1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

พัฒนาการห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ

ประเทศในทวีปเอเซีย

พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนเริ่มต้นมาจากวิวัฒนาการของการเกิดตัวอักษร การเกิดความรู้ ในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้และการจัดเก็บสรรพตำราต่าง ๆ ได้มีการค้นพบห้องสมุดแห่งแรก ในโลกที่ทวีปเอเซีย โดยค้นพบสถานที่ เก็บแผ่นดินเหนียวจารึก ด้วยอักษรคูนิฟอร์มในอาณาบริเวณ เมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 4 พันปีมาแล้ว ค้นพบหอสมุดหลวง ของพระเจ้าบานิพาลแห่งกรุงนิเนเวห์ เมื่อศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตศักราช และ ค้นพบหอสมุดแห่งชาติประเทศจีนเมื่อศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตศักราช แต่สภาพการพัฒนาห้องสมุดประชาชนในทวีปเอเซียก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จที่ดีในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการให้บริการการอ่านในห้องสมุด

ห้องสมุดประชาชนในทวีปเอเซียมีรูปแบบโครงการพัฒนากิจการการให้บริการห้องสมุด ที่น่าสนใจ เช่น ในประเทศพม่า มีการจัดตั้งห้องสมุดข้างทาง (Roadside Libraries) ให้บริการการอ่านและฟังข่าวสาร ในประเทศเกาหลีมีสมาคมห้องสมุดขนาดเล็ก (Micro Library Association) ช่วยสนับสนุนกิจการ การอ่านโดยการจัดสร้างกระเป๋าหนังสือได้ กระเป๋าละประมาณ 30 เล่ม นำไปหมุนเวียนให้บริการในหมู่บ้านกว่า 14,000 แห่ง ในประเทศญี่ปุ่น มีการพัฒนาสโมสรนักอ่านและมีการให้บริการการอ่านแก่แม่บ้าน และเด็ก ในประเทศจีนมีการจัดตั้งห้องสมุดชุมชน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านซึ่งมีการให้ บริการการเล่าเรื่องหนังสือ การแสดงนิทรรศการ และการบรรยายวิชาการความรู้ต่างๆ (Kaser 1976 : 324-326)

ประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น ห้องสมุดประชาชนมีพัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เมื่อรัฐบาล ได้จัดตั้งห้องสมุดเพื่อเก็บรักษาหนังสือที่มีค่า แต่สภาพห้องสมุดสมัยใหม่เพิ่มเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อ ประมาณ 100 ปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการจัดโครงสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในราว ค.ศ. 1872 โดยมีการจัดตั้งหอสมุดกลางที่กรุงโตเกียว ซึ่งต่อมากลายเป็นห้องสมุดพระจักรพรรดิ (Imperial Library) และพัฒนาต่อมา กลายเป็นหอสมุดแห่งชาติไดเอ็ท (National Diet Library) ในปัจจุบันมีห้องสมุดประชาชนกว่า 100 แห่งในกรุงโตเกียว ห้องสมุด ที่นับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน ฮิบิยา (Tokyo Metropolitan Hibiya Library) กิจการห้องสมุดประชาชนในประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาด้วยดี เนื่องจากมีการออกกฏหมาย ห้องสมุดสนับสนุนการจัดตั้งห้องสมุดในเมืองใหญ่ และให้บริการฟรี แก่ผู้ใช้ห้องสมุด (Chen 1978 : 364-365) ในปัจจุบัน

ห้องสมุดประชาชนในประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นห้องสมุดที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ขณะนี้มีห้องสมุด ประชาชนประมาณ 1,500 แห่งทั่วประเทศ ทุกเมืองใหญ่มีห้องสมุดประชาชนให้บริการ และ กล่าวได้ว่าหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 20 เปอร์เซนต์มีห้องสมุดประชาชน ให้บริการในท้องถิ่น ของตน (Pacific Friend 1983 : 6)

ประเทศเกาหลี

ในประเทศเกาหลี พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 918 โดยมีการ จัดตั้งหอสมุดกลาง และระหว่าง ค.ศ. 918-982 มีการจัดตั้งหอสมุดกลาง ห้องสมุดวิทยาลัย ในราชสำนัก ห้องสมุดหน่วยงานทางราชการ ห้องสมุดส่วนตัว และห้องสมุดศาสนา ห้องสมุดประชาชนถูกละเลย ขาดการเอาใจใส่ จึงมีพัฒนาการค่อนข้างช้า จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1967 รัฐบาลได้ออกกฏหมาย ห้องสมุดโดยระบุว่าแต่ละจังหวัด (County) จะต้องมี ห้องสมุดประชาชนอย่างน้อยหนึ่งแห่ง กิจการของห้องสมุดประชาชน ในประเทศเกาหลีจึงมีพัฒนาการที่เจริญขึ้นต่อมาในปัจจุบัน (Chen 1978 : 381-382)

