1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การทำบัตรรายการหนังสือ

บัตรรายการหนังสือ คือ บัตรที่บรรณารักษ์ได้บันทึกข้อความสำคัญเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ห้องสมุดลงไว้ แล้วนำมาเรียงลำดับเข้าด้วยกันในตู้บัตรรายการตามอักษรตัวแรกในบัตรเพื่อเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดทราบเรื่องราวที่ต้องการ อ่านหรือค้นคว้ามีอยู่ในห้องสมุดหรือไม่ และบรรณารักษ์ได้จัดไว้ให้ใช้ ณ ที่ใด (อัมพร ทีขะระ 2523:54)

บัตรรายการจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อ่านหลายวิธี เช่น

    1. ช่วยให้ทราบว่าห้องสมุดมีหนังสือชื่อนั้น ๆ แต่งโดยคนนั้น ๆ หรือไม่
    2. ช่วยให้ทราบว่า ในห้องสมุดมีหนังสือที่เกี่ยวกับวิชานั้น ๆ หรือไม่
    3. ช่วยให้ทราบรายละเอียด และลักษณะรูปเล่มของหนังสือนั้น ๆ
    4. ช่วยให้ทราบนามจริงของนามแฝงของผู้แต่งคำประพันธ์

บัตรรายการหนังสือที่ใช้กันในปัจจุบันใช้กระดาษหนาประมาณ 250 ปอนด์ ขนาดมาตรฐาน 3 x 5 นิ้ว หรือ 7.5 x 12.5 เซนติเมตร ด้านล่างของบัตรเจาะรูสำหรับร้อยบัตรเข้าลิ้นชักตู้บัตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาร 1/4 นิ้ว หนังสือเล่มหนึ่งจะมีบัตรรายการ มากน้อยไม่เท่ากัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หนังสือเล่มหนึ่งจะมีบัตรอย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่

    1. บัตรผู้แต่ง (Author Card) หรือบัตรหลัก (Main Card) หรือบัตรยืนพื้น
    2. บัตรชื่อเรื่อง (Title Card)
    3. บัตรเรื่อง หรือบัตรหัวเรื่อง (Subject Card)
    4. บัตรแจ้งหมู่หนังสือ หรือบัตรทะเบียนหนังสือ (Shelflist Card)

เราเรียกบัตรรายการแต่ละประเภท ตามรายการที่ปรากฎบนบรรทัดแรกของแต่ละบัตร เช่น

บัตรผู้แต่ง - จะปรากฎผู้แต่งบนบรรทัดแรก
บัตรชื่อเรื่อง - จะปรากฎชื่อหนังสือบนบรรทัดแรก
บัตรเรื่อง - จะปรากฎหัวเรื่องบนบรรทัดแรก
บัตรแจ้งหมู่ - มีลักษณะเหมือนบัตรผู้แต่ง ต่างกันเพียงแต่ไม่มีแนวสืบค้น แต่จะปรากฎเลขทะเบียนของหนังสือนั้นแทน เราจะพบว่าหนังสือบางเล่ม อาจจะมีเกิน 4 บัตรก็ได้ เช่น บัตรเพิ่ม (Added Card) บัตรโยง (Reference Card) หรือบัตรจำแนก (Analytic Card)

หลักการลงบัตรรายการ

ขั้นแรกของการทำบัตรรายการ จะต้องเริ่มจากการทำบัตรผู้แต่ง หรือบัตรยืนพื้นเสียก่อน เพราะจะใช้เป็นหลักในการทำบัตรเพิ่ม ทุกชนิด

ตัวอย่างโครงร่างบัตรรายการ

บัตรผู้แต่ง (บัตรหลัก, บัตรยืนพื้น)

