1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

งานประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์ของห้องสมุด คือ การแนะนำเชิญชวน ชักชวน ชักจูง ให้บุคคลอื่นใดได้รู้จักห้องสมุด เป็นการสนับสนุน กิจการของห้องสมุด ให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป เพื่อความก้าวหน้าของห้องสมุด อันจะมีผลไปถึง การพัฒนาประชากรในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย การประชาสัมพันธ์ในห้องสมุดเปรียบเหมือน การสารนิเทศ (Information) ในการให้ บริการข่าวสาร หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ แก่ประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้า ใจแก่ประชาชนหรือผู้นำติดต่อเกี่ยวข้องด้วย (วิรัช ลภิรัตนกุล 2524 : 26) ฉะนั้น บรรณารักษ์ที่หวังความเจริญก้าวหน้าของงาน จึงควรพิจารณาถึงการประชาสัมพันธ์งานห้องสมุด ในฐานะที่ห้องสมุดมีหน้าที่ ให้บริการแก่ประชาชนผู้ใช้ และติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจ และ เผยแพร่ให้ผู้ใช้บริการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึง กิจการต่าง ๆ ของห้องสมุดว่ามีอะไร บริการแก่ผู้ใช้บ้าง ห้องสมุดในปัจจุบันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และเห็นความสำคัญของห้องสมุดเท่าใดนัก ประชาชนยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะขวนขวายหาความชำนาญจากประสบการณ์ที่ผู้อื่น ประสบความสำเร็จแล้วมาช่วยแก้ ปัญหาในชีวิตประจำวัน การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของ ห้องสมุด ที่มีต่อประชาชนจึงมีความจำเป็นสำหรับห้องสมุดอย่างยิ่ง

วัตถุประสงค์ของงานประชาสัมพันธ์

วัตถุประสงค์โดยทั่วไปของการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด มีดังนี้ คือ

    1. เพื่อรายงานหรือแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของห้องสมุด
    2. เพื่อให้คนรู้ว่าห้องสมุดอยู่ที่ไหน
    3. เพื่อให้คนรู้ว่าเป็นห้องสมุดชนิดใด
    4. เพื่อให้คนรู้ว่ามีสิ่งที่จะสนองความต้องการและให้ความสะดวกอะไร
    5. เพื่อให้คนรู้ว่ามีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง
    6. เพื่อให้คนเรู้ว่ามีบริการอะไรที่จัดไว้เสมอบ้าง
    7. เพื่อให้คนสนับสนุนกิจการห้องสมุดให้เจริญก้าวหน้า
    8. เพื่อปลูกฝังความนิยม เลื่อมใสในงานห้องสมุด
    9. เพื่อช่วยชักจูงบุคคลที่ไม่สนใจการอ่านให้เริ่มอ่าน
    10. เพื่อส่งเสริมทัศนศึกษาและการหาความรู้ทั่วไป
    11. เพื่อเสนอข่าวสารแก่สมาชิกและผู้สนใจให้ทราบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของกิจการห้องสมุด
    12. เพื่อแนะนำให้เข้าใจต่อการปฎิบัติและระเบียบการใช้ห้องสมุด (ชลัช ลียะวณิช 2520: 21-22)
    13. เพื่อแจ้งสิ่งใหม่ ๆ แก่ผู้สนใจ
    14. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าห้องสมุดมีความจำเป็นต่อชีวิต

