับเด็กและเพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักอ่านหนังสือ ด้วยตนเองตลอดไป เอฟฟี่ แอล เพาเวอร์ (Effie L. Power) กล่าวไว้ว่า เพื่อเผยแพร่ วรรณกรรมไปสู่เด็ก กระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือด้วยตนเอง จากการประชุมเรื่อง พัฒนาการห้องสมุดในภาคใต้ของเอเซีย ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย กล่าวไว้ว่า เพื่อการกระตุ้นความคิด และจินตนาการของเด็กมีความต้องการที่จะอ่านด้วยตนเอง

สรุป จุดประสงค์ของการจัดชั่วโมงนิทาน เพื่อแนะนำและเผยแพร่วรรณกรรมสำหรับเด็ก กระตุ้นความคิดและจินตนาการ ของเด็กให้รู้จักอ่านด้วยตนเอง

ความแตกต่างของการเล่านิทาน (Story Telling) และการจัดชั่วโมงนิทาน (Story-hour) คือ การเล่านิทานเป็นการเล่านิทาน สามารถนำขึ้นมาเล่ากับใคร เวลาใด สถานที่ใด แต่ชั่วโมงนิทาน จะต้องจัดจึ้นในเวลาที่กำหนดไว้และแน่นอนซึ่งเป็น กิจกรรมที่รวมถึงการเล่านิทานและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กในห้องสมุด และการจัดนิทานจำเป็นต้องมีการวางแผน และมีหลักการบริหารงาน

ซี เอส ฮัค และดี วาย คุน (C.S. Huck and D.Y. Kuhn) ได้กล่าวไว้ว่า การจัดชั่วโมงนิทานเป็นเวลาที่เหมาะสม ในการสร้างเสริมจินตนาการ ความสนใจ และ พัฒนาคุณค่าของงานเขียน (อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์ 2526 ก : 1-2)

เทคนิคการเล่านิทาน

นิทานที่จะสามารถเล่าได้ดีและมีคุณค่า ต้องประกอบด้วยกลวิธีทางการละครหรือ การประพันธ์ หรือความสนุกสนาน รวมทั้งความสามารถของผู้เล่านิทาน ซึ่งแสดงออกไปในภาษาที่เหมาะสมสละสลวยและคงไว้ซึ่งศิลปะ นักเล่านิทานบางคนมีพรสวรรค์ในการเล่า โดยใช้เสียง การแสดงออก การกำหนดเวลาและแนวทางในการเล่านิทาน แม้ว่าการเล่า นิทานจะเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของห้องสมุด แต่ควรศึกษาความต้องการของชุมชนจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนงาน ในการเล่านิทานซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้

1. ประเภทของผู้ฟัง

ห้องสมุดส่วนมากจะแบ่งประเภทของการเล่านิทานสำหรับผู้ฟัง 2 ประเภท คือ สำหรับเด็กเล็ก หรือวัยก่อนเข้าเรียน และสำหรับเด็กโต สำหรับเด็กหรือวัยก่อนเข้าเรียน (Preschool story hour) ประมาณปี ค.ศ. 1940 ชั่วโมงนิทานสำหรับเด็กในวัยก่อนเข้าเรียน ซึ่งมีอายุระหว่าง 3-4 ขวบ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำหรับเด็กในหลาย ๆ ห้องสมุด เช่น ห้องสมุดประชาชน แห่งเมืองดีทรอยด์ (Detroit Public Library) ได้เริ่มกิจกรรมนี้ ก่อนปี ค.ศ. 1935 บริการสำหรับเด็กวัยนี้ จะมีห้องสมุดโดยเฉพาะที่ไม่มีเสียงรบกวนหรือ วุ่ยวายจากการจราจรเพราะจะทำให้เด็กไม่มีสมาธิ มีสถานที่เพียงพอและสะดวกสบายสำหรับเด็ก มีบริการดูแลเด็ก (Baby-sitting service) เพื่อเปิดโอกาสให้มารดาได้ออกไปปฎิบัติภาระหรือมารดาที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านไม่มีเวลาดูแลเด็ก ห้องสมุดประชาชนอีสยอร์ค (East York Library) เมืองโทรอนโท (Toronto) ประเทศแคนาดา ได้จัดชั่วโมงเล่านิทานสำหรับเด็ก วัยก่อนเข้าเรียนในภาคฤดูร้อน ก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียนอนุบาลในตอนเปิดเทอมให้เด็กแต่งเครื่องแบบนักเรียนเข้า ร่วมในกิจกรรมและผู้ปกครองจะดูแลเด็กให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมหนึ่ง นอกจากนี้ห้องสมุดจะจัดฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจการเลี้ยงดูเด็ก และจัดให้มีกลุ่มอภิปรายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก

