ภาษาจีน
-
ระวังสับสนกับ ภาษาฮัน
บทความนี้มีอักษรจีนปรากฏอยู่ คุณอาจเห็นเครื่องหมายคำถามหรือสัญลักษณ์อื่นแทนตัวอักษร หากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง |
ภาษาจีน (汉语 - 漢語 - Hànyǔ - ฮั่นอวี่, 华语 - 華語 - Huáyǔ - หัวอวี่ หรือ 中文 - Zhōngwén - จงเหวิน) เป็นหนึ่งในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ชาวจีนส่วนใหญ่ถือภาษาจีนพูดชนิดต่าง ๆ ว่าเป็นภาษาเดียว โดยทั่วไปแล้ว ภาษาพูดในกลุ่มภาษาจีนเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์และไม่อ่านเนื่องเสียง อย่างไรก็ดี ยังมีความแตกต่างกันในภาษาพูดแต่ละภาษาอยู่มาก ความต่างเหล่านี้เทียบได้กับ ความแตกต่างระหว่างภาษาของภาษากลุ่มโรมานซ์ เราอาจแบ่งภาษาพูดของจีนได้ 6 ถึง 12 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ที่เป็นที่รู้จักดี เช่น กลุ่มแมนดาริน กลุ่มหวู และกลุ่มกวางตุ้ง ยังเป็นที่โต้เถียงกันถึงปัจจุบันว่าภาษาพูดบางกลุ่มควรจัดเป็น "ภาษา" หรือเป็นแค่ "สำเนียง"
ประชากรประมาณ 1/5 ของโลกพูดภาษาจีนแบบใดแบบหนึ่งเป็นภาษาแม่ ทำให้เป็นภาษาที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่มากที่สุด สำเนียงพูดที่ถือเป็นมาตรฐาน คือ สำเนียงปักกิ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาแมนดาริน ภาษาจีนกลาง หรือ ภาษาจีนแมนดาริน (Standard Mandarin) เป็นภาษาทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน เป็นหนึ่งในภาษาทางการ 4 ภาษาทางการของประเทศสิงคโปร์ (ร่วมกับ ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ) และเป็นหนึ่งใน 6 ภาษาที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ (ร่วมกับ ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน) ภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นภาษาทางการของ ฮ่องกง (ร่วมกับภาษาอังกฤษ) และมาเก๊า (ร่วมกับภาษาโปรตุเกส)
นอกจากนี้ ภาษาเขียนยังได้เปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงของภาษาเขียน ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาพูดอย่างมาก จึงไม่ถูกจำกัดโดยความเปลี่ยนแปลงของภาษาพูดโดยส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ภาษาจีนใช้อักษรมาตรฐาน 2 รูปแบบทั่วโลก ได้แก่ อักษรจีนตัวเต็ม และ อักษรจีนตัวย่อ
เนื้อหา |
[แก้] ภาษาพูดของจีน
แผนที่ด้านขวาแสดงพื้นที่ที่มีประชาชนพูด ทั้งภาษาและสำเนียงภาษาจีนต่างกันในประเทศจีน โดยพื้นฐาน เราอาจแบ่งกลุ่มภาษาจีนออกเป็น 7 กลุ่มใหญ่ๆ ตามจำนวนประชากรที่พูดได้ ดังนี้
- แมนดาริน (จีนตัวเต็ม: 官話, จีนตัวย่อ: 官话, พินอิน: Guānhuà กวานฮว่า, คำแปล: ภาษาทางการ) หรือ สำเนียงทางเหนือ (จีน: 北方方言, พินอิน:Běifāngfāngyán เป่ยฟังฟังเอี๋ยน)
- อู๋ (จีนตัวเต็ม: 吳方言, จีนตัวย่อ: 吴方言, พินอิน: Wú fāng yán อู๋ฟางเอี๋ยน, คำแปล: สำเนียงอู๋) หรือ (จีนตัวเต็ม: 吳語, จีนตัวย่อ: 吴语, พินอิน: wú yǔ อู๋อวี่, คำแปล: ภาษาอู๋) ในมณฑลเจียงซู
- กวางตุ้ง (จีนตัวเต็ม: 粵語, จีนตัวย่อ: 粤语, พินอิน: Yue yǔ เยว้-อวี่, คำแปล: ภาษากวางตุ้ง)
- ฮกเกี้ยน หรือ หมิ่น (จีนตัวเต็ม: 閩方言, จีนตัวย่อ: 闽方言, พินอิน: Mǐnfāngyán หมิ่นฟางเอี๋ยน, คำแปล: สำเนียงหมิ่น) ในมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน
- เซียง (จีนตัวเต็ม: 湘語, จีนตัวย่อ: 湘语, พินอิน: Xīang yǔ เซียงอวี่, คำแปล: ภาษาในมณฑลหูหนาน)
- แคะ (จีนตัวเต็ม: 客家話, จีนตัวย่อ: 客家话, พินอิน: Kèjiāhuà เค้อเจียฮว่า, คำแปล: ภาษาแคะ) หรือ ฮักกา
- กั้น (จีนตัวเต็ม: 贛語, จีนตัวย่อ: 赣语 กั้นอวี่, คำแปล: ภาษามณฑลเจียงสี)
นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์ยังได้แบ่งกลุ่มภาษาจีนออกมาจากกลุ่มใหญ่ข้างบนอีก 3 ประเภท ได้แก่
- จิ้น (จีนตัวเต็ม: 晉語, จีนตัวย่อ: 晋语, พินอิน: Jìnyǔ จิ้นอวี่) แยกมาจาก แมนดาริน
- ฮุย (จีนตัวเต็ม: 徽語, จีนตัวย่อ: 徽语, พินอิน: Huīyǔ ฮุยอวี่) หรือ (จีนตัวเต็ม: 徽州話, จีนตัวย่อ: 徽州话, พินอิน: Huīzhōuhuà ฮุยโจวฮว่า) แยกมาจาก อู๋
- ผิง (จีนตัวเต็ม: 平話, จีนตัวย่อ: 平话 , พินอิน: Ping yǔ ผิงอวี่) แยกมาจาก กวางตุ้ง
[แก้] ดูเพิ่ม
- สำเนียงแต้จิ๋ว - ภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว
- ภาษาจีนกวางตุ้ง - ภาษาในตระกูลภาษาจีน
- ภาษาจีนฮกเกี้ยน - ภาษาในตระกูลภาษาจีน
- พินอิน - การถ่ายทอดเสียงภาษาจีนกลางด้วยอักษรโรมัน
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ประวัติการศึกษาภาษาจีนในไทยจาก ThaiChinese.Net
- all-chinese
- มุมจีน ในเว็บผู้จัดการออนไลน์
- รวมเว็บที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีน จาก TUChinese
|
|