1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ห้องสมุดประชาชนนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา และวัฒนธรรมของประเทศตั้งแต่ สมัยเมื่อ ยังมีสภาพเป็นประเทศอาณานิคม จนกระทั่งในปัจจุบัน (Wellisch and others 1979 : 2) และนับว่าเป็นประเทศที่เป็นต้นแบบของ การดำเนินงานห้องสมุดประชาชนแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการจัดตั้งห้องสมุด ส่วนบุคคลมาแล้วนับ 2 ศตวรรษ ซึ่งมักเป็นห้องสมุดส่วนบุคคลของผู้ที่มาตั้งรกรากถิ่นฐานในยุคต้น ๆ เช่น ห้องสมุดส่วนตัวของนายเอลเดอร์ วิลเลียม บรูว์สเตอร์ (Mr. Elder William Brewster) แห่งอาณานิคมพลีมัธ ห้องสมุดส่วนตัวของนายจอห์น วินธอร์ป (Mr. John Winthrop, Jr.) ผู้ว่าราชการเมืองคอนเนกติกัล ในมลรัฐนิวอิงแลนด์ ห้องสมุดส่วนตัวที่มี ชื่อเสียงว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ห้องสมุดส่วนตัวของอินครีสและคัตตัน มาเฮอร์ (Increase and Cotton Mather) (Sessa 1978 : 273) นายโรเบอร์ต คีน (Mr. Robert Keayne) แห่งเมืองบอสตันได้ทำพินัยกรรม ยกมรดกซึ่งเขาเขียนไว้ในปี ค.ศ. 1653 ให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตัน โดยใช้ ห้องศาลาประชาคม (Town House) จัดเป็นห้องสมุด และมอบหนังสือส่วนตัวให้กับห้องสมุด แห่งนี้ด้วย ห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตัน จึงได้ถือกำเนิดขึ้น แต่ประสบกับอัคคีภัยรวม 2 หน ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1711 อาคารศาลาประชาคมถูกเพลิงไหม้ แต่ตัวห้องสมุดปลอดภัย มีการซ่อมแซมสภาพอาคาร แต่อัคคีภัยครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1741 (Sessa 1978 : 273) มีส่วนทำให้ห้องสมุดถูกทำลายไปเกือบหมด คีนมีความประสงค์ว่า คนอื่น ๆ อาจจะปฎิบัติตามแนวทางความคิดของเขาในการบริจาค หนังสือให้กับห้องสมุด ห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตันจึงทำหน้าที่ในการจัดเก็บรักษาเอกสารของเมืองบอสตันและรู้จักกันดี ในฐานะที่เป็นห้องสมุดประชาชนที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น และได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น

บุคคลอีกผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ สาธุคุณ โทมัส เบรย์ (Rev. Thomas Bray) เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการ ของคณะกรรมการโบสถ์แองกลิกัน แห่งอาณานิคมแมรีแลนด์ (The Anglican Church in the Colony of Maryland) เมื่อปี ค.ศ. 1695 เขาริเริ่มจัดตั้งสมาคม 2 สมาคม เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน คือ Society for Promotion of Christian Knowlegde และ Society for the Propagation for the Promotion of the Gospel in Foreign Parts และเมื่อเขาล้มป่วยลงก็ได้รับ ความสนับสนุนจากสมาคมที่เรียกว่ากลุ่มสมาคมของเบรย์ (Dr. Bray's Associates) (Sessa 1987 : 274) พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริการยุคต่อมา ได้แก่ การ กำเนิดของห้องสมุดชุมชน (Social Library) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ได้แก่ นายเบนจามิน แฟรงคลิน โดยเมื่อปี ค.ศ. 1920 เขาได้รวบรวมมิตรสหายเพื่อพบปะสนทนา พูดคุยกันเป็นกลุ่มซึ่งเรียกว่า กลุ่มจันโต (Junto) จากการพบปะสนทนากัน แฟรงคลินมีแนวความคิดที่ใช้หนังสือเป็นข้อสนเทศสำหรับ การสนทนา จึงได้รวบรวมเงินจากสมาชิกในกลุ่มคนละ 40 ชิลลิง และเก็บค่าสมาชิกคนละ 10 ชิลลิงต่อปี จึงเป็นที่มาของการเกิดบริษัทห้องสมุดแห่งเมืองฟิลาเคลเฟีย (Library Company of Philadelphia) เมื่อปี ค.ศ. 1731 (Sessa 1978 : 275) และนับเป็นต้นแบบของห้องสมุดชุมชนในประเทศสหรัฐอเมริกา การดำเนินการรวบรวมเงินจากการบริจาคก็เพื่อใช้เป็นทุน สำหรับการจัดซื้อหนังสือ และสมาชิกทุกคนมีสิทธิในการอ่าน เท่าเทียมกัน (Wellisch 1979 : 2) สภาพการอ่านหนังสือของสมาชิก แสดงให้เห็นถึงสภาพความต้องการในอ่านและ การขวนขวายการหาความรู้ และที่สำคัญเป็นความต้องการอ่าน หนังสือเพื่อเป็นการเรียน รู้ด้วยตนเอง จึงกลายเป็นปรัชญาและวัตถุประสงค์ที่สำคัญของห้องสมุดประชาชน ในประเทศ สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