ประเทศฮ่องกง

ฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษได้มีรายงานในปี ค.ศ. 1972 กล่าวว่า มีห้องสมุดรวมกันประมาณ 300 แห่ง เป็นห้องสมุดประชาชนเพียง 60 แห่ง และ ห้องสมุดทั้ง 60 แห่งนี้บางแห่งไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประชาชน ห้องสมุดประชาชนในฮ่องกง ดำเนินงานโดยหน่วยงาน 2 หน่วยงานใหญ่ คือ สภาห้องสมุดประชาชนของเมือง (Urban Council Public Libraries) และ ห้องสมุดขององค์การวัฒนธรรม (Libraries of Cultural Organization) สภาห้องสมุดประชาชนสาขากระจัดกระจาย กันไปทั่วฮ่องกง เช่น ห้องสมุดประชาชน วอเตอร์ลู (Waterloo Road Branch Libary) จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1965 ห้องสมุดประชาชน อเบอร์ดีน ป๊อด ฟู แลม (The Aberdeen Pok Fu Lam Branch Library) จังตั้งขึ้น เมื่อ ค.ศ. 1970 เป็นต้น ส่วนห้องสมุดประชาชนที่ดำเนินงาน โดยองค์การต่างประเทศ ได้แก่ บริติช เคาน์ซิล และห้องสมุดของสำนักข่าวสารอเมริกัน (Chen 1978 : 360)

ประเทศจีน

ในประเทศจีน ห้องสมุดประชาชนมีบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่งานปฏิบัติและ การเมืองของประเทศ ห้องสมุดเป็นแหล่งสำคัญต่อการเผยแพร่แนวความคิดของลัทธิมาร์ก และลัทธิเมา เซ ตุง ห้องสมุดประชาชนในจีนจึงเท่ากับ เป็นกระบอกเสียงของการทำงาน ของรัฐบาล ระบบหอสมุดแห่งชาติ ในประเทศจีนแบ่งห้องสมุดออกเป็น 6 ประเภท คือ ห้องสมุด ประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ห้องสมุดวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดสหพันธ์ ห้องสมุดเฉพาะ และห้องสมุดทหาร ห้องสมุดประชาชน อยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมและถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ของระบบหอสมุดแห่งชาติ เครือข่ายของห้องสมุดประชาชนประกอบไปด้วยห้องสมุกประชาชน หลายประเภท ดังนี้ คือ
    1. หอสมุดแห่งชาติ (National Library)
    2. ห้องสมุดประชาชนจังหวัด (Provincial Libraries)
    3. ห้องสมุดประชาชนเทศบาล (County Libraries)
    4. ห้องสมุดประชาชนเทศบาล (Municipal Libraries)
    5. ห้องสมุดวัฒนธรรมและที่อ่านหนังสือ (Cultural hall Libraries and reading Rooms)
    6. ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน (Village and / or Commune Libraries)

มีรายงานกล่าว่า ในปี ค.ศ. 1958 มีห้องสมุดประชาชนอำเภอประมาณ 922 แห่ง และมีห้องสมุดวัฒนธรรมประมาณ 2,616 แห่ง (Chen 1978 : 372)

ประเทศฟิลิปปินส์

ในประเทศฟิลิปปินส์ มีการใช้คำว่า ห้องสมุดประชาชนควบคู่กับการให้บริการหนังสือ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1892 ซึ่งดำเนินการ โดยกระทรวงอาณานิคม (Ministry of Colonies) โดยมีรายงานในปี ค.ศ. 1903 ว่า มีห้องสมุดประชาชนประมาณ 12 แห่ง การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนที่เป็นรูปเป็นร่างจัดตั้งโดยชาวอเมริกัน โดยในปี ค.ศ. 1900 นางซาร์ลส์ กรีนลีฟ (Mrs. Charles Greemleaf) ได้จัดตั้งสมาคมห้องสมุด เพื่อการบริการชาวอเมริกัน (American Circulating Library Association) สมาคมนี้ได้มอบให้แก่ รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1901 และรัฐบาลได้ออกกฏหมาย เพื่อขยายการให้บริการแก่ประชาชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นต่อ พัฒนาการความเจริญของห้องสมุด ประชาชนในประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 ถึง ค.ศ.1955 สมาคมห้องสมุดเพื่อการบริการชาวอเมริกัน เป็นแผนกหนึ่งของห้องสมุดฟิลิปปินส์ อยู่ในความควบคุมดูแล ของกระทรวงศึกษาธิการ และ ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดประชาชน ให้บริการแก่ประชาชนในกรุงมนิลา ต่อมาในปี ค.ศ. 1920 ห้องสมุดฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ มีรายงานในปี ค.ศ. 1971 ว่ามีห้องสมุดประชาชน เทศบาลกว่า 300 แห่งในประเทศฟฟิลิปปินส์ (Chen 1987:373)

