4000107 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิต
Information Technology for Life

3 (2 - 2)

ผู้สอน : รศ จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ความหมายของเทคโนโลยีสารนิเทศ

เทคโนโลยีสารนิเทศ มาจากคำภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ คำว่า technology และinformation ในภาษาไทยใช้คำรวมกันว่า เทคโนโลยีสารนิเทศ โดยคำว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฎิบัติและอุตสาหกรรม (ราชบัณฑิตยสถาน 2530 : 408) ส่วนคำสารนิเทศ หรือ สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูล เรื่องราว หรือข่าวสาร จึงมีผู้ให้ความหมายรวมกันสำหรับคำ เทคโนโลยีสารนิเทศ ว่าหมายถึงเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งนำมาใช้สำหรับการจัดหา การประมวลผล การจัดเก็บ และการเผยแพร่สารนิเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ตัวเลขข้อมูล ภาพและเสียง ในขอบเขตสาขาวิชาต่างๆ (Prytherch 1996 : 353) และ เนื่องจากเทคโนโลยีสารนิเทศมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆอีกมาก จึงมีผู้ขยายขอบเขตความหมายของเทคโนโลยีอีกว่า หมายถึง การนำวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และเทคนิคการจัดการ นำมาใช้กับการให้บริการสารนิเทศ และ การประมวลผลสารนิเทศ ตลอดจนการศึกษาถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆดังกล่าว เช่น การใช้คอมพิวเตอร์และ ความสัมพันธ์ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างคนและเครื่องจักร(Rowly 1988 :1)

จากความหมายของเทคโนโลยีสารนิเทศ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีสารนิเทศ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีโทรคมนาคม และ เทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีส่วนประกอบอื่น ๆ คือ ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารนิเทศในสังคม

