1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การจัดหมู่หนังสือและทำบัตรรายการ

การจัดหมู่หนังสือมีความหมายถึงกับภาษาอังกฤษว่า Classification ซึ่ง หมายความว่า เป็นการจัดกลุ่มของสิ่งของที่คล้ายคลึงกัน ไว้ด้วยกัน (Buchanan 1979:1) การจัดหมู่หนังสือเป็นการจัดหนังสืออย่างมีแบบแผนเพื่อให้หยิบใช้ได้โดยสะดวก ในสมัยโบราณ ได้มีผู้ที่คิดจัดระบบหมู่หนังสือขึ้นโดยใช้ลักษณะที่เหมือนกันเป็นเกณฑ์ เช่น จัดหมู่ตามขนาด สี ประเภท รูปแบบ เนื้อหา หรือวิธีอื่น ๆ แต่การจัดหมู่หนังสือที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ การจัดหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเหมือนกันหรือคล้ายคลึงเข้าไว้ด้วยกันตามสาขาวิชาการต่าง ๆ เมื่อห้องสมุดทำการจัดหมู่หนังสือแล้ว จะเขียนสัญญลักษณ์แทนประเภทของหนังสือ ไว้ที่สันหนังสือ สัญญลักษณ์ก็คือ เลขหมู่หนังสือ หนังสือที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวกัน จะมีเลขหมู่เหมือนกันทุกเล่ม

ในปัจจุบันห้องสมุดใช้ระบบการจัดหมู่หนังสือตามแบบสากล ระบบการจัดหมู่หนังสือ ที่นิยมใช้ในห้องสมุดทั่วโลกมี 2 ระบบ คือการจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้ หรือระบบ D.D.C. หรือ D.C. เป็นระบบที่ใช้ตัวเลขเป็นสัญญลักษณ์แทนประเภทหนังสือ และการจัดหมู่หนังสือระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress Classification) ซึ่งใช้ตัวอักษรผสมกับตัวเลข เป็นสัญญลักษณ์

ระบบการจัดหมู่หนังสือของดิวอี้ใช้กันอย่างกว้างขวางในห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชน (Harrison and Beenham 1985: 48)ส่วนระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกันนั้นนิยมใช้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยและห้องสมุดเฉพาะ

เมลวิล ดิวอี้ (Melvil Dewey) บรรณารักษ์ชาวอเมริกันเป็นผู้คิดระบบการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมขึ้น ดิวอี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในวงการห้องสมุดและบรรณารักษศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นผู้คิดระบบการจัดหมู่แบบทศนิยมแห่งแรกในโลก สมาคมนี้ได้มีการฉลองครบรอบร้อยปีของการจัดตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1976 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ แห่งแรกขึ้น ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค เมื่อ ค.ศ. 1887 และได้ออกวารสาร Library Journal เป็นวารสารทางบรรณารักษศาสตร์ฉบับ แรก ดิวอี้เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1851 และถึงแก่กรรม วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 1931

ดิวอี้มีความสนใจงานห้องสมุดเป็นพิเศษ ในขณะที่ศึกษาในวิทยาลัยแอมเมอร์สต์ (Amherst College) ในรัฐแมสซาจูเซท ได้สมัครเข้าทำงานห้องสมุดในวิทยาลัยนั้นในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ ดิวอี้ได้ไปดูงานด้านการจัดหนังสือให้สะดวกแก่การใช้ ในห้องสมุดต่าง ๆ ถึง 50 แห่ง แล้วจึงได้เริ่มคิดระบบการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมขึ้นในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. 1873 ได้นำเสนอคณะกรรมการห้องสมุดของวิทยาลัย และได้รับอนุมัติให้ใช้ในห้องสมุดของวิทยาลัยนั้น (Elliott 1981:666-671) ใน ค.ศ. 1876

หนังสือระบบการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมของดิวอี้ได้จัดพิมพ์ขึ้น เป็นครั้งแรก มีตารางเลขหมู่เพียง 12 หน้า และดรรชนี 18 หน้า ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมมาเป็นลำดับ โดยมีคณะกรรมการจัดทำ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520:102) ฉบับพิมพ์ครั้งหลังสุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 1979 แบ่งออกเป็น 3 เล่ม มีความหนาถึง 1271 หน้า (Melvil Dewey 1980) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 19 มี การปรับปรุงขอบเขตอย่างกว้างขวาง และเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในห้องสมุดเกือบทุก แห่ง (Batty 1981:7) แ สดงว่าวิทยาการในโลกนี้ได้เพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก และยัง มีฉบับย่อสำหรับให้ห้องสมุดเล็กๆใช้ และ สำหรับนิสิต นักศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ใช้เป็นตำราเรียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 เป็นฉบับครั้งหลังสุด พิมพ์ในปีเดียวกับฉบับเต็ม หนังสือนี้ ได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษาใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ในประเทศไทย สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้จัดแปล และ จัดพิมพ์ฉบับย่อซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7เป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดแปลฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 เรียบร้อยแล้ว ชื่อว่า แผนการจัดหมู่ระบบทศนิยมและดรรชนีสัมพันธ์ฉบับย่อ (สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย 2523) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนที่จะใช้เลขหมู่หนังสือ

ลักษณะของการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมของดิวอี้

การจัดหมู่ระบบนี้ใช้ตัวเลขเป็นสัญญลักษณ์ แทนประเภทของหนังสือ มี 10 หมวด ใหญ่ ดังต่อไปนี้ Dewey 1980:471)

    000 เบ็ดเตล็ดหรือความรู้ทั่วไป
    100 ปรัชญา
    200 ศาสนา
    300 สังคมศาสตร์
    400 ภาษา
    500 วิทยาศาสตร์
    600 วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือเทคโนโลยี
    700 ศิลปกรรมและการบันเทิง
    800 วรรณคดี
    900 ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การท่องเที่ยว ชีวประวัติ ฯลฯ

การแบ่งหมู่ใหญ่ทั้ง 10 หมู่นี้ เป็นการแบ่งหมวดหมู่วิชาความรู้อย่างกว้างขวาง เรียกว่า การแบ่งครั้งที่ 1 ( First Summary) เลขหมู่ใหญ่ยังแบ่งออกเป็นครั้งที่ 2 (Second Summary) ได้อีกหมู่ละ 10 ดัง ต่อไปนี้ (Dewey 1980:472)

    000 เบ็ดเตล็ดความรู้ทั่วไป
      010 บรรณานุกรมและแคตาล๊อกหนังสือ
      020 บรรณารักษศาสตร์ (Library Science) และสารนิเทศศาสตร์ (Information Science)
      030 สารานุกรมทั่วไป
      040
      050 วารสารทั่วไป
      060 สมาคมทและพิพิธภัณฑ์ทั่วไป
      070 วารสารศาสตร์ การพิมพ์ หนังสือพิมพ์
      080 ชุมนุมนิพนธ์
      090 ต้นฉบับตัวเขียนและหนังสือหายาก

    100 ปรัชญา และวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

      110 อภิปรัชญา
      120 ความรู้ (ในด้านปรัชญา) เหตุ จุดประสงค์ คน
      130 จิตวิทยาสาขาต่าง ๆ ศาสตร์เกี่ยวกับความลึกลับ
      140 ปรัชญาระบบต่าง ๆ
      150 จิตวิทยาทั่วไป
      160 ตรรกวิทยา
      170 จริยศาสตร์
      180 ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาสมัยกลาง และสมัยโบราณ
      190 ปรัชญาสมัยปัจจุบัน

    200 ศาสนา

      210 ศาสนาธรรมชาติ
      220 คัมภีร์ไบเบิ้ล
      230 เทววิทยาเชิงคริสตศาสน์
      240 เทววิทยาเชิงปฎิบัติ
      250 เทววิทยาเกี่ยวกับบรรพชิต
      260 เทววิทยาทางการศาสนา
      270 ประวัติศริสตศาสนาในประเทศต่าง ๆ
      280 คริสตศาสนาและนิกายต่าง ๆ
      290 ศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คริสตศาสนา ศาสนาเปรียบเทียบ

    300 สังคมศาสตร์

      310 สถิติ
      320 รัฐศาสตร์
      330 เศรษฐศาสตร์
      340 กฏหมาย
      350 รัฐประศาสนศาสตร์
      360 สวัสดิการสังคม
      370 การศึกษา
      380 การพาณิชย์
      390 ขนบธรรมเนียมประเพณี และนิทานพื้นเมือง

    400 ภาษา

      410 ภาษาศาสตร์
      420 ภาษาอังกฤษ
      430 ภาษาเยอรมัน
      450 ภาษาฝรั่งเศส
      460 ภาษาอิตาเลียน
      470 ภาษาสเปนและโปตุเกส
      480 ภาษากรีก
      490 ภาษาอื่น ๆ

