1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี"

ในมิ่งมงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2534 กระทรวงศึกษาธิการได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินโครงการจัดตั้ง ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเพื่อสนองแนวทางพระราชดำริในการส่งเสริม การศึกษาสำหรับประชาชนที่ได้ทรงแสดงในโอกาสต่าง ๆ

ในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุมสมัชชาสากลว่าด้วย การศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2533 ได้ทรงพระราชทานลายพระหัตถ์ เชิญชวนให้

“ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้”

และในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า” ได้ทรงกล่าวว่า

“...ความรู้ของมนุษย์เป็นมรดกที่ตกทอดกันมาแต่โบราณ เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอักษรขึ้น ผู้มีความรู้ก็ได้บันทึกความรู้ของตน สิ่งที่ตนค้นพบเป็นการจารึก หรือเป็นหนังสือทำให้บุคคลอื่นในสมัยเดียวกัน หรืออนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาทราบถึงเรื่องนั้น ๆ และได้ใช้ความรู้เก่า ๆ เป็นพื้นฐานที่จะหา ประสบการณ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นความก้าวหน้า เป็นความเจริญสืบต่อไป...”

หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จำนวน 71 แห่ง ได้ทำพิธีเปิดแล้ว จำนวน 59 แห่ง และยังไม่ทำพิธีเปิด 12 แห่ง

บทบาทหน้าที่

    1. ศูนย์ข่าวสารข้อมูลของชุมชน หมายถึง จัดห้องสมุดให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ค้นคว้า วิจัย โดยมีการจัดบริการหนังสือ เอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์
    2. ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน เป็นแหล่งส่งเสริม สนับสนุน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้
    3. ศูนย์กลางจัดกิจกรรมของชุมชน หมายถึง การให้บริการแก่ชุมชน ในการจัดกิจกรรมการศึกษา และศิลปวัฒนธรรม เช่น การประชุมขององค์กร การจัดกิจกรรมวันสำคัญตามประเพณี การจัดสวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะ เป็นต้น
    4. ศูนย์กลางสนับสนุนเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน หมายถึง การจัดให้เกิดกระบวนการ ที่จะเชื่อมประสานระหว่างห้องสมุดและแหล่งความรู้ในชุมชนอื่น ๆ เช่น ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน สถานศึกษา แหล่งประกอบการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น

อาคารห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” เป็นอาคาร 2 ชั้น มี 2 รูปแบบ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 320 ตารางเมตร และมีรูปทรงที่คล้ายคลึงกัน แบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้

    1. ห้องอ่านหนังสือทั่วไป
    หนังสือที่จัดบริการ ประกอบด้วยหนังสืออ้างอิง นวนิยาย สารคดี แบบเรียนระดับต่าง ๆ นอกจากนั้นมีหนังสือพิมพ์ วารสาร กฤตภาค จุลสาร และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มีบริการข้อมูลท้องถิ่นที่จัดขึ้นตามพระราโชบายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีข้อมูล ดังนี้
      1. ข้อมูลทั่วไป
      2.ข้อมูลทางสังคม
      3. ข้อมูลทางการเมืองการปกครอง
      4. ข้อมูลทางการศึกษา
      5. ข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม
      6. ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
      7. ข้อมูลทางการเกษตร
      8. ข้อมูลทางอุตสาหกรรม
      9. ข้อมูลทางเศรษฐกิจ
      นอกจากนี้ ยังมีมุมนักเขียนท้องถิ่น มุมวรรณกรรมพื้นบ้าน มุมธรรมะ บริการแนะแนว

    2. ห้องเด็กและครอบครัว
    ลักษณะอาจจำลองภาพจากตำนานพื้นบ้าน เทพนิยาย หรือ สภาพภูมิประเทศทั้งใกล้และไกลตัว มาตกแต่ง พร้อมกับจัดที่นั่งอ่าน ที่นั่งเล่นที่เหมาะสม มีบริเวณการจัดกิจกรรมที่เด็กและครอบครัว สามารถมีส่วนร่วมและแสดงออก เช่น การเล่านิทาน การแสดงละครหุ่น การวาดภาพการแข่งขันอ่านเขียน เป็นต้น

    3. ห้องโสตทัศนศึกษา
    มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดบริเวณสื่อ เพื่อการศึกษค้นคว้า ส่งเสริมการศึกษาด้วยตนเอง มีสื่อพื้นบ้าน ได้แก่ วิดีทัศน์ เทปเสียง สไลด์ และคู่มือประกอบการฟังและการชม

    4. ห้องเอนกประสงค์
    ในแต่ละห้องสมุดจะนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่จะครอบคลุมประเด็นในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดีของพื้นที่นั้น ๆ ภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อาชีพ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนดีมีฝีมือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น

    5. ห้องเฉลิมพระเกียรติ
    หัวใจของสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” คือ ห้องเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์นำเสนอ พระราชประวัติ พระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อประชาชนชาวไทย แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

      5.1 ห้องนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
      5.2 พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี
      5.3 นิทรรศการเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านศิลปกรรม วรรณกรรม การดนตรี
      5.4 พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริในรัชกาลปัจจุบันของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com