การจัดหน่วยงานประชาสัมพันธ์

ห้องสมุดควรมีการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ห้องสมุดไว้อย่างเป็นระบบ และ ควรจัดแบ่งสายงานไว้ในหน่วยงานบริการ สำหรับห้องสมุดขนาดใหญ่หรือห้องสมุดขนาดกลาง ควรแบ่งงานประชาสัมพันธ์ออกเป็นแผนกหรือฝ่ายบริหาร เพราะเป็นหน่วยกลาง วางนโยบายรักษานโยบายและรวบรวมข้อมูล สถิติตัวเลขต่าง ๆ จากทุกฝ่ายมาใช้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และการมีผู้มีความสามารถ ในการติดต่อ มีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาสัมพันธ์ จึงจะสามารถดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก บรรณารักษ์เป็นผู้ ประชาสัมพันธ์ด้วยตนเองไม่มีการแบ่งแผนกงานอย่างชัดเจน แต่บรรณารักษ์ควรเขียนแจงงานนี้ไว้ในแผนงานของห้องสมุดด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดต้องถือว่า งานประชาสัมพันธ์คือ หน้าที่ที่ต้องกระทำไปควบคู่กับการให้บริการด้วย

การประชาสัมพันธ์เป็นงานหนัก และต้องทำด้วยความระมัดระวังยิ่ง เพราะเกี่ยวกับชื่อเสียงของห้องสมุดโดยส่วนรวม บรรณารักษ์ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ควรมีความรอบคอบและรับผิดชอบในการทำงานประชาสัมพันธ์นั้น สื่อหรือเครื่องมือที่ใช้ ในการประชาสัมพันธ์มีหลายอย่างด้วยกัน ผู้ประชาสัมพันธ์ควรรู้จักการใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์อย่างเหมาะ กับงานที่จะประชาสัมพันธ์

วิถีในการประชาสัมพันธ์ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

    1. การสื่อสารโดยตรงหรือด้วยคำพูด (Oral Communication)
    2. การสื่อสารด้วยสิ่งพิมพ์ (Printed Word)
    3. สื่อสารด้วยภาพหรือเสียง (Sight and Sound) (วิจิตร อาวะกุล 2522: 109)

การสื่อสารโดยตรง อาจทำได้หลายวิธี กล่าวคือ บรรณารักษ์พูดคุยกับประชาชนผู้มาใช้บริการโดยตรงถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของห้องสมุด เช่น บริการของห้องสมุด หนังสือ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความเข้าใจ บรรณารักษ์ควรหาโอกาสประชาสัมพันธ์หน่วยงานอยู่เสมอ เช่น เป็นแขกรับเชิญไปพูดเรื่องห้องสมุดหนังสือในโอกาสต่าง ๆ การสื่อสารโดยตรงนี้ บรรณารักษ์ห้องสมุดสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับโอกาส คือการติดต่อสนทนากับสมาชิกผู้ใช้ห้องสมุดทั้งภายในห้องสมุดและภายนอกห้องสมุด ทุกครั้งที่มีการอบรม ภายในจังหวัดหรือภายในชุมชน บรรณารักษ์อาจมีส่วนเข้าไปช่วยชี้แจงหรือเป็นวิทยากรก็จะทำให้การประชาสัมพันธ์ห้องสมุดได้ผล การประชาสัมพันธ์โดยตรงอีกวิธีหนึ่งได้แก่ การต้อนรับและบรรยาย ผู้ขอชมห้องสมุดเข้าใจการทำงานห้องสมุด ในกรณีที่หน่วยงานนั้น มีผู้รับผิดชอบในการประชาสัมพันธ์โดยตรงก็มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินงาน เตรียมการต้อนรับ บรรณารักษ์อาจต้องดำเนิน งานทุกอย่างด้วยตนเองทั้งหมด