บริการเล่าเรื่องจากหนังสือภาพ (Picture Book Program) เหมาะสำหรับเด็กในวัยเริ่มเรียน อายุประมาณ 5-7 ขวบ จนถึงประถมศึกษาปีที่ 2 (เกรด 2) เหตุผล ในการจัดกิจกรรมนี้เพราะ วัยนี้เพิ่งเริ่มหัดอ่าน กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กอยากอ่านหนังสือ มากขึ้นและให้เด็กอ่านหนังสือตลอดไป เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าหนังสือเป็นสิ่งที่น่าพิศวง สนุกสนานติ่นเต้น และได้พบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ แอนน์ ฟลีท (Anne Fleet) กล่าวว่า หนังสือภาพมีส่วนสำคัญในการเล่านิทานสำหรับเด็กเล็กจะช่วยให้เด็กติดตามเหตุการณ์จากเรื่องที่เล่าได้ การเริ่มต้นเล่าเรื่องจะได้ผลดี ถ้าเริ่มด้วยการละเล่นหรือโคลงกลอนสำหรับเด็ก มีโคลงสำหรับให้เด็กร้องหรือ แสดงท่าทางเพราะเด็กส่วนมากจะสนุกสนานกับการได้ร้องเพลงและทำเสียงสัตว์ประเภทต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเด็กในวัยนี้มีนิสัยชอบฟังนิทานทั้งที่บ้านและที่ห้องสมุด

สำหรับเด็กโต นิทานที่จะเป็นนิทานประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ อันจัดว่าเป็นวรรณกรรมประเภท คลาสสิค เล่าในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ละตอนจะใช้เวลาครั้งละประมาณ 30-45 นาที เล่าต่อกันเป็นชุด ๆ (Cycle story hour) เช่น วีรบุรุษกรีก ตำนานพระเจ้าอาร์เธอร์ เป็นต้น เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปี เป็นอย่างต่ำ นิทานประเภทนี้จะช่วยให้เด็กในวัยนี้ทราบซึ้ง และเห็นคุณค่าของวรรณกรรมเหล่านี้ โดยอาจหาอ่านเพิ่มเติมเอง หรือบรรณารักษ์จะแนะนำ ให้อ่านเรื่องอื่น ๆ อีก (อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์ 2526 ก : 2-3)

วิธีการเล่านิทาน

การเลือกเรื่องที่จะเล่านิทาน

นิทานพื้นเมือง (Folk Tales) เป็นนิทานที่เล่าง่ายที่สุด เพราะนิทานเหล่านี้มี คุณสมบัติที่ดี กล่าวคือ ง่ายในรูปแบบ โครงเรื่อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเต็มไปด้วย สุนทรียภาพ นักเล่านิทานสมัยแรก ๆ ใช้นิทานเก่า ๆ เล่าเรื่องเพื่อให้ง่ายและการเข้าใจ ถึงความเศร้า ความหวัง ความดี และความเลวของมนุษย์ ซึ่งเรียกกันว่า กระจกเงา ของมนุษยชาติ

บรรณารักษ์ยังสามารถเลือกวรรณกรรมพื้นบ้านประเภทตำนาน เทพนิยาย นิทานสุภาษิต นิทานชาดก นิทานเกี่ยวกับสัตว์ จินตนิยายมาเล่าได้อีกมากมาย (อุบล บุญชู 2525 : 106)

