1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

คู่มือปฏิบัติงาน

ในการบริหารงานห้องสมุด วิธีการหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการปฎิบัติงาน คือ การสร้างมาตรฐานการปฎิบัติงาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า คู่มือปฎิบัติงาน มาตรฐานนี้จะ ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพในการทำงานของบุคลากร และใช้เป็นหลัก การดำเนินงานทุกประเภทในห้องสมุด ช่วยให้ผู้ปฎิบัติงานยึดถือเป็นหลักในการดำเนินงาน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวบุคคล งานก็ยังคงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพราะมีแนวในการปฎิบัติ และทำให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่แต่ละคนมีหน้าที่ การงานอะไรบ้าง เหมาะสมและมีความสามารถในการทำงานเพียงไร จะต้องแก้ไข ปรับปรุง และให้ความดีความชอบอย่างไร

คู่มือการปฏิบัติงาน ควรประกอบไปด้วย

    1. ประวัติของห้องสมุด
    2. นโยบายและวัตถุประสงค์ของห้องสมุด
    3. การแบ่งแผนกงานในห้องสมุด
    4. ระเบียบข้อบังคับของห้องสมุด
    5. จรรยาบรรณของบรรณารักษ์
    6. หลักและวิธีปฎิบัติงานต่าง ๆ โดยระบุลักษณะของงาน วิธีทำเป็นขั้นตอนตามลำดับ เขียนเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ดูง่าย เช่น หลักการจัดหมวดหมู่หนังสือและการพิมพ์บัตร รายการ ระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการปฎิบัติงานห้องสมุดประชาชน

ประโยชน์ของคู่มือปฎิบัติงาน

คู่มือปฎิบัติงานนี้ จำแนกประโยชน์ออกได้ 3 ระดับ คือ

    1. ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ห้องสมุด
      1.1 ช่วยความจำ ให้ปฎิบัติงานอย่างมีระเบียบแบบแผนเดียวกันตลอด
      1.2 สร้างความรู้สึกรับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น เพราะคู่มือบ่งสายงาน บังคับบัญชาว่าขึ้นอยู่กับใครและรับผิดชอบอะไรบ้าง
      1.3 เป็นแนงทางในการคิดปรับปรุงงาน เนื่องจากได้เห็นแบบอย่างต่าง ๆ จากคู่มือแล้ว
      1.4 ให้ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับงานที่ทำ ทำให้ปฎิบัติหน้าที่ตรงตามเป้าหมาย
      1.5 ช่วยลดข้อโต้แย้ง ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นต่างกันระหว่างแผนกงาน เพราะคู่มือระบุอำนาจและหน้าที่ ของแต่ละแผนกไว้แล้ว
      1.6 ส่งเสริมความเข้าใจในหมู่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ
      1.7 ช่วยชี้แนวทางแก่ผู้รับงานใหม่ให้รู้จักหลักปฎิบัติงานอย่างรวดเร็ว เป็นการประหยัดเวลาและแรงงานใน การมอบหมายงาน และรับงาน

    2. ประโยชน์แก่ผู้บริหารงานห้องสมุด

      2.1 เป็นเครื่องวัดผลงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น งานแผนกจัดหมู่และ ทำบัตรรายการ ดูจำนวนหนังสือที่ออกให้ยืมและผลการปฎิบัติในแผนก
      2.2 ทำให้จัดตั้งมาตรฐานการทำงานได้ เนื่องจากคู่มือช่วยสร้างความเข้าใจ ระบบงานทั้งหมด ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างแผนกและผลการปฎิบัติหน้าที่
      2.3 ช่วยให้วางระเบียบแบบแผนกันทั่วห้องสมุดได้ง่ายขึ้น
      2.4 เป็นหลักในการมอบหมายความรับผิดชอบแก่แผนกหรือบุคคลได้สะดวก รวดเร็ว ถ้าหากมีการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนงาน

    3. ประโยชน์แก่ส่วนรวม

      3.1 ช่วยประชาสัมพันธ์ห้องสมุด ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจลักษณะงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วยส่งเสริมฐานะของห้องสมุดได้ดีขึ้น
      3.2 เป็นคำตอบของข้อวิจารณ์ห้องสมุดในแง่ต่าง ๆ เช่น บรรณารักษ์ ทำงานอะไรบ้าง

หน้าสารบัญ
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com