1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library
2 (2 - 0)
ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com
บริการดรรชนีวารสารและกฤตภาคข่าว
ห้องสมุดต่างๆ โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชนมักได้รับวารสารฟรีอยู่บ่อย ๆ บรรณารักษ์จึงควรได้ประโยชน์จากวารสารต่าง ๆ ที่ห้องสมุดมีอยู่ให้มากที่สุด
โดยการทำดรรชนีวารสาร เพราะดรรชนีวารสารเป็นการรวบรวมรายชื่อบทความต่างๆ
ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่ามีบทความหรือเรื่องราวที่ผู้อ่านต้องการทราบอยู่ในวารสารชื่ออะไร ปีที่เท่าใด ฉบับ
ไหน และหน้าใดบ้าง
ประโยชน์ของดรรชนีวารสาร
1. ใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาบทความจากวารสารเพื่อการศึกษาค้นคว้าและ วิจัย ทำให้ประหยัดเวลามากขึ้น
2. เพื่อให้ทราบว่า บทความที่ต้องการค้นหาอยู่ในวารสารชื่อใด ปีที่ หรือเล่มที่ เท่าไร และหน้าใดของวารสารเล่มนั้น
ไม่ว่าจะเป็นวารสารฉบับที่ล่วงเวลามาแล้วหรือจะ เป็นวารสารที่ออกใหม่
3. บัตรดรรชนีวารสารแต่ละบัตร จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับบทความหนึ่ง ๆ ถึงชื่อผู้แต่ง (ถ้ามี) ชื่อบทความ ชื่อวารสารปีที่
หรือเล่มที่และเลขหน้าของวารสารเล่มนั้น ๆ
การลงรายการในบัตรดรรชนีวารสาร
การเขียนดรรชนีวารสาร ให้เขียนลงบัตรรายการ ขนาด 3" x 5" หรือหากระดาษแข็ง หรือกระดาษอื่น ๆ มาตัดให้มีขนาด 3" x 5"
ลงรายการในบัตรดรรชนีวารสาร โดยมีแบบฟอร์ม ดังต่อไปนี้
แบบฟอร์ม
บัตรรายการดรรชนีวารสาร
ชื่อผู้แต่ง. "ชื่อบทความ." ชื่อวารสาร ปีที่, ฉบับที่ (วัน เดือน ปี) : เลขหน้า.
การลงรายการในบัตรดรรชนี
1. เว้นจากขอบบัตรบนซ้ายลงมา 4 บรรทัดพิมพ์ดีด ลงรายการในบรรทัดที่ 4 โดยเว้นจากขอบบัตรทางซ้ายมือ 6 ระยะ (ตัวพิมพ์ดีด) เขียนระยะที่ 9
บนระยะบรรทัดแรกของบัตร คือ ชื่อผู้เขียนเรื่องหรือบทความ เว้น 2 ระยะจึงลงนามสกุล
2. ในบรรทัดเดียวกัน ชื่อผู้แต่งเว้น 2 ระยะจากนามสกุลเขียนชื่อเรื่องหรือ บทความอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ แล้วเว้น 1
ระยะจึงลงชื่อวารสารแล้วขีดเส้นใต้ชื่อวารสารนั้น
3. ถ้าต้องขึ้นบรรทัดใหม่ ให้เขียนใต้ชื่อผู้แต่ง โดยเว้นจากขอบบัตรทางซ้ายมือมา 10 ระยะ เขียนระยะที่ 11 (ก็คือให้ตรงอักษรตัวที่ 3
