1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library
2 (2 - 0)
ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com
ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ
ห้องสมุดมีวิวัฒนาการมากว่า 4,000 ปี แต่เดิมเกี่ยวข้องกับทางศาสนาและสถาบัน ของกษัตริย์ เช่น เป็นห้องสมุดของวัด ห้องสมุดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
ห้องสมุดเหล่านี้ ไม่เปิดให้บริการแก่ประชาชน โดยทั่ว ๆ ไป ห้องสมุดแห่งแรก ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป เริ่มมีมาตั้งแต่ 700 ปีก่อนคริสตศักราช
เป็นห้องสมุดที่มีขนาด 2 ห้อง อยู่ในพระราชวังของ พระเจ้าอัสเซอร์บานิพาล (King Assurbanipal) แห่งกรุงนิเนเวห์ โดยพบหลักฐานว่าใน ห้องสมุดแห่งนี้
มีการรวบรวมเอกสารแผ่นเรียบ และแผ่นม้วน ซึ่งทำจากดินเหนียว มีการจารึก ตัวอักษรลงบนแผ่นดินเหนียวเหล่านี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะของหนัง สือ ประเภทแรก ๆ และก่อ
ให้เกิดพัฒนาการของหนังสือ ในรูปแบบปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งห้องสมุด
พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศเท่าที่มีหลักฐานนั้นมีประวัติเริ่มต้น ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตศักราช โดยมีหลักฐานว่า
เจ้าผู้ครองนครพิซิสตราตัส (Pisistratus) ได้สั่งให้มีการรวบรวมหนังสือ เป็นจำนวนมากในห้องสมุดขนาดใหญ่ และต่อมา ได้มอบให้กรุงเอเธนส์ และให้ประชาชนได้ใช้บริการ
(Johnson 1965 : 48) แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นใดในเรื่องนี้ ในสมัยโรมันเรืองอำนาจ มีหลักฐานว่า ขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยนั้นนิยมการจัดห้องสมุด ส่วนตัวไว้ในบ้าน
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ที่กรุงโรม และกรุงเฮอร์ดิวลาเนียม (Herculaneum) พบชั้นหนังสือติดฝาผนังเป็นจำนวนมาก จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์
เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนในกรุงโรมซึ่ง ได้บอกเล่ารายละเอียดโครงการนี้ ให้นักปราชญ์และนักเขียน ที่มีชื่อของกรุงโรมสมัยนั้นฟัง คือ มาร์คัส เทอเรนติอุส
วาร์โร (Marcus Terentius Varro) แต่องค์จักรพรรดิซีซาร์ สิ้นพระชนม์เสียก่อน อย่างไรก็ตามโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน ในกรุงโรมก็ได้จัดตั้งสำเร็จ เมื่อ 6ปี
ก่อนคริสตศักราช โดย อาซินิอุส พอลลิโอ (Asinius Pollio) ซึ่งเป็นคนสำคัญ ของกรุงโรมและได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 4 (Francis 1980 : 857) ห้องสมุดนี้นับเป็น
ห้องสมุดประชาชนแห่งแรก โดยจัดขึ้นที่อาตริอุม ลิเบอตาติส (Atrium Libertatis) เมื่อ 39 ปี ก่อนคริสตศักราช (Johnson 1965 : 66) กรุงโรมในราวศตวรรษที่ 4
เจริญรุ่งเรืองในเรื่อง ห้องสมุดประชาชนเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่า มีห้องสมุดประชาชนถึง 20-30 แห่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นห้องสมุดประชาชน
อย่างแท้จริงในสมัยปัจจุบันนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับ ผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ กรุงโรมยังมีบันทึกที่น่าภาคภูมิใจในเรื่องของคนที่รู้หนังสือ
มีคนประกอบอาชีพ เป็นคนขายหนังสือ เป็นจำนวนมาก ตามเมืองใหญ่ ๆ และยึดเป็นแฟชั่นที่จะต้องมีหนังสืออยู่ในบ้าน แต่เมื่ออาณาจักร โรมันล่มสลายลง
กิจการห้องสมุดในประเทศตะวันตก ก็เสื่อมลงพร้อม ๆ กับ อุตสาหกรรมการพิมพ์ หนังสือก็หยุดชะงักลงเช่นกัน (Irwin 1968 : 405)
วิวัฒนาการความเจริญ ของห้องสมุดประชาชนถัดมา คือ ห้องสมุดชนบท (Towm Library) ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ในศตวรรษที่ 15-19 ในประเทศอังกฤษ
สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ห้องสมุดยุคแรก ๆ ในประเทศอังกฤษจัดตั้งขึ้นเป็นการอภินันทนาการ หรือการจัดตั้ง ร่วมกันของประชาชน
หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในความดูแลของท้องถิ่น ห้องสมุด ที่จัดตั้งขึ้นที่เมือง นอร์วิค (Norwich) เมืองเลย์เชสเตอร์ (Leicester) และเมืองบริสตอล (Bristol)
ในประเทศอังกฤษเมื่อราวศตวรรษที่ 17 นั้นมีปัญหา คือ การละเลยของ ผู้เป็นเจ้าของ กล่าวคือ ห้องสมุดที่เมืองบริสตอล หนังสืออยู่ในความครอบครองของห้องสมุดเอกชน
เพื่อรับภาระแทนสภาเมือง (Town Council) ในเรื่องการเงิน ส่วนห้องสมุดที่เมืองเลย์เชสเตอร์ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1632 นั้นอยู่ในภาวะที่ขาดการดูแลเอาใจใส่และการละเลย
อย่างสิ้นเชิง
ห้องสมุดประชาชนในประเทศอังกฤษอีกแห่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ ห้องสมุดเชทแฮม แห่งเมืองแมนเซสเตอร์ (The Chetham Library in Manchester) จัดตั้งขึ้นเมื่อ
ค.ศ. 1653 ผู้จัดตั้งคือนายฮัมฟรีย์ เชทแฮม (Mr. Humphrey Chetham) ซึ่งเป็นพ่อค้าขายขนแกะ และนายทุนให้กู้ยืมเงิน เขาได้บริจาคเงิน
จำนวนมากเพื่อสนับสุนกิจการห้องสมุด
การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนในประเทศตะวันตกมีปัญหาเรื่องการบริหารงาน ห้องสมุดชนบท ในประเทศฝรั่งเศส ก็มีปัญหาเช่นเดียวกันกับในประเทศอังกฤษ คือ
การขาด เงินทุนในการดำเนินงาน ห้องสมุดหลายแห่งจึงต้องเลิกกิจการไป แต่ห้องสมุดบางแห่งก็ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ เช่น ห้องสมุดชนบทที่เมือง Caen จังตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.
1431 หลังจากประสบปัญหา เนื่องมาจากสงครามทางศาสนา ได้หยุดกิจการ และเริ่มให้บริการได้ใหม่ ใน ค.ศ.1736 ในประเทศเยอรมัน มีการจัดตั้งห้องสมุดชนบท
ที่เมืองราติสบอง (Ratisbon) เมื่อ ค.ศ.1430 เมืองอุลม์ (Ulm) ประมาณ ค.ศ. 1440 เมืองเออร์ฟอร์ท (Erfurt) เมื่อ ค.ศ.1440 เมืองนูเรมเบริก์ (Nuremburg) เมื่อ ค.ศ. 1445
เมืองฮัมบูรก์ (Hamburg) เมื่อ ค.ศ. 1529 และที่เมืองลูเบก (Lubeck) เมื่อ ค.ศ. 1530 เป็นต้น (Sessa 1978: 269)
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com