1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การกำหนดชนิดของการให้บริการและกิจกรรมของห้องสมุด

บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนควรต้องศึกษานโยบายและวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานห้องสมุดก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนโครงการการให้บริการห้องสมุด ให้เหมาะสมสำหรับห้องสมุดประชาชนสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน จำเป็นจะต้องศึกษา หน้าที่ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน และนโยบายการจัดการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อที่ บรรณารักษ์จะได้เกิดความเข้าใจในขอบเขตของการให้บริการ

หน้าที่ของกรมการศึกษนอกโรงเรียน

หน้าที่และความรับผิดชอบ

    1. จัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อแก้ไขการไม่รู้หนังสือ ให้การศึกษาทดแทนแก่ผู้ที่ไร้โอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียน ให้การฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น จัดบริการส่งเสริมการอ่าน จัดพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษา การศึกษาทางสื่อมวลชน จัดการศึก ษานอกโรงเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถ การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน การพัฒนาชุมชน และความเป็นพลเมืองในระบบประชาธิปไตย
    2. วางแผนวิจัย พัฒนาและฝึกอบรมเกี่ยวกับงานการศึกษานอกโรงเรียน ประสานงานการศึกษานอกโรงเรียนทั้งของรัฐ และของเอกชน
    3. อุดหนุนส่งเสริมและให้บริการการศึกษานอกโรงเรียนแก่หน่วยงานอื่นในรูปการอุดหนุนการฝึกอบรมพัฒนาหลักสูตร และวัสดุอุปกรณ์ การประชุมสัมมนาเพื่อปรับปรุงการศึกษานอกโรงเรียน (กระทรวงศึกษาธิการ 2526:41)

จากหน้าที่ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าหน้าที่ที่สำคัญคือ การแก้ไขการไม่รู้หนังสือ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของห้องสมุดเช่นเดียวกันในการหาวิธีการการให้บริการให้สอดคล้อง กับวัตถุประสงค์ของห้องสมุดและการศึกษานโนยายการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ของกรมการศึกษานอกโรง เรียนอีกด้วย

นโยบายการจัดการศึกษานอกโรงเรียนของกรมการศึกษานอกโรงเรียน มีดังต่อไปนี้

    1. เร่งจัดและสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลมีโอกาสได้รับการศึกษาตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสรับการศึกษาในระบบโรงเรียน
    2. ให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อให้การศึกษานอกโรงเรียนเป็นการศึกษาที่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
    3. จัดรูปแบบและเนื้อหาวิชาทั้งด้านสามัญและอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
    4. ส่งเสริมให้หน่วยงานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน มีการวิจัยติดตามและ สร้างเสริมมาตรฐานเหมาะสมกับชุมชน ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
    5. ส่งเสริมให้สื่อมวลชนต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้มีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาทั้งใน และนอกโรงเรียนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะใช้สถานีวิทยุที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศจัดรายการเพื่อเผยแพร่ความรู้ของประชาชนให้มากขึ้น โดยเน้นรายการที่เป็นประโยชน์ แก่การดำรงชีพคุณธรรมและสร้างทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน
    6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่น เอกชน กลุ่มชน ร่วมรับภาระในการให้บริการเด็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะในชนบท ในแหล่งเสื่อมโทรมและในชนบทที่หนาแน่นพร้อมทั้งเร่งส่งเสริมให้ความรู้แก่บิดามารดาในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยอาศัยสื่อมวลชนและสถาบัน ทั้งของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
    7. ปรับปรุงคุณภาพของการศึกษานอกโรงเรียน โดยเน้นด้านบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญในการจัดการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการจัดสรรและใช้ทรัพยากรสำหรับการศึกษานอกโรงเรียนให้เหมาะสม
    8. เร่งรัดและหาทางให้ธุรกิจเอกชน มูลนิธิและสมาคมมีบทบาทร่วมมือกับรัฐในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้มากยิ่งขึ้น
    9. ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษานอกโรงเรียนไปยังส่วนภูมิภาค และปรับปรุงการบริหารในระดับจังหวัด ให้คล่องยิ่งขึ้น
    10. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถ และมีโอกาสที่จะร่วมในการดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อให้ตรงกับความต้องการ และเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนแต่ละท้องถิ่น
    11. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับและทุกประเภทในบริการทาง การศึกษานอกโรงเรียนให้แก่ประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น
    12. ส่งเสริมและจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้มีความประสานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการศึกษาในโรงเรียน และเสริมสร้างให้ต่อเนื่องเพียงพอกับสิ่งที่การศึกษาในระบบได้สร้างความรู้พื้นฐานไว้
    13. เร่งปรับปรุงกลไกการจัดการศึกษานอกโรงเรียนในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเองแท้จริง (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2526:2-3)

จากนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียนดังกล่าวข้างต้นบรรณารักษ์ห้องสมุด ประชาชนจะต้องหาวิธีการให้บริการต่าง ๆ ภายในห้องสมุดเพื่อสนองนโยบาย ถึงแม้ว่าจะมี กองและศูนย์ต่าง ๆ ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนทำหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เป็นห้องสมุดประชาชนจำเป็นต้องมีวิธีการต่าง ๆ มากมายในการช่วยประสานงานซึ่งเป็นภาระ หน้าที่ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้

นโยบายการจัดการศึกษานอกโรงเรียนข้อที่ 10 เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่ห้องสมุดประชาชนจะต้องจัดดำเนินการในห้องสมุด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับและทุกประเภทให้บริการทางการศึกษานอกโรงเรียนแก่ประชาชน เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่และนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียนแล้ว ห้องสมุดประชาชนควรจัดงานบริการห้องสมุด เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

    1. งานบริการทั่วไปในฐานะที่เป็นห้องสมุดประชาชน
    2. งานบริการในฐานะที่เป็นสถานศึกษาสนองนโยบายของกรมศึกษานอกโรงเรียน

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com