เลขเรียก/// ชื่อผู้แต่ง
หนังสือ /////// ชื่อเรื่อง ชื่อเรื่องย่อย หรือชื่อเรื่องเผื่อเรียก /
////////// ข้อความเพิ่มเติมผู้แต่ง และชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง. --
////////// พิมพ์ครั้งที่.--สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์.
///////////// จำนวนหน้าและเล่ม :ภาพประกอบ ; และอื่น ๆ.
///////////// หมายเหตุข้อความ.
///////////// สารบาญ.
///////////// แนวสืบค้น

รายการต่าง ๆ ในบัตรยืนพื้น

    1. รายการหลัก (Main Entry) หมายถึง
    1.1 ชื่อผู้แต่ง (Author) ซึ่งหมายถึงชื่อบุคคล (Personal Name) หรือชื่อองค์การ (Corporate Name)
    1.2 ชื่อเรื่อง (Title) หรือชื่อเรื่องแบบฉบับ (Uniform Title) เมื่อไม่สามารถหาหรือใช้ชื่อผู้แต่ง ลงเป็นรายการหลักได้

    2. รายการตัวบัตร (Main Body) ได้แก่
    2.1 ชื่อเรื่อง รวมชื่อเรื่องย่อย (Title, Subtitle) และชื่อเรื่องเผื่อเรียก
    2.2 ชื่อผู้แต่งร่วม (Joint Author)
    2.3 ชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Subsidiry Name) เช่น ชื่อบรรณาธิกรณ์ (Editor) ผู้แปล (Translator) ผู้วาดภาพ (Illustrator)
    2.4 ครั้งที่พิมพ์ (Edition Statement) เช่น ฉบับแก้ไขปรับปรุง พิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เป็นต้นไป
    2.5 พิมพลักษณ์ (Imprint) ประกอบด้วย
    - สถานที่พิมพ์ (Place of Publication)
    - สำนักพิมพ์ (Name of Publisher)
    -ปีที่พิมพ์ (Date of Publication) รวมทั้งปีลิขสิทธิ์ (Copyright date)

    3. บรรณลักษณ์ (Collation) ประกอบด้วย
    3.1 จำนวนหน้า หรือจำนวนเล่ม (Pagination of number of volumes)
    3.2 ภาพประกอบ, ตาราง, แผนที่ ฯลฯ
    3.3 ความสูงของหนังสือจะพบในรายการหนังสือภาษาอังกฤษ

    4. ข้อความชื่อชุด (Series Statement)
    5. หมายเหตุข้อความ (Notes) ส่วนสำคัญที่ผู้ใช้ควรทราบและสามารถไปลงในส่วนอื่น ๆ ได้
    6. แนวสืบค้น (Tracing) ประกอบด้วย
    6.1 หัวเรื่อง (Subject Heading)
    6.2 รายการเกี่ยวกับผู้แต่ง หรือส่วนเพิ่มต่าง ๆ (Added Entries) เช่น ผู้แต่งร่วม, ผู้แปล, ผู้วาดภาพประกอบชื่อเรื่อง ฯลฯ รวมชื่อองค์การที่เกี่ยวข้องด้วย
    6.3 ชื่อชุด (Series)

    7. เลขเรียกหนังสือ (Call Number) ประกอบด้วย
    7.1 เลขหมู่ (Classification Number)
    7.2 เลขผู้แต่ง (Author Number) และอักษรย่อชื่อหนังสือ (Work Mark)

    การเว้นระยะหลังเครื่องหมาย
    หลังเครื่องหมายจุลภาค (,) เว้น 1 ระยะ
    " อัฑฒภาค (;) เว้น 1 ระยะ " ทวิภาค (:) เว้น 1 ระยะ
    " มหัพภาค (.) เว้น 2 ระยะ ยกเว้นหลังจุดของอักษรย่อ หรือส่วนที่ไม่ได้แสดงการจบประโยคหรือ ข้อความให้เว้น 1 ระยะ

