การเขียนผลงานทางวิชาการกับการสืบค้นในระบบอินเทอร์เน็ต
Text writing and searching in the INTERNET

รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
สำนักวิทยบริการ สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี

chumpot@hotmail.com

ตัวอย่างการลงรายการอ้างอิงในหน้าเอกสารรายงาน

ความหมายของสารนิเทศและสารนิเทศศาสตร์

ความหมายของสารนิเทศ (Information)

               คำในภาษาไทยต่อไปนี้ คือ ข่าวสาร ข้อมูล วิชาการ แหล่งความรู้ และ เอกสาร ล้วนแล้วแต่แปลเกือบจะ ใกล้เคียงกัน บางคำอาจใช้แทน กันได้ บางครั้งก็อาจ เกิดความสับสนว่าจะใช้คำไหนดี ในภาษาอังกฤษมีคำที่เรียกใช้อยู่คำหนึ่งซึ่งตรงกับสังคม ยุคข่าวสาร คือ คำว่า Information และเรียกวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Information ว่า Information Science

               สมาคมห้องสมุดอเมริกันให้คำจำกัดความของคำว่า Information ว่า หมายถึง ความคิด ข้อเท็จจริง และผลงานที่เกิดขึ้นจากจิตใจทั้งหมด ซึ่งมีวิธีการติดต่อสื่อสาร มี การจดบันทึกรวบรวม มีการตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีวิธีการแจกจ่ายทั้งอย่างเป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการ (Young, 1983, p.117) ในทุกรูปแบบ

               คำว่า "Information" ซึ่งบัญญัติความหมายโดย พรีเธิรท์ (Prytherch, 1987, p.381) สรุปได้ว่า คือ ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการบันทึกบนกระดาษ หรือวัสดุอื่น ๆ และใช้ ประโยชน์เพื่อการสื่อสาร และ พาล์มเมอร์ (Palmer, 1987, p. 6) ให้ความหมายที่สั้นกระทัดรัดว่า คือข้อมูลซึ่งใช้ในการตัดสินใจ

               ส่วนคำในภาษาไทย แปลคำว่า Information คือ ข่าวสาร เรื่องราว ข้อความรู้ ข้อสนเทศ สารนิเทศ ความรู้ (อัมพร ทีขะระ, 2528, หน้า 160) และ ราชบัณฑิตยสถาน (2524, หน้า 37) บัญญัติศัพท์ว่า สารนิเทศ แต่ก็มีการใช้คำว่า สนเทศ ซึ่งให้หมายถึง คำสั่ง ข่าวสาร ใบบอก(ราชบัณฑิตยสถาน, 2525, หน้า 768) ซึ่งเมื่อ พิจารณาแล้ว ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมถึงคำว่า information ในภาษาอังกฤษ

               เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า " information" ในภาษาอังกฤษ และ "สารนิเทศ" ในภาษาไทย แล้ว นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ (2526, หน้า 115) ได้สรุปว่า หมายถึง ข่าว ข้อเท็จจริง ข้อมูล ตลอดจนความรู้ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ทั้งในรูปของสิ่งตีพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุย่อส่วน เทปโทรทัศน์ เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก เป็นต้น ข้อสนเทศ ซึ่งได้บันทึกไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่นำมาใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ การวางแผน การ ศึกษาวิจัย การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ ของบุคคลในทุกวงการและทุกระดับ ห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศอย่างถูกต้อง สมบูรณ์และตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด และทันกับ เวลาที่ต้องการด้วย

               คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า information ได้แก่ คำว่า documentation และ documentalistics ซึ่งนิยมใช้กันในศูนย์สารนิเทศ ประเทศตะวันตก แต่ก็ยังมี ความหมายไม่ครอบคลุมไปถึงความหมายของคำว่า information เพราะคำทั้งสองเน้น หนักไปทางความหมายของ "เอกสาร" จึงมีผู้บัญญัติคำว่า information ซี่งเป็นคำใหม่ และก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (นวนิตย์ อินทรามะ, 2518, หน้า 67) โดยสรุป ตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว information จึงตรงกับคำว่า สารนิเทศ

ความหมายของสารนิเทศศาสตร์ (Information Science)

               สารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมข่าวสาร เป็นวิชาที่พัฒนามาจาก หลายสาขาวิชาการ โดยเป็นสหวิทยาการที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการถ่ายทอดสารนิเทศ มีรากฐานจากวิชาบรรณารักษศาสตร์มาตั้งแต่ 669-630 ก่อนคริสตกาล และมีบทบาทมากยิ่ง ขึ้นในช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Davis and Rush, 1979, p.3)