หน่วยที่ 5
การประเมินคุณค่าและการใช้ประโยชน์จากความรู้
ผศ.ฑัณฑิกา ศรีโปฎก
5.2 การประเมินคุณค่าของความรู้
ดังได้กล่าวแล้วว่าคุณค่าของความรู้อยู่ที่การนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ หรือทางที่เกิดโทษ ดังนั้นในการประเมินคุณค่าของความรู้จึงพิจารณาได้จาก 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
1) ความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของความรู้ที่ได้มา หรือที่มีผู้รู้ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าความรู้ที่ได้มา หรือมีอยู่นั้นมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นความจริงถูกต้องทั้งหมดก็ย่อมมีคุณค่าสูง ทำให้สามารถกำหนดการใช้ประโยชน์ได้มาก
2) ความครบถ้วนสมบูรณ์ของความรู้ หมายถึงต้องรู้รอบด้านในความรู้เรื่องนั้น ๆ อย่ารู้เพียงด้านเดียวหรือไม่ครบถ้วนที่ควรต้องรู้ จะทำให้ใช้ประโยชน์ไม่ได้เท่าที่ควร หรืออาจเกิดโทษได้ด้วย ตัวอย่างเช่น หากมีความรู้ว่าการกินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์สามารถรักษาอาการเจ็บคอได้ก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีผลทำให้เกิดอาการความดันเลือดต่ำได้ด้วย ซึ่งหากผู้ใดใช้ไม่เหมาะสมไม่รู้สภาพของตนเองก็อาจเป็นอันตรายได้
3) ความเหมาะสมกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะนำความรู้ไปใช้ หมายถึง หากนำเอาความรู้ไปใช้ในบางโอกาสที่ไม่เหมาะสมหรือในบางสถานการณ์ แม้จะเป็นความรู้ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน แต่อาจไม่เกิดประโยชน์ก็ได้ คุณค่าของความรู้ก็จะหายไปหรือน้อยลงด้วย
4) ความทันสมัยของความรู้ มนุษย์คิดค้นและพัฒนาความรู้อยู่ตลอดเวลา ความรู้จึงมีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามาก และใช้ประโยชน์ได้สูง ความรู้ใดที่เป็นเรื่องใหม่ล่าสุดทันสมัยที่สุด มักจะมีคุณค่าสูงด้วยเมื่อนำมาใช้ประโยชน์
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|