    เกณฑ์การพิจารณา การลงรายการในส่วนต่าง ๆ

    การพิจารณารายการสำคัญ (Main Entry)
    รายการสำคัญส่วนใหญ่เป็นชื่อคน ถ้ามีผู้แต่งตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะนำชื่อคนแรกในรายการสำคัญ หนังสือที่สมาคม สโมสร หน่วยงาน จัดพิมพ์ขึ้นเป็นรายการสำคัญสำหรับนามแฝง ถ้าทราบชื่อจริงให้ใส่ชื่อจริงในราชการสำคัญ และทำบัตรโยงจากนามแฝงมายัง นามจริง แต่ถ้าไม่ทราบชื่อจริง จำเป็นต้องใส่นามแฝงแทนนามจริง
    หนังสือแปล ในการทำบัตรรายการต้องใช้ชื่อผู้แต่งเดิมเป็นรายการสำคัญทำบัตรเพิ่มให้ผู้แปลด้วย เช่น
    น //////// คริสตี้, อกาธา.
    ค173ซ ////// ซ้อนกลฆาตกรรม แปลจาก Sittaford Mystert / โดย
    ก. อัศวเวศน์ (นามแฝง) .-- กรุงเทพมหานคร : กาญจนา,
    ม.ป.ป.
    ////////////// 391 หน้า.
    ////////////// 1. ชื่อเรื่อง. 2. ก. อัศวเวศน์ (นามแฝง), ผู้แปล.

    หนังสือที่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง (Annonymous Work)

    หนังสือที่ไม่บอกไว้ในหนังสือว่าใครเป็นผู้แต่ง หรืออาจจะเป็นหนังสือเก่าโบราณมาก เรียกว่า วรรณกรรมคลาสสิค ถ้าเป็นการสันนิษฐานว่าใครแต่งก็อาจลงชื่อคนนั้นเป็นรายการสำคัญไว้แล้วใส่วงเล็บไว้ดังนี้ (ศรีปราชญ์)

    แบบฟอร์มต่าง ๆ ในการลงรายการสำคัญ
    เหตุที่ต้องมีแบบฟอร์มเพราะ
    1. เพื่อความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย
    2. เพื่อความสะดวกในการค้นคว้า เพราะจะได้หาง่าย เช่น ผลงานของคนคนเดียวกัน แต่ใช้นามปากกาหลายนามปากกา
    3. ผู้ใช้ห้องสมุดจะได้ใช้หนังสือเต็มที่
    4. สะดวกในการจัดทำบัตรรายการ

    หลักการลงแบบฟอร์ม (อัมพร ทีขะระ 2523: 176-196)

    1. ชื่อบุคคลธรรมดา
    ผู้แต่งคนไทยที่เป็นสามัญชนทั้งบุรุษและสตรีไม่ลงคำนำนาม เช่น นาย นาง นางสาว อาจารย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฯลฯ หรือต่อท้ายชื่อด้วยปริญญา ตำแหน่งงาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ยกเว้นคำนำนามเพื่อเป็นเกียรติยศแก่สตรี ในสมัยที่ยังไม่มีนามสกุล ลงเฉพาะชื่อตัว เช่น
    วรรณ
    สวน
    เมื่อมีการใช้นามสกุลแล้วให้ลงชื่อ สกุลตามลำดับ เช่น
    ป๋วย อึ้งภากรณ์
    เสฐียร พันธรังษี
    ประชา พูนวิวัฒน์
    ถ้าผู้แต่งมีชื่อรองคั่นระหว่างชื่อตัวกับนามสกุล หรือใช้สองนามสกุลคู่กัน ก็ลงไปตามลำดับ
    ชวน ธนากร ขำสุวัฒน์
    วงศ์ ธวัชชัย พุกประยูร
    สตรีที่แต่งงานแล้ว ให้ลงชื่อและนามสกุลที่ใช้หลังสุด
    กัณหา เคียงศิริ
    ชูวงศ์ ฉายะจินดา
    วิมล เจียมเจริญ
    สุกัญญา ชลศึกษ์
    ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม ลงราชทินนามก่อน คั่นด้วยจุลภาค แล้วจึงลงบรรดาศักดิ์ครั้งหลังสุด รวมทั้งผู้ที่เคยมีแล้วเลิกใช้ชั่วระยะแล้วกลับมาใช้ใหม่อีก เช่น
    อนุมานราชธน, พระยา
    สุวรรณวาจกกสิกิจ, หลวง
    วิจิตรมาตรา, ขุน
    ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา
    สารประเสริฐ, หลวง (นุช)
    สารประเสริฐ, พระ (ตรี นาคะประทีป)