การสื่อสารด้วยสิ่งพิมพ์ ทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

    1. จัดทำคู่มือการใช้ห้องสมุด ห้องสมุดที่มีงบประมาณมากอาจจะจัดทำคู่มือการใช้ห้องสมุดเป็นรูปเล่มถาวร เรียงพิมพ์อย่างเรียบร้อย ห้องสมุดที่มีงบประมาณน้อยและมีจำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้ใช้บริการจำนวนน้อย อาจจัดทำในลักษณะพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม หรือ ทำในรูปของเอกสารเป็นเล่มเล็ก ๆ บรรยายเนื้อหาที่ควรจัดไว้ในสิ่งพิมพ์ได้แก่ ประวัติห้องสมุด การแบ่งแผนกงาน แผนผังห้องสมุด บุคลากรผู้รับผิดชอบ สิ่งพิมพ์ที่ให้บริการแยกเป็นประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน วิธีใช้บริการพิเศษต่างๆ ระเบียบของห้องสมุด เช่น มารยาท ในการใช้ห้องสุด ระเบียบที่เกี่ยวกับค่าปรับ กำหนดเวลาเปิด-ปิดห้องสมุด เป็นต้น
    2.รายงานประจำปี รายงานประจำปีมีการรวบรวมสิ่งที่ได้ปฎิบัติไปแล้วในรอบปีหนึ่ง ๆ เพื่อเสนอให้แก่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ในหน่วยงานตามลำดับขึ้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในแง่ของการสามารถทำให้ผู้อ่าน ได้ทราบเรื่องราวคร่าว ๆ ของห้องสมุด กิจการที่ ห้องสมุดได้ปฎิบัติ รายงานนี้อาจทำในรูปรายงานนั้น ๆ มีรายละเอียดไม่มากนัก เนื้อหาควรเน้นเฉพาะที่สำคัญ ๆ มีภาพหรือแผนภูมิ สถิติประกอบก็ได้
    3. จัดทำสื่อการประชาสัมพันธ์ตามประเภทต่าง ๆ คือ
      ก. แผ่นปลิว (Leaflets) โดยจัดทำเขียนหรือพิมพ์โรเนียว มีลักษณะเป็นเอกสารแผ่นเดียว อาจมีขนาดแตกต่างกัน ครึ่งแผ่นหรือแผ่นเล็ก ไม่พับ บางครั้งจึงเรียกว่า แผ่นประกาศ
      ข. แผ่นพับ (Folder) หรือแผ่นปลิวพับ บรรณารักษ์อาจจัดทำเป็นเอกสารแผ่นเดียวแต่พับให้เป็นรูปต่าง ๆ อาจพับสอง พับสาม พับสี่ โดยบรรณารักษ์ออกแบบจัดหน้าให้ดึงดูดความสนใจ
      ค.จุลสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ บรรณารักษ์จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ คล้ายกับแผ่นพับ แต่มีหน้ามากกว่าแผ่นพับ แต่มักมีจำนวนหน้าไม่เกิน 10 หน้า (วิจิตร อาวะกุล 2522 : 113) บรรณารักษ์สามารถจัดพิมพ์แนะนำประวัติห้องสมุดเและการบริ การของห้องสมุดอย่างกระทัดรัดได้
      ง. เอกสารแนะนำประกอบ (Broohures) คล้าย ๆ กับจุลสารแต่มีลักษณะของการอธิบายรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น
      จ. หนังสือเวียน (Circular Letters) ในบางครั้งบรรณารักษ์อาจใช้หนังสือเวียนแจ้งให้สมาชิกห้องสมุดทราบถึงความเคลื่อนไหว ของห้องสมุด อาจพิมพ์แผ่นเดียว แล้วเวียนกันอ่าน แต่สะดวกที่สุดถ้าหากมีการโรเนียวหนังสือเวียนแก่สมาชิก
      ฉ. จดหมายติดต่อ (Correspondence) ได้แก่การที่บรรณารักษ์ทำเป็นจดหมายโต้ตอบ ติดต่อ สอบถามกับผู้ใช้ห้องสมุดโดยตรง

    การสื่อสารด้วยภาพและเสียง

    สื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ด้วยภาพและเสียง ได้แก่ ป้ายนิเทศ วิทยุ โทรทัศน์ สไลด์ ภาพถ่าย เครื่องบันทึกเสียง แผ่นเสียงและอุปกรณ์โสตทัศนวัสดุอื่น ๆ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่อาจโน้มน้าวจิตใจบุคคลได้ดีกว่าสิ่อประเภทอื่น ๆ เพราะสามารถอธิบาย ชี้แจงเหตุชักจูงใจให้บุคคลเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ห้องสมุดต้องการประชาชาสัมพันธ์ได้ง่าย