รูปแบบของบริษัทห้องสมุดแห่งเมืองฟิลาเดลเฟียได้เป็นต้นแบบแห่งการพัฒนากิจการ ห้องสมุดทั่วอาณานิคม และได้รับการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งในทำนองเดียวกันที่ เดอร์แฮม คอนเนกติกัต นิวปอร์ต โรดไอแลนด์ ชารล์สตัน เซาท์ ดาโรไลนา และนิวยอร์ค กล่าวกันว่า มีห้องสมุดทำนองนี้ประมาณ 64 แห่ง ก่อนสมัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพ (Wrllisch 1973 : 3) ครั้นเมื่อเกิดสงครามปฎิวัติ ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น สภาพเศรษฐกิจและการเมืองไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งห้องสมุดประเภท ที่ต้องบริจาคเงิน สภาพห้องสมุดได้กลาย มาเป็นห้องสมุดชุมชน (Social Library) หลังสงครามปฎิวัติ มีการจัดห้องสมุดชุมชนโดยมี จุดมุ่งหมายพิเศษในการจัดตั้ง เช่น เพื่อการอ่านของพนักงานฝึกหัดในโรงงาน พนักงานของ โรงรีดนมวัว หรือ เฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่ ของสมาคม วาย เอ็ม ซี เอ เป็นต้น ในช่วงเวลานี้เอง ได้มีการจัดตั้งสถาบันความรู้สำหรับนักการศึกษา หรือสถาบัน วิชาการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นห้องสมุด ชุมชนประเภทหนึ่ง มักจัดตั้งในเมืองใหญ่ ๆ และได้รับบริจาคเงินเพื่อการจัดตั้งเป็นจำนวนมาก เช่น ในปี ค.ศ. 1807 มีการจัดตั้งที่บอสตัน สมาชิกแต่ละคนบริจาคเงินลงขันคนละ 300 ดอลลาร์

ห้องสมุดชุมชนที่จัดตั้งภายหลังสงครามปฎิวัติเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินห้องสมุดประชาชนซึ่งได้ รับการช่วยเหลือ ด้านการเงินภาษีของราษฎรต่อมา อาจกล่าวได้ว่า การรวมตัวของห้องสมุดเพื่อสังคม ในมลรัฐนิวอิงแลนด์ ก็คือระบบ ของห้องสมุดประชาชน (Wellisch 1979 : 3-4) เมื่อแต่ละเมืองมีห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเหล่านั้นก็พัฒนาเป็นห้องสมุดประชาชนภายหลัง ห้องสมุดชุมชนที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ห้องสมุดเรดวู้ดแห่งเมืองนิวพอร์ท (Redwood Library of Newport) มลรัฐโรดไอร์แลนด์ ห้องสมุดชุมชนนิวยอร์ค (New York Society Library) มลรัฐนิวยอร์ค และห้องสมุดชุมชนชาร์ลสตัน (The Charleston Library Society of Charleston) มลรัฐเซาท์คาโรไลนา ซึ่งจัดตั้งในปี ค.ศ 1747, ค.ศ. 1754 และค.ศ. 1748 ตามลำดับ (Sessa 1978 : 275) ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกที่นับว่าเป็นห้องสมุดประชาชนตามความหมายของการดำเนินงานกิจการ ห้องสมุดประชาชน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน เมืองปีเตอร์บอโร (Peterborough) ในมลรัฐนิวแฮมเชอร์ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1833 (Lee 1966 : 3) การจัดตั้งห้องสมุดแห่งนี้ ก็เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับประชาชน และเพื่อการจัดหาหนังสือ สำหรับให้บริการฟรีแก่ประชาชน (Shera 1965 : 162-164) จึงนับได้ว่าเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกที่จัดขึ้นเพื่อให้บริการฟรี แก่ประชาชนและได้รับความสนับสนุนเรื่องการเงินบริจาคของประชาชน (Lee 1966 : 3)