    สตรีที่มีสิทธิ์ใช้คำนำนามว่า คุณ คุณหญิง ท่านผู้หญิง หม่อม เป็นเกียรติยศตามพระราชกฤษฎีกา ให้ลงชื่อนามสกุล หรือราชทินนามของสามีก่อน ส่วนคำนำหน้านามกลับมาไว้ข้างหลัง เช่น
    ดุษฎี มาากุล ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง
    พัว, อนุรักษ์ราชมณเฑียร, คุณหญิง
    จินตนา ยศสุนทร, คุณหญิง
    พุ่ม, คุณ
    ผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา, หม่อม
    ดุษฎี บรพัตร, หม่อม
    ผู้แต่งที่มียศทางทหาร ตำรวจ ลงยศหลังสุดไว้หลังนามสกุล เช่น
    นิจ ทองโสภิต, พ.อ.
    สวัสดิ์ จันทนี, น.อ.
    สำหรับผู้ที่ใช้ทั้งยศ บรรดาศักดิ์ ราชทินนาม ให้ลงราชทินนามก่อน ตามด้วยยศ บรรดาศักดิ์
    วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง
    พระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี ให้ลงพระนามที่ใช้ในทางราชการ ตามด้วยพระนามที่ใช้กันแต่ละพระองค์
    นารายณ์มหาราช, สมเด็จพระ
    บรมไตรโลกนาถ, สมเด็จพระ
    พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระ
    พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ
    จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ
    ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระ
    สิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้า
    บรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระ
    พระบรมวงศานุวัตติวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า ฯลฯ
    นริศรานุวัตติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยา
    จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า
    ชุมพรเขตอุดมศักดิ์, กรมหลวง
    ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา
    สมมตอมรพันธ์, กรมพระ
    นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ (พระองค์เจ้าวรรณกร)
    พิทยลาภพฤติยากร, กรมหมื่น (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ)
    พิทยาลงกรณ, กรมหมื่น (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส)
    สวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร, ม.จ.
    เติบ ชุมสาย, ม.ล.
    บุษผา นิมานเหมินทร์, ม.ล.

    ชื่อพระสงฆ์ในพุทธศาสนา
    ปรมานุชิตชิโนรส, กรมสมเด็จพระ
    วชิรญาณวโรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา
    วชิรญาณวงศ์, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฐายี)
    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)
    พระราชชัยกวี (เงื่อม อันฺทปญโญ)
    พระครูธรรมศร (คำ ปนาโท)
    พระมหาพิณ กิตฺติปาโล

    ผู้แต่งชาวต่างประเทศ
    ชาวตะวันตก ลงนามสกุล ตามด้วยชื่อตัว
    สไตน์เบค, จอห์น
    ปาสเตอร์แนก, บอริส

    ชาวฝรั่งเศส ลงคำเติมหน้าที่เป็นคำนำหน้านาม
    เลอบลัง. โมริช
    ดูมาส์, อเล็กซังดร์
    โมปัสซังค์, กีย์ ซีมอง เตอ

    ชาวเยอรมัน ฮอลันดา และชาวสวีเดน ลงนามสกุลก่อน เช่น
    เกอเต้, โจฮัน โวลฟกัง ฟอน
    ฟลิต, เยเรเมียส ฟอน