    ป้ายนิเทศ

    เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเรียนการสอนมาก ใช้แสดงเรื่องราวที่น่าสนใจให้บุคคลต่างๆ ได้เรียนรู้โดยอาศัยเวลาเพียงเล็กน้อย การจัดป้ายนิเทศในห้องสมุดก็เช่นเดียวกัน การจัดป้ายนิเทศในชั้นเรียน กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงความกลมกลืนกันอย่างดี มีแนวคิด เพียงอย่างเดียว ปัญหาเดียว ตั้งชื่อเรื่องที่น่าสนใจ เขียนป้าย โดยประดิษฐ์ตัวอักษรให้สวยงาม เลือกภาพ หนังสือ เอกสาร วัสดุ ที่จะใช้ประกอบการจัดป้ายนิเทศ โดยใช้หลักทางด้านศิลปเข้าช่วย เช่น ใช้ทาสีพื้นป้าย อีกสีหนึ่ง เขียนหัวเรื่อง และคำบรรยาย ภาพมีการใช้เส้นนำหรือลูกศรชี้ให้ผู้ดูได้ดูภาพตามลำดับกันได้ (เกื้อกูล คุปรัตน์ และคนอื่นๆ 2518 : 193-195)

    ประโยชน์ขของป้ายนิเทศในงานห้องสมุด

      1. ให้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องใหม่ที่น่าสนใจหรือกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป เขียนหรือพิมพ์ข้อความ แล้วปิดแผ่นป้ายท้ายข้อความบอกแหล่งที่มาด้วยการใช้ข้อความขนาดสั้น
      2. แจ้งข่าวสารห้องสมุด เช่น ความเคลื่อนไหวในการปฎิบัติงานของห้องสมุด
      3. ใช้แสดงหนังสือใหม่ หรือปกหนังสือใหม่ หรือวัสดุอื่นของห้องสมุด เช่น หนังสือห้องสมุดที่ซื้อเข้ามาใหม่
      4. ใช้ประกาศระเบียบของห้องสมุด แนะนำรายชื่อหนังสวือใหม่ ประกาศรายชื่อผู้บริจาคและวัสดุสิ่งพิมพ์ให้ห้องสมุด ประกาศสถิติต่าง ๆ ที่ควรทราบ

    วิทยุ โทรทัศน์

    การประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อประเภทนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงต้องมีการเตรียมเขียนบท และซักซ้อม เพื่อออกอากาศอย่างเรียบร้อยแต่เนิ่น ๆ ต้องคิดอย่างรอบคอบ มีการเชิญมาร่วมรายการเป็นครั้งคราว เพื่อให้รายการนั้นมีเนื้อหาที่น่า สนใจยิ่งขึ้น กิจกรรมที่อาจประชาสัมพันธ์ โดย วิทยุ โทรทัศน์ (อุบล บุญชู 2525 : 165-168) ได้แก่