ของชื่อผู้เขียนบทความนั้นเอง) และถ้าบรรทัดที่ 2 ไม่พอขึ้นบรรทัดที่ 3 ก็ต้องเขียนในระยะ 11 เสมอ
4. ลงรายการต่อจากชื่อวารสาร เว้น 1 ระยะ ลงรายการเลขของปีที่จุลภาค เว้น 1 ระยะ ลงเลขของฉบับที่ เว้นระยะลงเดือน ปี
ของวารสารนั้นในเครื่องหมายวงเล็บเว้นอีก 1 ระยะ ใส่เครื่องหมายทวิภาค (:) เว้น 1 ระยะจึงลงเลขหน้า
5.ตอนล่างสุดของบัตรเหนือรูร้อยบัตรสัก 1-2 บรรทัดพิมพ์ดีด ให้ลงรายการแนวสืบค้น โดยเขียนในระยะที่ 11 แล้วลงเลข 1 ตามด้วย มหัพภาค (.) เว้น 1
ระยะ เขียนหัวเรื่องแล้วขีดเส้นใต้หัวเรื่องนั้น
6. การทำบัตรหัวเรื่อง ให้ลงรายการต่าง ๆ เหมือนบัตรผู้แต่ง เว้นแต่บรรทัดที่ 2 (เหนือชื่อผู้แต่ง) เว้นจากบัตร 10 ระยะจึงเขียนในระยะที่ 11
คือหัวเรื่องแล้วขีดเส้นใต้ ฉะนั้นชื่อเรื่องเขียนใต้ชื่อผู้แต่งตรงกับหัวเรื่อง ส่วนแนวสืบค้น
ในบัตรหัวเรื่องไม่ต้องมี
ตัวอย่าง
1. บัตรผู้แต่ง
จำรัส น้อยแสงศรี. "ท่านรู้เรื่องโลกดีแค่ไหน." ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ 29, 1
(1 มกราคม 2525) : 10 - 15.
1. โลก. 2. ดาราศาสตร์
2. บัตรเรื่อง (บัตรหัวเรื่อง)
โลก
จำรัส น้อยแสงศรี. "ท่านรู้เรื่องโลกดีแค่ไหน." ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ 29, 1
(1 มกราคม 2525) : 10 - 15.
3. บัตรเรื่อง (บัตรหัวเรื่อง)
ดาราศาสตร์
จำรัส น้อยแสงศรี. "ท่านรู้เรื่องโลกดีแค่ไหน." ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ 29, 1
(1 มกราคม 2525) : 10 - 15.
ถ้าวารสารเล่มใดมีสภาพชำรุดมากไม่อาจให้บริการต่อไปได้ บรรณารักษ์ ห้องสมุดที่ดีควรหาวิธีใช้ประโยชน์ต่อไปอีก โดยการจัดทำกฤตภาค
และสิ่งพิมพ์อีกชนิดหนึ่งที่นำมาทำกฤตภาคได้ดี และมีประโยชน์อย่างมาก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ จึงควรทำกฤตภาค
จากทั้งวารสารและหนังสือพิมพ์
การจัดทำบริการกฤตภาค
กฤตภาค คือ การตัดเรื่องราว หรือข่าว หรือภาพดี ๆ ที่มีคุณค่าสาระประโยชน์ เป็นเรื่องที่ไม่ยาวจนเกินไป โดยตัดจากวารสารเก่า หรือ หนังสือพิมพ์เก่า ๆ
จุดประสงค์ในการทำกฤตภาค
1. เพื่อตัดรวบรวมเรื่องราวข่าว และภาพที่มีสาระน่ารู้ น่าสนใจจากหนังสือพิมพ์ และวารสารล่วงเวลาที่ไม่ต้องการใช้แล้ว
ช่วยทำให้สิ่งพิมพ์ที่เลิกใช้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