    การลงชื่อเหล่านี้ในบัตรรายการภาษาไทยใช้สะกดตามความนิยมในการอ่านออกเสียงโดยใช้หนังสือเล่มแรกที่เข้ามา ในห้องสมุดเป็นหลัก
    ชาวมลายู
    อับดุล ราห์มาน, ตวนกู
    อับดุล ราซัค, ตุน
    ชาวพม่า
    หยุ่น
    อองซาน
    ชาวอินเดีย
    วาลมิกิ
    คานธี, โมทันมาส การามจันทร์
    คานธี, อินทิรา
    เนห์รู, เยาวหลาล
    ตากอร์, เซอร์ รพินทรนาถ
    สัตยานันทบุรี
    ชาวจีน
    ลิน, ยู ถัง
    ลี, กวนยิว
    ชาวญี่ปุ่น
    คาวาบาตะ, ยาสูนารี
    อิชิอิ, โยเนโอะ

    2. ชื่อผู้แต่งที่เป็นิติบุคคล
    - ชื่อเฉพาะทั่วไป
    กลาโหม, กระทรวง
    ศึกษาธิการ, กระทรวง
    ประชาสัมพันธ์, กรม
    ห้องสมุดแห่งประเทศไทย, สมาคม
    รามคำแหง, มหาวิทยาลัย
    เชตุพลวิมลมังคลาราม, วัด
    ศรีนครจำกัด, ธนาคาร
    สงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัย
    สถิติแห่งชาติ, องค์การ
    สหประชาชาติ, องค์การ
    นายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียน
    - ชื่อเฉพาะคำสมาส
    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    มหามกุฎราชวิทยาลัย
    สยามสมาคม
    วชิรพยาบาล
    - ชื่อนิติบุคคลที่เป็นชื่อภูมิศาสตร์
    เชียงใหม่, มหาวิทยาลัย
    ยะลา, จังหวัด
    นครศรีธรรมราช, วิทยาลัยครู
    อินเดีย, สถานเอกอัครราชฑูต
    - ชื่อเฉพาะที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์
    สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
    การรถไฟแห่งประเทศไทย
    ธนาคารแห่งประเทศไทย
    สภาผู้แทนราษฎร
    - ชื่อย่อที่รู้จักแพร่หลาย ต้องลงชื่อเต็มและชื่อทางราชการ
    พระศรีรัตนศาสดาราม, วัด
    คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
    กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
    - หน่วยงานย่อย ให้ลงชื่อหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ตามด้วยหน่วยงานย่อย
    ศึกษาธิการ, กระทรวง. สำนักงานปลัดกระทรวง.
    สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. สำนักงานปลัด. กองกลาง.
    หนังสือที่ไม่แจ้งปีที่พิมพ์ไว้ในเล่ม ลงรายการว่า (ม.ป.ป.)

    การลงบรรณลักษณ์

    บรรณลักษณ์ คือ ลักษณะของหนังสือ ประกอบด้วย จำนวนหน้า ตาราง หรือ ภาพประกอบ ชื่อชุด และขนาดรูปเล่มของหนังสือ ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการค้นหาหนังสือ จำนวนหน้า ลงต่อจากพิมพลักษณ์ ย่อหน้าให้ตรงกับชื่อเรื่อง

    การลงแนวสืบค้น

    แนวสืบค้น คือ รายการที่ลงไว้เป็นบัญชีว่าห้องสมุดจะต้องทำบัตรชนิดใดบ้างเพิ่ม จากบัตรหลัก หรือบัตรยืนพื้น การลงรายการส่วนใหญ่จึงใช้เลขลำดับแต่ละตอนเพื่อแสดงจำนวนบัตรเพิ่ม ได้แก่ หัวเรื่อง หนังสือที่มีเนื้อเรื่องครอบคลุมหลายเรื่อง หลายวิชา ก็ต้องพิมพ์บัตรเพิ่ม ตามหัวเรื่องนั้น ๆ และพิมพ์ด้วยตัวสีแดงเพื่อให้เห็นเด่นชัดและต่างไปจากบัตรอื่น ชื่อบุคคลที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือใช้ลำดับความรับผิดชอบ คือ ผู้แต่งร่วม ผู้แปล ผู้แปลร่วม ผู้เขียนภาพประกอบ คำว่า "ชื่อเรื่อง" หมายถึง ชื่อของหนังสือตามหน้าปกใน คำว่า "ชื่อชุด" หมายถึง ข้อความที่เป็นชื่อชุดหนังสือตามที่ลงไว้ต่อจากบรรณลักษณ์ การโยงข้อความที่ปรากฎในหนังสือ แต่ไม่ได้ลงรายการสำคัญ เช่น นามแฝง ให้ใช้เครื่องหมาย + ลงไว้หน้าส่วนนี้ของแนวสืบค้น