การเลือกเรื่องที่จะเล่า ควรเลือกเรื่องที่มีคุณค่าและมีลักษณะเด่น ลักษณะสนับสนุนตัวมันเองในการเล่าเรื่อง การเลือกเรื่องที่จะเหมาะสมกับผู้ฟังและโอกาส เช่น เด็กผู้ชายฟัง ผู้เล่าจะต้องเน้นการกระทำ แต่ถ้าเป็นการเล่าให้เด็กผู้หญิงฟัง ก็ต้องมีการ พรรณาโวหารให้มากขึ้น คำแนะนำที่ง่ายที่สุด คือ การเลือกนิทานสำหรับเด็กอายุ 8-10 ขวบ ถ้าวิธีการนี้ไม่สะดวกควรเลือกนิทาน ซึ่งแตกต่างกันในด้านความยากง่าย ความน่าสนใจและความยาวของเรื่องให้เหมาะสมกับอายุของเด็ก หลังจากการเลือกเรื่องแล้ว ควรเก็บข้อ มูลของการเล่านิทานเกี่ยวกับวันที่เล่า จำนวนเด็กที่เข้าร่วมและการตอบสนองต่อการเล่านิทาน ควรเก็บไว้เพื่อป้องกันการเล่าซ้ำ และจะได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกนิทานที่เด็กชอบ

การดัดแปลงเนื้อเรื่อง

ต้องพิจารณาว่าควรเล่าเรื่องจะเป็นไปตามที่เขียนไว้หรือจำเป็นต้องมีการจัดเรียงเหตุการณ์ใหม่ มีการขยายหรือตัดตอน สำหรับนิทานพื้นเมืองไม่จำเป็นต้องมีการดัดแปลงเนื้อเรื่องเพราะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกับเด็ก มีลักษณะเหมาะสมในการเล่าอยู่แล้ว เรื่องที่จัดเขียนใหม่มักจะเป็นการขยายความเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหา หรืออาจตัดตอนเมื่อไม่จำเป็นที่จะต้องเล่ารายละเอียดของนิทานยาว ๆ การตัดตอนจะตรงตามต้นฉบับเดิมมีผลดีคือ ทำให้ง่ายในการเล่า

การเตรียมตัว

ควรมีการเขียนและศึกษาโครงเรื่อง จำให้ขึ้นใจ สามารถสร้างจินตนาการได้ ควรสังเกตการให้ใช้ถ้อยคำและการสนทนา โดยเฉพาะการเล่านิทานพื้นเมืองที่มีคำซ้ำหรือ นิทานที่มีภาษาท้องถิ่น

สถานที่เล่านิทาน

อาจจัดในห้องจัดกิจกรรมสำหรับเด็กถ้าไม่มีห้องดังกล่าวอาจจัดในห้องอ่านหนังสือที่อื่นตามความเหมาะสมเช่นกลางสนาม ใต้ต้นไม้ ห้องเรียน หรือห้องประชุม (มัลลิกา นาถเสวี 2527 : 47) ผู้ฟังต้องมีที่นั่งสะดวกสบาย มองเห็นและได้ยินผู้เล่านิทานและผู้เล่า นิทานก็สามารถมองเห็นผู้ฟังได้เช่นกัน การจัดที่นั่งในการเล่านิทาน ควรเป็นรูปโค้งหรือ รูปครึ่งวงกลม อุปกรณ์ในการเล่านิทาน ควรจัดเตรียมโต๊ะที่มีลักษณะสวยงาม มีดอกไม้ประดับ เลือกหนังสือที่น่าสนใจไว้แสดงประมาณ 4-5 เล่ม อาจจุดเทียนสำหรับการเล่าเพื่อ ทำให้เกิดบรรยากาศอบอุ่นและดูสมจริง

สถานที่สำหรับการเล่านิทานบางแห่งมีวิธีบรรยากาศให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรม ดังเช่น ห้องสมุดของสถาบันพัฒนาเด็ก และเยาวชน (Library of the Institute of Development of Children and Adults) ในประเทศอิหร่าน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (2520: (8)- (9) ทรงนินธ์กล่าวถึงตอนหนึ่งว่า