2. เพื่อเก็บรวบรวมเรื่องราว ข่าว ภาพที่ยังไม่มีลงพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ หรือมีพิมพ์ในหนังสือแล้ว แต่ยังน่าสนใจ
และมีผู้ใช้ห้องสมุดยังต้องการใช้ประกอบการค้นคว้าศึกษาหาความรู้เรื่องนั้น ๆ อีก
3. เพื่อให้ความรู้ในเรื่องราว และข่าวอันน่าสนใจที่เป็นปัจจุบัน
4. เพื่อเป็นอุปกรณ์การสอนของครูอาจารย์ หรือของนักศึกษาที่ออกฝึกสอนจะไม่ต้องทำอุปกรณ์ชนิดเดียวกับกฤตภาคที่มีแล้ว
ให้ซ้ำ ๆ อีก
5. เป็นการเพิ่มพูนวัสดุห้องสมุดในราคาถูก ลงทุนน้อยแต่ได้รับประโยชน์คุ้มค่า
6.เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการจัดนิทรรศการ โดยเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นภาพที่มีอยู่มาก
สิ่งพิมพ์ที่นำมาตัดทำกฤตภาค
1. ควรเป็นหนังสือที่ล่วงเวลาไปแล้วอย่างน้อย 7 วัน เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับในระหว่างสัปดาห์ปัจจุบัน ยังคงมีผู้ใช้ห้องสมุดต้องการอ่านอีกได้ อนึ่ง
ห้องสมุดของไทยโดยทั่วไป ไม่นิยมเก็บหนังสือไว้เป็นฉบับ ๆ เพราะทำให้
เปลืองที่ด้วยไม่มีที่เก็บ ประกอบกับงบประมาณในการที่จะเข้ารูปเล่มก็มีจำกัดอยู่แล้ว จึง พิจารณาแต่บทความสำคัญมาตัดทำกฤตภาค เท่ากับเป็นการประหยัดเวลา,
สถานที่เก็บ, แรงงาน และเงินงบประมาณอีกด้วย
2. วารสาร หรือนิตยสารเก่า ๆ ที่ชำรุด หลุดขาด ซอกซ้ำ ซึ่งไม่อาจเข้ารูป เล่มได้ อาจเป็นวารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน หรือราย 2-3 เดือนก็ได้
3. วารสาร หรือนิตยสารที่ไม่มีคุณค่าควรแก่การเย็บเล่ม แต่มีบทความหรือ สารคดีที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า ซึ่งอาจจะหาจากหนังสือไม่ได้
ก็คัดเลือกเฉพาะเรื่องที่เหมาะสม
4. สิ่งพิมพ์ที่เป็นแผ่นปลิว หรือเอกสาร ถ้าเรื่องนั้น ๆ มีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าหาความรู้
5. ปฎิทินประจำแต่ละปี ภาพโฆษณา ขององค์การ ห้างร้าน หน่วยงาน เอกชนต่าง ๆ ที่มีภาพซึ่งมีประโยชน์ต่อการศึกษา
ตัวอย่างข่าวที่ควรตัดไว้
- ข่าวการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล : การแต่งตั้งรัฐมนตรี
- ข่าวการแข่งขันกีฬา : กีฬาโอลิมปิค เอเซี่ยนเกมส์
- ข่าวการประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ : การจัดเก็บภาษี
- ข่าวเกี่ยวกับการสำรวจ : การสำรวจน้ำมัน
- ข่าวการศึกษา : การทำงานของ สปช.