    + กฤษณา อโศกสิน
    + โลหกิจ, กรม

    การพิจารณาลงรายการชื่อเรื่อง

      1. ชื่อเรื่อง จะต้องคัดมาจากหน้าปกในของหนังสือเท่านั้น
      2. หนังสือที่ไม่มีหน้าปกในให้ใช้ชื่อที่ปรากฎบนปกหนังสือหรือส่วนอื่น ๆ ได้
      3. ชื่อหนังสือที่ยาวเกินไป อาจจะตัดข้อความบางตอนที่ไม่จำเป็นออกได้ โดยใส่เครื่องหมาย....... แสดงว่ามีการตัดข้อความออกไป เช่น วิชาชีพเกษตรกรรมเมืองไทย...
      4. หนังสือที่ชื่อเรื่องมีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ให้ลงชื่อเรื่องไทย ตามด้วยชื่อเรื่องต่างประเทศ

    การลงพิมพลักษณ์

    พิมพลักษณ์ หมายถึง ลักษณะการพิมพ์ของหนังสือ ได้แก่ ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ และปีที่พิมพ์ ครั้งที่พิมพ์ การลงครั้งที่พิมพ์ต่อจากชื่อเรื่องแล้วใส่เครื่องหมายมหัพภาค เมื่อจบข้อความ การลงเฉพาะการพิมพ์ครั้งที่ 2 ขึ้นเป็นต้นไป ตัวอย่าง

      พิมพ์ครั้งที่ 2. แก้ไขเพิ่มเติม.
      สถานที่พิมพ์ ได้แก่ เมือง เช่น เชียงใหม่ สงขลา ยะลา โตเกียว นิวยอร์ค ฯลฯ กรุงเทพมหานคร (สำหรับห้องสมุดบางแห่ง ไม่ลงหนังสือที่พิมพ์ในกรุงเทพมหานคร เพราะหนังสือส่วนมากพิมพ์ในกรุงเทพมหานคร ใส่เฉพาะหนังสือที่พิมพ์ในต่างจังหวัด) ปีที่พิมพ์ ลงเฉพาะตัวเลขของปีนั้น นอกจากว่าเป็นศักราชอย่างอื่นจึงใส่ คำว่า ค.ศ. ร.ศ. กำกับด้วย
      , 2508.
      , ค.ศ. 1979.
      , ร.ศ. 112.
      ปีที่พิมพ์หาได้จากหน้าปกใน ถ้าได้จากส่วนอื่น ๆ ของหนังสือมักจะใส่เครื่องหมายวงเล็บกำกับไว้

    ประเภทของบัตรรายการ

    บัตรรายการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ด้วยกันคือ

      1. บัตรหลัก หรือบัตรยืนพื้น
      2. บัตรเพิ่ม
      3. บัตรแจ้งหมู่หนังสือ

    1. บัตรยืนพื้น (Unit Card) หรือบัตรหลัก (Main Card) หรือบัตรผู้แต่ง (Author Card) เป็นบัตรที่บรรณารักษ์จะทำขึ้นมา เป็นบัตรแรก เพื่อใช้เป็นหลักในการทำบัตรเพิ่มอื่น ๆ โดยทั่วไป ได้แก่ บัตรผู้แต่ง แต่ในบางกรณีอาจจะเป็นชื่อเรื่องแทนก็ได้ เพราะฉะนั้น บางครั้งชื่อเรื่องก็อาจจะเป็นบัตรยืนพื้นได้