ประเทศอินเดีย

การดำเนินงานห้องสมุดประชาชนในประเทศอินเดียนับว่าเป็นการดำเนินงานห้องสมุดประชาชนที่มี แบบแผนเหมือนกับ ประเทศตะวันตกทั้งหลาย การ์ดเนอร์ (1971 : 256) กล่าวว่า ห้องสมุดประชาชนเดลี (Delhi Public Library) ได้รับการจัดตั้งขึ้น ระหว่างรัฐบาลประเทศอินเดีย และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ เพื่อเป็นห้องสมุดประชาชนตัวอย่าง ของประเทศที่กำลังพัฒนา และนับเป็นห้องสมุดที่สำคัญ ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน ห้องสมุดประชาชนเดลี เปิดให้บริการเมื่อ ค.ศ. 1951 อยู่ในความควบคุม ของคณะกรรมการห้องสมุดเดลีภายใต้ความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการห้องสมุดดังกล่าว มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ในปี ค.ศ. 1966-1967 ห้องสมุดประชาชนเดลี มีหนังสือให้บริการเกือบ 2 ล้านเล่ม (การ์เนอร์ 1971 : 257)

ประเทศอินโดนีเซีย

ในประเทศอินโดนีเซีย คณะรัฐบาลพบปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชาชนเป็นอัตราสูง จึงได้พยายามปรับปรุงพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการรณรงค์การไม่รู้หนังสือของประชาชน โดยตั้งวัตถุประสงค์การดำเนินงานของห้องสมุดประชาชน ไว้ดังนี้
    1. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือและใช้บริการจากห้องสมุด
    2. สนับสนุนในการอบรมบรรณารักษ์ให้คุณวุฒิ
    3. สนับสนุนการบริการห้องสมุดสำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 5-15 ปี

ห้องสมุดประชาชนจึงมีบทบาทต่อการแก้ไขการไม่รู้หนังสือของประชาชน ห้องสมุดประชาชนมากัสซาร์ (Makassar Public Library) มีการให้บริการห้องสมุด โดยการจัดฉายภาพยนตร์ การบรรเลงดนตรี และการสอนภาษา นอกจากนี้ยังให้บริการแก่เด็กอีกด้วย (chen 1978 :361)

ประเทศพม่า

ห้องสมุดประชาชนในประเทศพม่า สามารถสืบประวัติย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 11 แต่ห้องสมุดในยุคนั้นให้บริการเฉพาะมหากษัตริย์ ขุนนาง นักปราชญ์ และพระภิกษุ เป็นส่วนใหญ่ ห้องสมุดประชาชนที่บริการประชาชนที่จัดตั้งเป็นครั้งแรกจัดตั้งโดยนายชาร์ลส์ เบอร์นารด์ (Mr. Charles Bernard) ผู้เป็นผู้บัญชาการปกครองประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. 1883 เรียกชื่อว่า ห้องสมุดประชาชนเบอร์นาร์ด (The Bernard Free Public Library) ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นห้องสมุดแห่งชาติพม่าในปัจจุบัน (Chen 1978 : 358-359)

ประเทศสิงคโปร์

พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศสิงคโปร์ เริ่มต้นจากหอสมุดแห่งชาติ สิงคโปร์ โดยห้องสมุดแรฟเพิล (Raffles Library) ได้ยกฐานะเป็นหอสมุดแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 1958 โดยมีนายเอ็ล เอ็ม ฮาร์รอด (Mr. L.M. Harrod) เป็นผู้อำนวยการคนแรก หอสมุดแห่งชาติทำหน้าที่สำคัญต่อการบริการประชาชน และให้บริการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน โดยถือเป็นสาขาของหอสมุดแห่งชาติ กิจการการดำเนินงาน ห้องสมุดประชาชนได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเมื่อ รัฐบาลได้ออกกฏหมายหอสมุดแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 1968 (Chen 1978 : 385-386)

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com