พัฒนาการของเทคโนโลยีสารนิเทศ

การที่มนุษย์นำตนเองเข้าสู่สังคมสารนิเทศ เป็นการนำระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสะสมข้อมูล และ การใช้รหัสตัวเลขสั่งงานมาใช้ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการสื่อสารสารนิเทศ ประกอบกับการพัฒนาทางโทรคมนาคมมีส่วนสนับสนุนสังคมสารนิเทศอย่างสมบูรณ์ สารนิเทศเกิดความหลั่งไหลอย่างต่อเนื่อง ปราศจากเครื่องปิดกั้นใดๆ ไม่มีปัญหาในเรื่องของเวลา ระยะทาง และชนิดของสารนิเทศ และยังมีการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ข้อมูลสารนิเทศยังเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม และมีประสิทธิภาพอย่างคาดคิดไม่ถึง แต่กว่ามนุษย์จะมีพัฒนาการในการใช้สารนิเทศเพื่อประโยชน์สูงสุด เช่น ในทุกวันนี้ ต้องผ่านความยากลำบากและเผชิญอุปสรรคต่อการใช้สารนิเทศมาโดยตลอด พัฒนาการของเทคโนโลยี มีผู้สรุปไว้ว่า สามารถแบ่งได้เป็น 6 ยุค (สมควร กวียะ, 2529, หน้า 916 - 924) ดังต่อไปนี้ คือ
1.ยุคเทคโนโลยียุคแรก เป็นยุคที่ย้อนไปในอดีตประมาณ 500,000 ปีล่วงมาแล้ว เป็นยุคของการเกิดรหัสภาษาแทนความหมายในสมองเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างสรรค์อารยธรรมที่มั่นคงไพศาล และเมื่อประมาณไม่กี่หมื่นปี มนุษย์เริ่มรู้จักเครื่องมือสื่อสารภายนอกร่างกาย ส่งข่าวสารในระยะทางไกล ข่าวสารที่เป็นรหัสเสียงมักอาศัยการเคาะไม้หรือรัวกลอง ข่าวสารที่เป็นรหัสภาพมักอาศัยควันไฟหรือสัญญาณธง นอกจากนั้นยังเริ่มรู้จักใช้เครื่องเขียนง่ายๆ บันทึกเหตุการณ์ ความจำ หรือความคิดไว้บนผนังถ้ำ เป็นรูปภาพที่จะได้รับการพัฒนาเป็นตัวอักษรในยุคต่อมา
2. ยุคภาษาเขียน เริ่มต้นประมาณ 5,000 ปีที่แล้วมา มนุษย์สามารถผสมภาษาพูดกับภาษาภาพออกมาเป็นภาษาเขียน เท่ากับรหัสภาพ (ตัวอักษร) ให้รหัสเสียง (คำพูด) นั่นเอง นับว่าเป็นการประดิษฐ์ตัวสารหรือสื่อที่สามารถบันทึกไว้เพื่อเก็บเป็นความจำนอกสมอง หรือเขียนส่งไปให้ผู้รับสารที่อยู่ห่างไกลได้
3. ยุคการสร้างรหัสภาษาพิมพ์และสื่อมวลชน ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อ กูเต็นเบอร์ก ชาวเยอรมัน ได้ประดิษฐ์ตัวพิมพ์ที่ใช้เรียงกันเป็นคำ เป็นประโยคสะดวกต่อการผลิตรหัสภาษา ครั้งละจำนวนมากๆ เพื่อใช้ส่งข่าวสารที่ต้องการออกไปให้หลายๆคน สิ่งประดิษฐ์ของกูเต็นเบอร์ก หรือเครื่องพิมพ์หนังสือนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งแรกของการสื่อสารในสังคม
4. ยุคโทรคมนาคม เทคโนโลยียุคนี้ เริ่มต้นเมื่อปลายคริสตวรรษที่ 19 เมื่อ แซมมวล เอฟ บี มอร์ส ค้นพบวิธีการสื่อสารทางไกลด้วยรหัสมอร์ส กลายเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า โทรเลข ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโทรคมนาคมหรือยุคแห่งเทคโนโลยีที่สามารถส่งรหัสเสียงและรหัสภาพออกไปพร้อมกันในที่ต่างๆได้ เมื่อเริ่มเปิดให้มีบริการโทรศัพท์ และ วิทยุโทรเลข ยังแสดงให้เห็นว่า การโทรคมนาคมมีบทบาทต่อการใช้สารนิเทศในสังคมเป็นอย่างมาก และ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 มีสื่อสารนิเทศหลายชนิดเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมทำให้สังคมในสมัยนั้นได้รับข่าวสารจากเครื่องเล่นจานเสียง ภาพยนตร์ จนกระทั่งกลายเป็น วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์
5. ยุคสังคมสารนิเทศ (Information Society) ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อคอมพิวเตอร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 เป็นต้นมา คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ประมวลเอาคุณสมบัติของเครื่องมือสื่อสารแทบทุกชนิดในอดีต มารวมไว้ในเครื่องเดียวกัน นับตั้งแต่รหัสภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาพิมพ์ การรับ การแปล การเก็บ การประมวล วิเคราะห์ ไปจนถึงการส่งรหัสและการป้อนกลับ ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกับสมองและอวัยวะสื่อสารของมนุษย์ คอมพิวเตอร์ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถจัดการกับปริมาณข้อมูลจำนวนนับไม่ถ้วนได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็วไม่มีผิดพลาด เมื่อนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับระบบโทรคมนาคมยิ่งทำให้สังคมของโลกสามารถติดต่อส่งสารนิเทศซึ่งกันและกันได้ กลายเป็นสังคมข่าวสารหรือสังคมสารนิเทศที่กำลังมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนในขณะนี้
6. ยุคสังคมสื่อสาร (Communication Society) เป็นยุคที่คาดว่าคงจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ต่อเนื่องกันไปจากยุคสังคมสารนิเทศ ในขณะที่สังคมข่าวสารหมายถึง สังคมที่เน้นใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมร่วมกับคอมพิวเตอร์เข้ามาบริการสารนิเทศแก่ประชาชน สังคมสื่อสารจะมุ่งเน้นให้คนในสังคมใช้เทคโนโลยีดังกล่าวส่งสารนิเทศไปบริการสังคม ได้โดยสะดวก สังคมสื่อสารใช้วิธีการเชื่อมโยงระบบโทรคมนาคมกับคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์ โทรสาร และดาวเทียมเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์จากประเทศต่างๆ สู่เมืองใหญ่และสู่ชุมชน ช่วยให้กระบวนการรับส่งสารนิเทศดำเนินไป อย่างสะดวกทั้งเป็นฝ่ายติดต่อรับข่าวสาร และส่งข่าวสารออกไปสู่สังคมได้อีกด้วย

