|
หน่วยที่ 3 แหล่งความรู้และระบบการจัดเก็บความรู้
ผศ.จินตนา เกษรบัวขาว
3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งความรู้
ความรู้จากหลาย ๆ แหล่งสามารถนำมาสัมพันธ์กันได้ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากความรู้มีได้สูงสุด แหล่งความรู้ต่าง ๆ จึงมีความสัมพันธ์กันใน 3 ลักษณะ คือ
1) ความสัมพันธ์กันในด้านเนื้อหา ซึ่งมีลักษณะเนื้อหาความรู้สัมพันธ์กัน 3 แบบ ได้แก่
(1) ความสัมพันธ์เชิงสนับสนุน สอดคล้อง หรือยืนยันซึ่งกันและกัน หมายถึง
แหล่งความรู้ที่มีข้อมูลสารสนเทศหรือความรู้ที่ตรงกันเหมือนกัน เช่น หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่มีข้อความเหมือนกัน หรือคล้ายกันและสาระสำคัญตรงกัน แม้ว่าจะเป็นชนิดของสื่อที่แตกต่างกัน แต่มีข้อเท็จจริงตรงกัน เช่น ข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งอธิบายลักษณะตรงกับภาพวาดหรือภาพถ่ายที่มีในอีกเล่มหนึ่ง เป็นต้น ก็ถือว่ามีความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนสอดคล้องกัน
(2) ความสัมพันธ์เชิงหักล้าง แตกต่างหรือขัดแย้งกัน หมายถึง แหล่งข้อมูลสองแหล่ง
ขึ้นไปที่มีสาระสำคัญเป็นความรู้หรือข้อมูลที่แตกต่างกัน ไม่ตรงกัน ทั้งข้อมูลความรู้ที่มีในสื่อชนิดเดียวกัน หรือประเภทเดียวกัน หรือ ต่างชนิดกันก็ได้ เช่น ข้อความในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ตรงหรือไม่เหมือนกับในเล่มอื่นซึ่งจะมีความรู้เรื่องเดียวกันซึ่งอาจจะอยู่ในลักษณะข้อความหรือภาพก็ได้
(3) ความสัมพันธ์เชิงขยายความหรือเพิ่มรายละเอียดของสาระความรู้ทำให้
ประเด็นความรู้มีรายละเอียดมากขึ้นนำมาผสมผสานกันได้ เช่นแหล่งหนึ่งมีข้อมูลความรู้เรื่อง สูตรผสมผสานยารักษาโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านั้นจะสามารถหาได้จากที่ใด ความรู้เรื่องส่วนผสมของตัวยาตามสูตรดังกล่าวอาจหาได้จากแหล่งความรู้อื่น ดังนี้เป็นต้น
2) ความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งความรู้อาจพิจารณา ได้จากความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งความรู้ดังต่อไปนี้
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน จะเป็นความสัมพันธ์ทางความรู้ 2 ลักษณะ คือ
(1.1) เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
(1.2) เป็นการถ่ายทอดหรือส่งผ่านความรู้จากผู้รู้มากกว่าไปให้ผู้รู้น้อยกว่า
(2) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัสดุบันทึกความรู้ จะเป็นความสัมพันธ์ทางความรู้ 2 ลักษณะ คือ
(2.1) เป็นการบันทึกความรู้มิให้ลืมเลือนสูญหาย
(2.2) เป็นการแพร่กระจายความรู้ให้ปรากฏในหลาย ๆ ที่
(3) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงของการศึกษารับรู้
และเรียนรู้ของคนจากปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านั้น อย่างเดียว เพราะธรรมชาติทั่วไปเป็นปรากฏการณ์หรือข้อเท็จจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ตามปกติโดยไม่รับรู้อะไร มีแต่มนุษย์หรือสัตว์เท่านั้น ที่รับรู้ และเรียนรู้จากธรรมชาติ
(4) ความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งที่เป็นองค์กร หรือหน่วยงานที่รวบรวมสะสมทรัพยากร
สารสนเทศ หรือทรัพยากรเพื่อความรู้ เป็นความสัมพันธ์ขององค์กรหรือสถาบันในสังคมที่มุ่งร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันให้คนสามารถแสวงหา เข้าถึงและใช้ทรัพยากรเพื่อความรู้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเพียงพอต่อความต้องการ ความสัมพันธ์ของหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ ปกติจะได้แก่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์ข้อมูลในชื่อต่าง ๆ จะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังนี้
(1) เป็นแหล่งความรู้เดี่ยวๆ เฉพาะทางเพื่อให้มีแหล่งข้อมูลความรู้หลากหลายสาขาวิชาความรู้
(2) เป็นแหล่งความรู้ที่ต่อเนื่องกันจากความรู้ระดับง่าย ๆ ธรรมดาขึ้นไปเป็นแหล่ง
ความรู้ระดับสูง ๆ ยาก ๆ
(3) เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลความรู้
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|