    2. บัตรเพิ่ม (Added Card) คือบัตรที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการค้นหาหนังสือ ในกรณีที่จำรายการของหนังสือที่ต้องการไม่ครบ บัตรเพิ่มมีหลายชนิด เช่น บัตรเพิ่มชื่อบุคคล เช่น บัตรผู้แต่งร่วม บัตรผู้แปล บัตรผู้วาดภาพ บัตรชื่อเรื่อง (Title Card) บัตรเรื่อง (Subject Card) บัตรชื่อชุด (Series Card) บัตรโยง (Cross-reference Card) บัตรจำแนก (Analytical Card) จำแนกรายละเอียดหนังสือ ฯลฯ

    3. บัตรแจ้งหมู่หนังสือ (Shelf List Card) คือบัตรที่มีข้อความอย่างเดียวกับบัตรยืนพื้น ยกเว้นไม่ลงรายการหมายเหตุรายละ เอียดอื่น ๆ แต่เพิ่มรายการทะเบียนหนังสือ บัตรแจ้งหมู่หนังสือ จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของบรรณารักษ์ในการตรวจสอบ จำนวนหนังสือของแต่ละหมวดหมู่วิชา ตลอดจนการสำรวจหนังสือของแต่ละปี และการทำบรรณานุกรม

    ตารางหนังสือ

    ห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เวลาทำบัตรรายการหนังสือมักไม่นิยมการให้เลขผู้แต่งหนังสือ (Author Number) เพราะหนังสือมีจำนวนน้อย จึงนิยมให้แต่อักษรตัวแรกชื่อผู้แต่ง ตามด้วยอักษรตัวแรกชื่อหนังสือเท่านั้น เพื่อประโยชน์ต่อการใช้เลขผู้ แต่งหนังสือ บรรณารักษ์อาจดัดแปลงตารางเลขหนังสือข้างล่างนี้เป้นคู่มือในการให้เลขผู้แต่งหนังสือ และเหมาะสำหรับห้องสมุด ประชาชนจังหวัด

    ตารางเลขหนังสือ (สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ 2510 : 162-163) (ถ้าจะใช้อักษรตัวอื่น ให้เปลี่ยนอักษร ก ตัวหน้าได้ตามที่ต้องการ)

    กก, กข, กค - 11
    กง, กจ, กฉ, กช, กซ, กฌ - 12
    กญ, กฎ, กฏ, กฐ, กฑ, กฒ - 13
    กณ, กด, กต, กถ, กท, กธ - 14
    กน, กบ, กป, กผ, กฝ - 15
    กพ, กฟ, กภ, กม, กย - 16
    กร, กล, กว - 17
    กศ, กษ, กส - 18
    กห, กฬ, กอ, กฮ - 19
    สระ โอะ ลดรูป

    ะ 1

    ำ 2
    เ 4
    เ-ะ 5
    เ-า
    เ-าะ 6

    เ เ-
    เ เ- 7
    แ, แ-ะ
    โ, โ-ะ 8


    ฤ 9

    เลขสัญลักษณ์ของพยัญชนะ 9 พวก
    ก ข ค ฆ - 1
    ง จ ฉ ช ซ ฌ - 2
    ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ - 3
    ณ ด ต ถ ท ธ - 4
    น บ ป ผ ฝ - 5
    พ ฟ ภ ม ย - 6
    ร ล ว - 7
    ศ ษ ศ - 8
    ห ฬ อ ฮ - 9
    ฤ ภ -10

    ตัวอย่างการให้เลขผู้แต่ง

    เลขผู้แต่งของ สุกัญญา ชลศึกษ์ ได้แก่ 841
    (กฤษณา อโศกสิน)
    เลขผู้แต่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แก่ 131
    เลขผู้แต่งของ ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน ได้แก่ 173

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com