      1. อ่านบทความ เรียกร้องเชิญชวนผู้ฟังให้สนใจกิจกรรมห้องสมุดและสนใจการอ่าน
      2. รายการสนทนา เรื่องหนังสือ การอ่านหนังสือห้องสมุดโดยการเชิญชวนผู้ฟัง ให้สนใจการอ่าน แนะนำหนังสือดีตามทัศนะ ของผู้จัดรายการ เช่น หนังสือสำหรับเด็ก สำหรับผู้ใหญ่ หรือสนทนาเรื่องห้องสมุดในท้องถิ่นที่น่าสนใจ
      3. อภิปรายหรือวิจารณ์หนังสือ บางครั้งผู้จัดรายการอาจเป็นผู้วิจารณ์หนังสือด้วยตนเองหรือเชิญชวนผู้มีชื่อเสียง มาร่วมอภิปรายหนังสือในแนวต่าง ๆ กัน
      4. เล่านิทาน เลือกนิทานสนุก ๆ มาเล่าให้เด็กฟัง อาจมีการเชิดหุ่นประกอบการเล่นด้วย ถ้าเป็นการแสดงทางโทรทัศน์ จะทำให้การเล่านิทานมีชีวิตชีวามากขึ้นและนับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดได้ดีทางหนึ่ง
      5. แข่งขันตอบปัญหานำความรู้ที่สามารถค้นหาได้จากห้องสมุดตั้งปัญหาตามผู้เข้าตอบปัญหาครั้งละ 2 กลุ่ม ผลัดเปลี่ยนกันตอบปัญหา เพื่อหากลุ่มชนะเลิศ ปัญหาที่เลือกมาถามต้องจัดให้เหมาะสมกับระดับความรู้ของผู้ตอบด้วย

    สไลด์และภาพถ่าย

    สไลด์เป็นภาพโปร่งแสง บันทึกลงบนฟิล์มสีหรือฟิล์มขาวดำ มีขนาด 2x 2 นิ้ว การใช้สไลด์เพื่อการประชาสัมพันธ์ ทำได้โดยลักษณะเดียวกับการถ่ายภาพ เพียงแต่ซื้อฟิล์มสี สไลด์มาใส่กล้องถ่ายภาพที่ต้องการ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ห้องสมุดทราบ จัดลำดับเนื้อหา แล้วบันทึกแถบเสียงบรรยายภาพลงไปตามต้องการเช่นการแนะนำการใช้ห้องสมุด ก็เป็นสไลด์ประชาสัมพันธ์ ที่ห้องสมุดควรจัดเตรียมไว้ สำหรับผู้มาเยี่ยมชมห้องสมุด หรือทำสไลด์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ที่น่าสนใจ เช่น การซ่อมหนังสือ การเย็บเล่มหนังสือก็ได้ ส่วนภาพถ่ายอาจเป็นภาพขาวดำหรือภาพสี สามารถขยายภาพได้ตามความต้องการ นำมาจัดแสดงประกอบการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการจัดนิทรรศการเฉพาะอย่างยิ่ง

    ภาพยนตร์และแถบภาพ (วีดิทัศน์)

    ห้องสมุดสามารถบันทึกกิจกรรมเพื่อจะใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้อย่างกว้างขวางลงบนแถบภาพ หรือถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ แต่แถบภาพได้เปรียบกว่าตรงที่สามารถ จัดทำได้ประหยัดกว่าและให้บริการได้อย่างกว้างขวางกว่าภาพยนตร์ การใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ดังที่กล่าวมานั้น บรรณารักษ์ควรจะหาวิธีการหลาย ๆ รูปแบบ และหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้ห้องสมุดเกิดความรู้สึกอยากจะมาขอใช้บริการจะเป็นการทำให้บริการของห้องสมุด ได้รับความสนใจจากประชาชนได้ตลอดเวลา

    นิทรรศการ

    การจัดนิทรรศการเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งอาจอาศัยทั้งวิธีโดยตรง และผสมผสานกัน ทั้้งนี้เพื่อแสดงให้คนทั่วไป หรือผู้ที่สนใจ ได้ทราบและเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ นิทรรศการที่นิยมใช้กันอยู่ขณะนี้ อาจจำแนกออกเป็น 3 แบบ (เปรื่อง กุมุท 2526 : 8-10) คือ

      1. นิทรรศการถาวร
      2. นิทรรศการชั่วคราว
      3. นิทรรศการเคลื่อนที่

    นิทรรศการถาวร ส่วนใหญ่จัดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ โดยจัดรวบรวมและจัดแสดงสิ่งต่างๆ เป็นเวลาครั้งละนาน ๆ หรือตลอดไป
    นิทรรศการชั่วคราว เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเฉพาะกิจในโอกาสพิเศษ
    นิทรรศการเคลื่อนที่ สามารถเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ให้ประชาชนได้ชม