    500 วิทยาศาสตร์

      510 ดาราศาสตร์
      520 ฟิสิกส์
      540 เคมี
      550 ศาสตร์ว่าด้วยพื้นโลก
      560 ชีววิทยา
      570 วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
      580 พฤกษศาสตร์
      590 สัตววิทยา

    600 วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยี

      610 แพทยศาสตร์
      620 วิศวกรรมศาสตร์
      630 เกษตรศาสตร์
      640 คหเศรษฐศาสตร์
      650 ธุรกิจและวิธีการธุรกิจ
      660 อุตสาหกรรมเคมี
      670 โรงงานอุตสาหกรรม
      680 สินค้าที่ผลิตจากเครื่องจักร
      690 การก่อสร้าง

    700 ศิลปกรรมและการบันเทิง

      710 สถาปัตยกรรมนอกอาคาร
      720 สถาปัตยกรรม
      730 ประติมากรรม
      740 มัณฑนศิลป และการวาดเขียน
      750 จิตรกรรม
      760 การจำลองภาพจิตรกรรม
      770 การถ่ายรูปและภาพถ่าย
      780 ดนตรี
      790 การบันเทิงและการแสดง

    800 วรรณคดี

      810 วรรณคดีอเมริกัน
      820 วรรณคดีอังกฤษ
      830 วรรณคดีเยอรมัน
      840 วรรณคดีฝรั่งเศส
      850 วรรณคดีอิตาเลียน
      860 วรรณคดีสเปนและโปรตุเกส
      870 วรรณคดีละติน
      880 วรรณคดีกรีก
      890 วรรณคดีภาษาอื่น ๆ

    900 ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การท่องเที่ยว ฯลฯ

      910 ภูมิศาสตร์และการท่องเที่ยว
      920 ชีวประวัติและสกุลวงศ์
      930 ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ
      940 ประวัติศาสตร์ยุโรป
      950 ประวัติศาสตร์ทวีปเอเซีย
      960 ประวัติศาสตร์ทวีปแอฟริกา
      970 ประวัติศาสตร์ทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดา เมกซิโก สหรัฐอเมริกา)
      980 ประวัติศาสตร์ทวีปอเมริกาใต้
      990 ประวัติศาสตร์ประเทศแถบมหาสมุทรและแถบขั้วโลกทั้งสอง (นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย นิวกีนี (ปาปัว) และหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบนั้น ๆ)

นอกจากการแบ่งหมู่ครั้งที่ 2 แล้ว แต่ละหมู่ย่อยยังแบ่งได้อีกหมู่ละ 10 เป็นการ แบ่งครั้งที่ 3 (Third Summary)

    370 การศึกษา แบ่งละเอียดครั้งที่ 3 ได้ดังนี้ (Dewey 1981:476)
      371 โรงเรียน
      372 ประถมศึกษา
      373 มัธยมศึกษา
      374 การศึกษาผู้ใหญ่
      375 หลักสูตร
      376 การศึกษาสำหรับสตรี
      377 โรงเรียนกับศาสนา
      378 อุดมศึกษา
      379 การศึกษาและรัฐ

การแบ่งละเอียดไปมากกว่านี้คือ การแบ่งหมู่ย่อย ๆ โดยใช้จุดทศนิยม ตัวอย่าง เช่น (Dewey 1980 : 513)

    371 โรงเรียน
      371.1 การสอนและครู
        .2 วิธีสอนและวิธีศึกษา
        .3 วิธีสอนและวิธีศึกษา
          .32 หนังสือตำราเรียน
          .33 โสตทัศนวัสดุเพื่อการสอน

        .4 การแนะแนว
        .5 ระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน
        .6 อาคารเรียน
        .7 สุขวิทยาโรงเรียนและความปลอดภัย
        .8 นักเรียน
        .9 การศึกษาพิเศษ