พัฒนาการของเทคโนโลยีสารนิเทศทั้ง 6 ยุคที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า สังคมของโลกกำลังอยู่ในยุคสังคมสารนิเทศ และในบางประเทศกำลังอยู่ในยุคสังคมสื่อสาร แม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีสภาพอยู่ในสังคมสารนิเทศและกำลังก้าวไปสู่สังคมสื่อสารเช่นกัน ทั้งนี้เพราะระบบโทรคมนาคมก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว คนในสังคมจึงต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้สารนิเทศ และหมั่นติดตามเทคโนโลยีสารนิเทศให้เกิดความเข้าใจต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ถ้าไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายการสื่อสารในประเทศเพื่อให้มีการใช้ที่มีประสิทธิภาพ ให้มีการประสานที่เป็นระบบและให้มีการผลิตที่มีสมรรถนะและจินตนาการทันสมัย แนวโน้มการสื่อสารในประเทศไทยคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เครื่องมือสื่อสารคงจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยสมองและเครื่องจักรกลไกของต่างประเทศต่อไป คนไทยจะยังเป็นผู้บริโภคที่ยังใช้ไม่ค่อยจะเป็น เครื่องโทรศัพท์อาจจะมีรูปร่างทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ก็ใช้โทรศัพท์เพื่อเรื่องราวส่วนตัวมากกว่าที่จะใช้เพื่อแสดงหาข้อมูลข่าวสารที่ลึกซึ้งกว้างขวาง ไมโครคอมพิวเตอร์อาจจะเพิ่มจำนวนเผยแพร่ออกไปเป็นคอมพิวเตอร์ประจำบ้านกันมากขึ้น แต่การใช้ประโยชน์อาจจะยังจำกัดอยู่ในที่ชื่นชมกับความตื่นเต้นเพลิดเพลิน มากกว่าการหาวิธีจัดเก็บข้อมูลข่าวสารสำหรับตนเองและครอบครัว (สมควร กวียะ, 2529, หน้า 952) จึงนับว่าเทคโนโลยีสารนิเทศยิ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นไปเท่าใด ย่อมมีผลกระทบมากยิ่งขึ้น แต่ผลกระทบจะน้อยและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นได้มากขึ้น หากผู้ใช้สารนิเทศมีความรู้ ความเข้าใจต่อการแสวงหาสารนิเทศอย่างแท้จริง นักสารนิเทศต้องถือเป็นหน้าที่อย่างสำคัญ ในการแนะนำประโยชน์ต่อการให้บริการและใช้สารนิเทศเพื่อประโยชน์สุขของสังคมข่าวสาร ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่

เทคโนโลยีสารนิเทศ เป็นวิธีการผสมผสานการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์กับระบบโทรคมนาคมและระบบสำนักงาน (U.P.I, 1988, p.12) ในประเทศสิงคโปร์เริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมสารนิเทศที่ปราศจากกระดาษ (A paperless society) โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารนิเทศในการทำงานมีการเตรียมบุคลากรเพื่อทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 8,000 คน โดยวางแผนระดับชาติว่าจะมีเจ้าหน้าที่เลขานุการ กว่า 200,000 คน ให้ทำงานเพื่อเปิดยุคเทคโนโลยีสารนิเทศในประเทศ เป็นการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับความสำคัญของการใช้สารนิเทศปัจจุบันและพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศในสังคมสารนิเทศโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญ การใช้เทคโนโลยีสารนิเทศจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศในประเทศต่างๆ แหล่งที่ให้บริการสารนิเทศเริ่มเห็นความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของตนเพื่อเตรียมรับเทคโนโลยีสารนิเทศอย่างเต็มที่ การใช้คอมพิวเตอร์ใน งานสารนิเทศทั่วไปและงานสำหรับศูนย์สารนิเทศ หรือห้องสมุดประเภทต่าง ๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมาแทนที่การให้บริการสารนิเทศแบบเต็มที่เคยทำกันมา การที่ศูนย์สารนิเทศและห้องสมุดต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจากการทำด้วยมือเป็นระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่สำคัญดังต่อไปนี้ (Rowley, 1980, pp.3- 4) คือ
1. ปริมาณงานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จำนวนสารนิเทศที่มีเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมาให้บริการแก่ผู้ใช้ได้ทันท่วงที การใช้คอมพิวเตอร์จะช่วยลดปัญหาด้านนี้ได้
2. การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับศูนย์สารนิเทศจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เอกสารสารนิเทศต่างๆ ในการให้บริการจะถูกต้อง แม่นยำ การให้บริการดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
3. สามารถให้บริการใหม่ ๆ ทางสารนิเทศได้ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ ช่วยให้เกิดการบริการสารนิเทศใหม่ๆที่น่าสนใจ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย บริการใหม่ๆ ได้แก่ การคัดเลือกสารนิเทศทันสมัยเพื่อการบริการและการเผยแพร่
4.เกิดความร่วมมือและเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างห้องสมุด และ ศูนย์สารนิเทศต่างๆ การใช้คอมพิวเตอร์จะเอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงศูนย์สารนิเทศด้วยระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่างๆ ทำให้สะดวกต่อการให้บริการสารนิเทศเป็นระบบสารนิเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดความร่วมมือในการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารนิเทศ

จากพัฒนาการทางด้านการสื่อสาร การคมนาคม และคอมพิวเตอร์ที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก แม้กระทั่งการสื่อสารแต่ละชนิดเมื่อพัฒนามาใช้กับเทคโนโลยี ยิ่งมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดคิดไม่ถึง ดังเช่น การใช้โทรศัพท์ และระบบโทรคมนาคม จัดการประชุมทางไกล หรือโทรประชุมได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดข่าวสารได้ทั่วโลก ทำให้สังคมสารนิเทศมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เทคโนโลยีสารนิเทศจึงมีประโยชน์อย่างมากต่อการให้บริการข้อมูลในศูนย์สารนิเทศ ห้องสมุด ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เทคโนโลยีสารนิเทศสามารถนำมาเป็นเทคโนโลยีเพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างดีได้ด้วย เช่น เครื่องประมวลผลข้อมูลที่ใช้กับคอมพิวเตอร์สามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ สามารถนำมาผลิตจดหมายธุรกิจ ผลิตข่าวแจกเพื่อการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องของคำและไวยากรณ์ได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีสารนิเทศไม่เพียงแต่ให้สารนิเทศที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการลดภาระการปฎิบัติงานที่ยุ่งยากที่ศูนย์สารนิเทศและห้องสมุดต่างๆเคยปฎิบัติมา ในปัจจุบันศูนย์สารนิเทศและห้องสมุดต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีสารนิเทศมาปฎิบัติงานกับแผนกงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบริการของห้องสมุด หรืองานเทคนิคของห้องสมุด การใช้เครื่องจักรกลในห้องสมุดเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมสารนิเทศปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนแปลง สภาพของโลกแห่งหอสมุดที่จำเป็นยอมรับในเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อการให้บริการสารนิเทศที่ดีแก่ผู้ใช้สารนิเทศ (Reynolds,1985, p. vii-viii) การใช้คอมพิวเตอร์จะช่วยให้งานบริการสารนิเทศรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เทคโนโลยีสารนิเทศจึงมีประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์สังคมสารนิเทศ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมสารนิเทศที่สมบูรณ์ที่สุด สมกับการมีสภาพความเป็นอยู่ในสังคมสารนิเทศอย่างแท้จริง การนำเทคโนโลยีสารนิเทศมาใช้กับสังคมสารนิเทศในปัจจุบันก่อให้เกิดการสื่อสาร และการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารนิเทศมีดังต่อไปนี้ (สุนทร แก้วลาย, 2531, หน้า 286) คือ
1. ช่วยให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยใช้โทรศัพท์คอมพิวเตอร์หรือในรูปของสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
2. ช่วยในการจัดระบบข่าวสารจำนวนมหาศาล ซึ่งผลิตออกมาในแต่ละวัน
3. ช่วยให้เก็บสารนิเทศไว้ในรูปที่สามารถเรียกใช้ได้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสะดวก
4.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสารนิเทศ เช่น ช่วยนักวิทยาศาสตร์วิศวกรด้วยการช่วยคำนวณตัวเลขที่ยุ่งยาก ซับซ้อนซึ่งไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยมือ
5. ช่วยให้สามารถจัดระบบอัตโนมัติเพื่อการเก็บ เรียกใช้และประมวลผลสารนิเทศ
6. สามารถจำลองแบบระบบการวางแผนและทำนาย เพื่อทดลองกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
7.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสารนิเทศดีกว่าสมัยก่อน ทำให้ผู้ใช้สารนิเทศมีทางเลือกที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ดีกว่า
8. ลดอุปสรรคเกี่ยวกับเวลาและระยะทางระหว่างประเทศ การใช้เทคโนโลยีสารนิเทศในสังคมสารนิเทศ

พัฒนาการของเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีสารนิเทศใหม่ๆ ที่กำลังมีบทบาทอยู่ในสังคมสารนิเทศขณะนี้ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากสื่อเทคโนโลยีสารนิเทศและอุปกรณ์ต่อไปนี้เพื่อให้ได้รับสารนิเทศ คือ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล การใช้โทรวีดีทัศน์ และโทรข้อความ เป็นต้น (Griffiths, 1982, pp. 231-236) คนในสังคมสารนิเทศจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาวิธีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เพื่อนำเทคโนโลยีสารนิเทศมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2546
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com