    ถ้าแบ่งประเภทของนิทรรศการตามขนาดของการใช้วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่แล้ว อาจแบ่งได้ 2 ประเภท เช่นกัน คือ

      1. นิทรรศการย่อย ใช้แสดงกับเรื่องย่อย ๆ เฉพาะเรื่อง มีสิ่งที่นำมาแสดงไม่มากนัก จัดง่าย ๆ วัสดุอุปกรณ์มีไม่มาก และอาจใช้เวลาแสดงไม่นานนัก
      2. นิทรรศการใหญ่ เป็นการแสดงโดยอยู่ภายใต้หัวข้อเรื่องที่กว้าง มีรายละเอียดและสิ่งที่นำมาแสดงมาก ใช้สถานที่และเวลาในการจัดและการแสดงนาน

    วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการ

    คือ การประชาสัมพันธ์ หรือแนะนำทำให้คนทั่วไปรู้จัก ได้ทราบและเข้าใจในสิ่ง ที่เขาเหล่านั้นยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดให้เข้าใจดียิ่งขึ้น และถูกต้องยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเห็นคุณค่าหรือประโยชน์อันจะเกิดขึ้น วิธีการจัดนิทรรศการ ควรกำหนดเป็นขั้นตอน ดังนี้

      1. กำหนดหัวข้อเรื่องขึ้นก่อน โดยเลือกหัวข้อที่กระทัดรัดเป็นชื่อที่น่าสนใจ
      2. ตัดสินใจว่า จะจัดเป็นนิทรรศการแบบใด หมายถึง เป็นนิทรรศการชั่วคราว หรือนิทรรศการใหญ่หรือย่อย โดยพิจารณากำหนดเวลาหรือช่วงที่จะจัดและกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่ต้องการให้ชม
      3. พิจารณาเนื้อหา ทั้งวัตถุประสงค์และแนวทางไว้ให้เด่นชัด จะได้มีขอบข่ายและเป้าหมายชัดเจน ในการจัดมิให้ไขว้เขวหรือสับสน
      4. พิจารณาเลือก สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และกิจกรรมที่จะแสดง เทคนิคการจัดแสดงเพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนกับเนื้อหา ขอบข่ายและเป็นไปตามวัตถุประสงค์
      5. ควรมีการประเมินผลด้วยจะได้ผลสมความมุ่งหมายหรือไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค และจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรในคราวต่อไป

    นิทรรศการหัวข้อต่าง ๆ ที่บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอาจจัดได้ในห้องสมุด (วัฒนะ จูฑะวิภาค 2526 : 23) ดังนี้

      1. นิทรรศการทางวิชาการสาขาต่าง ๆ
      2. นิทรรศการทางภูมิศาสตร์
      3. นิทรรศการทางประวัติศาสตร์
      4. นิทรรศการเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ
      5. นิทรรศการทางอุตสาหกรรม
      6. นิทรรศการทางวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง
      7. นิทรรศการทางเครื่องเคมีภัณฑ์
      8. นิทรรศการทางการแพทย์
      9. นิทรรศการด้านศิลปะ
      10. นิทรรศการทางวิทยาศาสตร์

    นิทรรศการในหัวข้อดังกล่าว บรรณารักษ์ควรหาโอกาสเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดให้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะนิทรรศการเทศกาล และวันสำคัญต่าง ๆ สามารถจัดทำได้ง่ายและ เป็นการสร้างความสัมพันธ์เป็นไปในท้องถิ่น และมีตัวอย่างการจัดนิทรรศการพร้อมกับรายละ เอียดของเทศกาลและวันสำคัญตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม (วัฒนะ จูฑะวิภาค 2526 : 235-283) จึงนับว่าสะดวกมากสำหรับ บรรณารักษ์ในการใช้เป็นข้อมูลในการจัดนิทรรศการในห้องสมุด

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com