วัตถุประสงค์ของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าแต่ละมลรัฐจะต้องจัดการ ให้การศึกษาสำหรับประชาชน ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งห้องสมุดประชาชน ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี ค.ศ. 1838 คณะกรรมการ มลรัฐนิวยอร์ค ได้จัดเงินงบประมาณสนับสนุน สำหรับการจัดตั้งโรงเรียนและห้องสมุดโรงเรียน มีจำนวนเงินถึง 55,000 ดอลลาร์ โดยกล่าวอย่างเด่นชัด ในเรื่องของการใช้เงินว่า การ จัดซื้อหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องที่ช่วยในการพัฒนาการศึกษาของประชาชน ความคิดใน เรื่องการใช้เงินภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียนจึงได้รับการขานรับในทำนอง เดียวกันที่มลรัฐอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนการจัดตั้ง ห้องสมุดประชาชนโดยภาษีของประชาชนอย่างแท้จริง ในปี ค.ศ. 1847 ที่มลรัฐแมสสาจูเซ็ท ผู้ริเริ่มรณรงค์เพื่อขอเงินภาษีจากรัฐบาลมาดำเนินการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน คือ นายโจซี ควินซี (Mr. Josiah Quincy) นายกเทศมนตรีแห่งเมืองบอสตัน นายควินซีได้ขอร้องให้รัฐบาลจัดหาเงิน เพื่อจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อเปิดบริการฟรีแก่ ประชาชน คำขอร้องของนายควินซีได้รับการพิจารณา ดังนั้น จึงมีการดำเนินงานจัดตั้ง ห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตัน (The Boston Pubilc Library) และเปิดบริการเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1854 และภายในปี ค.ศ. 1876 มีการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน โดยได้รับการสนับสนุน จากการจัดตั้งจากเงินภาษีของประชาชนเป็นจำนวนถึง 188 แห่ง ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา (Wellisch 1979 : 5) ตอนต้นศตวรรษที่ 19 ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลัง ตั้งฐานมั่นคง และต้องการความสามัคคีในชาติ เป็นช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวที่สำคัญ ของชุมชนและแสวงหา แนวทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง จึงเป็นช่วงเวลาที่คนสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ ศึกษาหาความรู้ และหาวิธีการในการปรับปรุงสภาพสังคม ทำให้เกิดการตื่นตัว ต่อการศึกษาต่อการอ่าน (Lee 1966 : 1-2) ผลของช่วงเวลานี้เองที่ทำให้พัฒนาการต่อห้องสมุดประชาชนในประเทศสหรับอเมริกาในที่สุด

