1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ

ประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป

ประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปนอกเหนือไปจากประเทศอังกฤษ ล้วนแล้วแต่ตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดประชาชน ต่างพยายามปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน และอาศัยกฏหมายห้องสมุดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการบริหารงานห้องสมุดประชาชน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน สมาคมต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการดำเนินงานอีกด้วย องค์การห้องสมุดนานาชาติ ที่สำคัญต่อการพัฒนากิจการห้องสมุดประชาชนในทวีปยุโรป ได้แก่ สหพันธ์สากลแห่งสมาคมห้องสมุดและสถาบัน (International Federation of Library Association-IFLA) (Francis 1976 : 331) สมาคมนี้ได้มีส่วนวางรากฐาน ในการกำหนดมาตรฐานห้องสมุด และหลายประเทศในทวีปยุโรปได้นำไปปฎิบัติ

ประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปที่มีพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนเป็นไปตามมาตรฐาน และบางทีสูงกว่ามาตรฐาน ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้เพราะพัฒนาการของระบบห้องสมุดประชาชน ในประเทศเดนมาร์ก เริ่มต้นมาจากห้องสมุดส่วนตัวหรือสโมสรนักอ่าน หนังสือส่วนใหญ่ เป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบ การศึกษาในการกระจายการศึกษา ไปสู่ชนบททำให้ห้องสมุดเริ่มมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีกฏหมายห้องสมุด ประชาชน ค.ศ. 1920 ยิ่งทำให้เกิดพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนเป็นอย่างมาก

ระบบห้องสมุดประชาชนของประเทศเดนมาร์ก อยู่ภายใต้การบริหารงานของ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีสำนักงานนิเทศห้องสมุดประชาชน (State Inspection of Public Libraries) เป็นหน่วยงานสำหรับให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำ และจัดสรร งบประมาณ จากสถิติเมื่อปี ค.ศ. 1979 ประเทศเดนมาร์กมีห้องสมุด ประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 247 เขต มีห้องสมุดสำหรับบริการประชาชนถึง 1,200 แห่ง (นิตยา พีรานนท์ 2523 : 1-6)

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com