"... เราอยู่ที่โรงเลี้ยงด็กนานไปหน่อย พอดีมีคนเตือนว่ายังมีรายการที่ต้องไปดูอีก พวกเราเลยร่ำลาพยาบาลผู้ดูแลโรงเลี้ยงเด็ก นั่งรถไปที่ Library of the Institute of Development of Children and Adults ส่วนที่เราไปดูเป็นห้องสมุดของเยาวชน ห้องสมุดนี้อยู่ ๆ เด็กคนหนึ่งจะเดินเข้ามาใช้เลยไม่ได้ ต้องเป็นสมาชิกเด็กตามโรงเรียนเท่านั้นจึงจะเป็นสมาชิกได้ จำนวนสมาชิกมากมาย จำนวนแน่นอนไม่ได้ อายุตั้งแต่ 6-17 ปี บรรณารักษ์ห้องสมุดมีหน้าที่เล่านิทานให้เด็ก ๆฟัง และอธิบายเรื่องราวในหนังสือ หนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาอิหร่าน มองไปตามฝาผนังจะติดเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ เช่น ประวัติของนักแต่งนิทานเด็ก และนักวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียงของอิหร่าน เรื่องของประเทศต่าง ๆในประเทศอื่น..."

การเล่านิทานนั้น บรรณารักษ์มีวิธีดำเนินการเล่าหลายวิธี (สมทรง แสงแก้ว 2529 : 264-318) เช่น การเล่าปากเปล่า การเล่าโดยร้องเพลงประกอบ การเล่าโดยการเล่นเชือกประกอบ การเล่าโดยพับกระดาษประกอบเป็นรูปต่าง ๆ การเล่าโดยใช้ หุ่นแปะ การเล่าโดยใช้หุ่นประเภทต่าง ๆ การเล่าโดยการวาดหน้าหุ่น การเล่าโดยใช้ แผ่นใสประกอบ การเล่าโดยใช้ภาพวาดประกอบ การเล่าประกอบเสียงธรรมชาติ การเล่าประกอบภาพยนตร์ การเล่าประกอบกิริยาท่าทาง การเล่าด้วยการแสดงละคร และการเล่า โดยใช้นิ้วมือประกอบ การเล่าด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าว บรรณารักษ์ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ฟัง และเนื้อเรื่องของนิทานที่จะนำมาเล่า ให้เด็กฟัง

ในห้องสมุดประชาชน การเปลี่ยนแปลงวิธี การเล่าจะเป็นการเร้าความสนใจของเด็กๆ ให้มาฟังใหม่ในโอกาสต่อไป กิจกรรมการเล่า นิทาน จะได้ผลทางจิตวิทยา เพราะเป็นกิจกรรมที่ก่อความสำราญใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง เป็นประสบการณ์ศึกษาในหลายแง่ที่ให้ ความพึงพอใจด้วย ซึ่งนักการศึกษาเห็นว่าเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน (ม.ล.จ้อย นันทิวัชรินทร์ 2529 : 248) และบรรณารักษ์ห้องสมุดประชา ชนจะพิจารณาได้ว่าเป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่งสำหรับการรณรงค์เด็กให้มีนิสัยรักการอ่านในชนบทได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต การจัดชั่วโมงนิทานนี้

นอกจากการจัดในห้องสมุดแล้ว การจัดชั่วโมงนิทานนอกสถานที่ตามสวนสาธารณะ หรือจัดรายการทางโทรทัศน์ กำลังเป็นที่นิยมกันมาก เช่น ห้องสมุดประชาชนโรเซสเตอร์ (Rochester Public Library) ในรัฐมินิโซต้า(Minnesota) ได้จัดชั่วโมงนิทานในสวนสาธารณะ ( Storyhour in the Park ) โดยจัด เป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ หยุดตามสนามเด็กเล่นและตาม สวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อเล่านิทานแก่เด็ก และที่ห้องสมุดประชาชนแอซวิล (Asheville Public Library)

ในรัฐนอร์ธแคโรไลน่า ได้จัดชั่วโมงนิทานสำหรับเด็กทางโทรทัศน์เดือนละครั้งโดยจัดเป็นเทปโทรทัศน์ ประมาณ4-5 ตอนจบ และเป็นที่นิยมกันมาก จากการสำรวจเกี่ยวกับการอ่านและการดูโทรทัศน์ของเด็กอายุ 6 และ 7 ขวบ ในเมืองลีด (Leed) ประเทศอังกฤษ พบว่า หลังการจัดเล่านิทานทางโทรทัศน์ เด็กจะ หาหนังสืออ่านเพิ่มเติม และพบว่า นอกจากเด็กจะหาซื้ออ่านเองแล้ว เด็กจะหาอ่านใน ห้องสมุดประชาชน

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com