บุคคลสำคัญ นักธุรกิจ ตลอดจนผู้เห็นความสำคัญของห้องสมุดประชาชนในประเทศ สหรัฐอเมริกา มีส่วนช่วยให้เกิด พัฒนาการความเจริญก้าวหน้าของกิจการ ห้องสมุดประชาชน บางคนจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อเป็นของขวัญ บ้างก็เพื่อ เป็นการอภินันทนาการ ผู้ซึ่งเดินทาง มาตั้งรกรากในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1846 ได้ประกอบธุรกิจจนมีเงินผลกำไร มหาศาล เขาได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากกว่า 333 ล้านดอลลาร์ นายคาร์เนกีได้บริจาคเงินจำนวน 56 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการ ก่อสร้างอาคารห้องสมุดประชาชน 2,509 แห่งในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้บริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 41 ล้านดอลลาร์ และสามารถ ก่อสร้างอาคารห้องสมุดได้ประมาณ 1,412 แห่ง Sessa 1987 : 284) ปัจจัยสำคัญที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถพัฒนากิจการห้องสมุดประชาชน ให้เจริญก้าวหน้าคือการออกกฏหมายห้องสมุด เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการดำเนินงาน กฏหมายที่สำคัญมี 2 ฉบับ คือ กฏหมายบริการห้องสมุด และกฏหมายบริการห้องสมุดและ การก่อสร้าง
    1. กฏหมายบริการห้องสมุด (Library Services Act)
    กฏหมายนี้ประกาศใช้เมื่อ ปี ค.ศ. 1965 เพื่อประกาศสนับสนุนการขยายงาน การบริการของ ห้องสมุดประชาชนในเขตชนบท (rural areas) เขตชนบทตามคำจำกัดความของกฏหมายระบุ หมายถึงเขตซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 10,000 คน การจัดสรรเงิน งบประมาณแผ่นดินอยู่กับสัดส่วนของประชากร
    2. กฏหมายบริการห้องสมุดและการก่อสร้าง (Library Services and Construction Act)
    กฏมายนี้ประกาศใช้เมือง ค.ศ. 1964 แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยงานบริการห้องสมุด และส่วนที่ 2 ว่าด้วยการก่อสร้าง กฏหมายฉบับนี้มีความคล่องตัว มากกว่ากฏหมายบริการห้องสมุด เพราะในส่วนที่ 2 ได้ระบุถึงการใช้เงินเพื่อการก่อสร้างอาคาร และการจัดซื้อที่ดินไว้ด้วย ในปี ค.ศ. 1966 มีการออกกฏหมายเพิ่มเติทอีก 2 ส่วนของกฏหมายนี้ โดยเพิ่ม ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ส่วนที่ 3 กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด และส่วนที่ 4 ว่าด้วยการให้บริการของห้องสมุด สถาบันการศึกษาของรัฐ นอกจากกฎหมายห้องสมุดโดยตรงแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการออกกฏหมาย ฉบับอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการความเจริญของห้องสมุดประชาชน คือ กฎหมาย การประถมศึกษามัธยมศึกษา (Elementary and Secondary Education Act) กฎหมาย การศึกษาชั้นสูง (Higher Eduction Act) กฎหมายการให้ความช่วยเหลือห้องสมุด ทางการแพทย์ (Medical Library Assistance Act) เป็นต้น (Landenson 1976 : 337-338)

นอกจากกฎหมายห้องสมุดซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการของ ห้องสมุดประชาชน ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว คณะกรรมการห้องสมุดประชาชนยังจัดได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีส่วน สำคัญต่อการดำเนินงานและการบริหารงานห้องสมุดประชาชน มักจัดขึ้นตามกฎหมายที่ระบุไว้ถึง อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานห้องสมุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการห้องสมุดประชาชน มักได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเขตเทศบาล หรือสมาชิกสภาของรัฐ รัฐบางรัฐอาจดำเนินการเลือกตั้งคณะ กรรมการห้องสมุดประชาขน โดยตรง คณะกรรมการห้องสมุดประชาชนมีจำนวนประมาณ 3-9 คน มีกฏหมายห้องสมุดของรัฐประมาณ 20 แห่ง กำหนดให้มี จำนวนคณะกรรมการห้องสมุด 5 คน วาระการดำรง ตำแหน่งนั้นมีการระบุที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วคณะกรรมการ จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี (Landenson 1976 : 337) ในปี ค.ศ. 1981 ประเทศสหรัฐอเมริกามีห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศรวมกัน ประมาณ 8,500 แห่ง เป็นห้องสมุดประชาชนประมาณ 5,500 แห่ง (Atherton 1981 : 210)

ห้องสมุดประชาชนสาขากระจัดกระจายให้บริการทั้งในเขตเมืองใหญ่และในเขตชนบท ครั้งล่าสุด คณะกรรมการสาร สนเทศและห้องสมุดแห่งอเมริกา (1979 : 36) ได้ทำการออกแบบสำรวจสภาพ ห้องสมุดประชาชน พบว่ามีความเจริญอย่างรวดเร็ว จากจำนวน 29 แห่ง ในปี ค.ศ. 1776 เพิ่มเป็น 100, 3,875 และ 15,543 แห่งในปี ค.ศ. 1876, 1923 และ 1985 ตามลำดับ ห้องสมุดประชาชนเป็นห้องสมุดที่ได้รับงบประมาณ ในการดำเนินงาน มากกว่าห้องสมุดประเภทอื่น ๆ กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1985 มียอดเงินดำเนินงานถึงประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com