- ข่าวต่างประเทศ : ลาว กัมพูชา
- ข่าวการเกษตร : การเพาะเห็ดหูหนู
- ข่าวการเมือง : การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
- ข่าวการค้นพบสิ่งใหม่ : การค้นพบดาว ธาตุ
- ข่าวทางวิทยาศาสตร์ : ยานอวกาศ การส่งดาวเทียม
- ข่าวสิ่งประดิษฐ์ใหม่ : แผ่นซีดีรอม
- ข่าวเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ : เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี
- ข่าวภายในประเทศ : การตั้งจังหวัดใหม่ เช่น จังหวัดอำนาจเจริญ การตั้งเมืองใหม่ เช่น พัทยา
- ข่าวการประชุมสภา : เปิดประชุมสภาผู้แทนฯ สมัยวิสามัญ
ตัวอย่างเรื่องราวที่ควรตัดไว้
- สถานที่สำคัญ ๆ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ประวัติบุคคลสำคัญ : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
- การค้นพบต่าง ๆ : โบราณคดีที่บ้านเก่า
- อุตสาหกรรมในครอบครัว : การทอผ้า เลี้ยงไหม
- วิธีประดิษฐ์สิ่งของ : ดอกไม้จากผ้าไหม
- บทความต่าง ๆ : งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การผลิตเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรรุ่นใหม่
- ประวัติศาสตร์ที่วไป : ประวัติแต่งกายสมัยโบราณ ประวัติศาสตร์สำคัญในจังหวัดต่าง ๆ
- วิจารณาหรือแนะนำหนังสือ : คำพิพากษาของชาติ กอบจิตติ
- การทำนา : ทำนาเกลือ เกลือสินเธาว์ ทำนากุ้ง
- การท่องเที่ยว : นำเที่ยวสถานที่ในจังหวัดกาญจนบุรี
- ประเพณีท้องถิ่น : สารทเดือนสิบ - มรดกทักษิณ
- เหตุการณ์ของท้องถิ่น : การสร้างเขื่อนน้ำโจน ฒฝนสฬ
อุปกรณ์ในการจัดทำ
- กรรไกร หรือคัตเตอร์ (Cutter)
- คลิป (Clips) ที่ใช้หนีบกระดาษ หรือเข็มหมุด
- ไม้บรรทัดทำด้วยโลหะ หรือไม้บรรทัดขอบเหล็ก
- กระดาษแข็งใช้ทำแฟ้มเก็บ หรือแฟ้มสีต่าง ๆ สำหรับเก็บเอกสาร
- ดินสอ ดินสอแดง ยางลบ หมึกสีดำ (Indian Ink)
- กระดาษโรเนียว
- กระดาษวาดเขียนแผ่นใหญ่หนา ชนิดหน้าขาวหลังเทา
- กระจกใช้รองตัดกระดาษ
- เครื่องตัดกระดาษ
- กาวหรือแป้งเปียก
- ผ้าเช็ดกาว
- หนังสือคู่มือการให้หัวเรื่อง
- กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ๆ เพื่อรองกันเปื้อนโต๊ะ
วิธีทำกฤตภาค
1. เมื่อเลือกตัดเรื่อง, ข่าว, ภาพ ได้แล้ว ให้อ่านข้อความที่ต้องการตัด โดยตลอดเพื่อให้ทราบว่า เรื่องราวนั้นจบลงในตอนใด หน้าใด
2. ตัดกระดาษโรเนียว ขนาด 3" x 5" ไว้หลาย ๆ แผ่น เพื่อจดชื่อเรื่อง ชื่อ ผู้แต่ง ชื่อวารสาร (หนังสือพิมพ์) ปีที่ ฉบับที่ วันเดือนปี และเลขหน้า เพื่อกันลืมและ
ทราบว่าตัดมาจากที่ใด แผ่นกระดาษนี้เรียกว่า ร่างบัตรบันทึกรายการ (Slip) จากนั้นกลัดไว้กับเรื่องที่ตัดต่อไป
3. ใช้กรรไกรตัดหน้าวารสาร หรือหนังสือพิมพ์ ที่มีหัวเรื่องที่ต้องการออกมา โดยตัดให้จบเรื่อง หรือตอนที่สมบูรณ์ในฉบับนั้น ๆ จะตัดครึ่ง ๆ กลาง ๆ
หรือตัดตอนมาไม่ได้
4. นำกระดาษที่จะตัดมาวางลงบนกระจกรองกันถูกโต๊ะหรือพื้น นำไม้บรรทัดวางทาบบนแผ่นเรื่องตามที่ต้องการ แล้วใช้มีดกรีดกระดาษ (Cutter)
กรีดไปตามขอบไม้บรรทัด เมื่อได้ครบแต่ละเรื่องแล้ว เรียงตามลำดับหน้าให้ถูก (ถ้าเรื่องนั้นมีต่อในหน้าอื่น)
แล้วรวบรวมกลัดติดไว้กับ Slip ที่เขียนแหล่งที่มาไว้แล้ว
5. นำเรื่องหรือข่าวที่ตัดแล้ววางบนกระดาษโรเนียว โดยกะให้เรื่องข่าวนั้น วางให้ได้ส่วนที่เหมาะกับหน้ากระดาษ คือ ให้ด้านขวาซ้ายเท่ากัน
ส่วนบนมีความกว้างมากกว่าส่วนล่าง (ทั้งนี้ส่วนบนจะต้องเขียนหัวเรื่อง) ถ้าเรื่องนั้นยาวหรือมีต่อหน้าอื่นก็ผนึกไว้ในแผ่นที่ 2-3 ต่อไป
แล้วใช้ดินสอดำทำเครื่องหมายตรงขอบเรื่องที่จะผนึก
6. ใช้กาวยางน้ำหรือแป้งเปียกทาตามขอบเรื่อง ข่าว ด้านหลังประมาณสัก 1 ซ.ม. หรือครึ่งนิ้ว ทั้ง 4 ด้าน แล้วค่อย ๆ วางแผ่นกระดาษเรื่อง
ข่าวนั้นลงบนกระดาษโรเนียวตามตำแหน่งที่ใช้ดินสอทำเครื่องหมายไว้
7. ใช้ไม้บรรทัดค่อย ๆ รีดขอบชิ้นเรื่อง ข่าว ให้เรียงเสมอกันทั้ง 4 ด้าน ระวังอย่าให้โป่งตรงกลาง หรือเป็นรอยย่นตามขอบเรื่อง
ถ้ากาวนั้นเปื้อนออกมาพ้นขอบ เรื่องก็ใช้ผ้าเช็ดกาวค่อยๆ เช็ดออก ถ้าเช็ดแรงจะทำให้กระดาษลอก หรือเป็นรอย
ด่างสกปรกได้และควรจะวางผึ่งลงไว้ให้แห้งสนิทก่อนที่จะนำไปเก็บในแฟ้ม
8. ในกรณีที่เป็นภาพ ควรเก็บเป็นของถาวรโดยผนึกภาพบนกระดาษแข็ง ถ้าเป็นภาพใหญ่ เช่น ภาพในสกุลไทย (ศิลปวัฒนธรรมหรือบ้านเมืองของเรา)
ซึ่งเป็นภาพใหญ่เต็มหน้าก็จะต้องผนึกภาพลงบนกระดาษวาดเขียน (ชนิดหน้าขาว หลังเทา) โดยตัดกระดาษนั้น ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 10" x 15" หรือขนาด 9" x 13
" หรือ 10" x 14" เมื่อผนึกภาพลงแล้วจะเหลือส่วนสุด ของหน้ากระดาษวาดเขียนพอที่จะเขียนหัวเรื่องลงได้พอดี
9. ส่วนล่างของกฤตภาพ ต้องบอกแหล่งที่มาให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้ใช้ห้องสมุดเชื่อถือในเรื่องหรือข่าว มีปรากฎในกฤตภาคทั้งจะได้ทราบข่าว
บทความหรือเรื่องนั้น ๆ มีนานเพียงไร ยังทันสมัยหรือไม่ การบอกแหล่งที่มาก็นิยมใช้อักษรย่อ แต่ชื่อ
วารสารหนังสือพิมพ์ ให้บอกชื่อเต็ม
10. ให้หัวเรื่องกฤตภาค โดยเขียนไว้ด้วยดินสอที่มุมซ้ายบนกระดาษโรเนียวเก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มเป็นเรื่อง ๆ จัดเรียงลำดับตัวอักษรในตู้จุลสาร
หรือจัดเรียงไว้บนชั้น
11. เขียนบัตรกฤตภาพเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ห้องสุมดทราบเพื่อสะดวกในการค้นต่อไป
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com