ประโยชน์ของการจัดหมู่หนังสือ

    1. หนังสือที่มีเนื้อเรื่องอย่างเดียวกันจะอยู่รวมกันในที่แห่งเดียวกัน ทำให้สะดวกในการค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ง่าย
    2. หนังสือที่มีเนื้อเรื่องสัมพันธ์กันจะอยู่ใกล้ ๆ กัน
    3. หนังสือที่มีลักษณะคำประพันธ์อย่างเดียวกันจะอยู่รวมกันตามภาษาของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น บทละครภาษาอังกฤษ จะรวมกับบทละครภาษาอังกฤษ บทละครภาษาไทยก็จะอยู่รวมกับบทละครภาษาไทย เป็นต้น
    4.หนังสือแต่ละเล่มมีสัญญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายแทนเนื้อเรื่องในแต่ละหมวดหมู่ สัญญลักษณ์ที่ใช้อาจเป็นตัวเลข ตัวอักษร หรืออาจเป็นทั้งตัวอักษรและตัวเลขผสมกัน เพียงแต่ผู้ใช้เข้าใจความหมายของสัญญลักษณ์นั้น ๆ ก็จะค้นหนังสือที่ต้องการได้โดยง่าย
    5. เมื่อมีหนังสือใหม่เข้ามาในห้องสมุด บรรณารักษ์ผู้ทำหน้าที่จัดหมู่หนังสือก็สามารถจัดหมู่หนังสือเล่มใหม่ ๆ เหล่านั้นได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยอาศัยตรวจดูจากเลขหมู่เดิม
    6. สะดวกในการเก็บ เรียง หนังสือเข้าชั้น และนำออกมาใช้
    7. ช่วยให้บรรณารักษ์ทราบว่าห้องสมุดมีหนังสือหมวดใดหรือสาขาวิชาใดมากน้อยเพียงใด ควรจะพิจารณาจัดหาหนังสือ ในหมวดหมู่หรือสาขาวิชาใดมาเพิ่มเติมอีก

หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปในการจัดหมู่หนังสือ

    1. การพิจารณาว่าจะจัดหมู่ใด ควรดูจากเนื้อหาเป็นหลัก ไม่ควรพิจารณาจัดหมู่จากชื่อเรื่องเพียงอย่างเดียว เพราะหนังสือบางเล่มซึ่งเรื่องจะอาจสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องเพียงบางตอนเท่านั้น
    2. ในการจัดหมู่ พยายามจัดหมู่หนังสือให้ตามสาขาวิชาเฉพาะที่สุดเท่านั้นจะทำได้เพื่อให้เลขเฉพาะ และไม่ซ้ำกัน
    3. การจัดหมู่หนังสือตามสาขาวิชาเฉพาะ อาจแบ่งซอยได้ตามวิธีเขียนของหนังสือวิชานั้น ๆ คือ คู่มือ พจนานุกรม, รวมเรื่อง, ชีวประวัติ เป็นต้น ยกเว้นวรรณคดีและ ภาษาที่จะไม่คำนึงถึงเนื้อหาแต่จะพิจารณาตามลักษณะการประพันธ์วรรณคดีนั้น ๆ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บทละคร ฯลฯ
    4. วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ในคำนำหรือบทนำในบางครั้งอาจเป็นแนวทางในการกำหนดเลขหมู่ของหนังสือได้
    5. หนังสือที่มีเนื้อหา 2 เนื้อหา ในเล่มเดียวกันให้กำหนดเลขหมู่ตามเนื้อหาที่มีความสำคัญมากกว่า แต่ถ้าเนื้อหา 2 เนื้อหา มีความสำคัญเท่ากัน ให้จัดหมู่ตามเนื้อหาที่ ปรากฎเป็นอันดับแรก ถ้าหนังสือมี 3 เนื้อหา หรือมากกว่า 3 เนื้อหาในเล่มเดียวกัน ให้จัดเลขหมู่คลุมเนื้อหาวิชาทั้งหมด
    6. เนื้อหาวิชาของหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลขหมู่ไม่ควรกำหนดขึ้นมาเอง ควรจะใช้เนื้อหาที่ใกล้เคียง หรือเกี่ยวกันมากที่สุดในเลขหมู่
    7. หนังสือที่กล่าวถึงลักษณะของวิชา ให้จัดหมู่หนังสือเกี่ยวกับวิชานั้น ๆ ไม่ใช่เกี่ยวกับลักษณะของวิชา นอกจากลักษณะดังกล่าวได้แสดงถึงเนื้อหาของหนังสือ
    8. การจัดหมู่หนังสือชีวประวัติ อาจทำได้หลายวิธี คือ แบ่งตอนหมวดประวัติศาสตร์ 920 หรือแบ่งตามสาขาวิชาของเจ้าของชีวประวัติ เช่น ชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ อาจอยู่ที่ 509.2 นอกจากนั้นห้องสมุดบางแห่ง อาจจะแยกหนังสือชีวประวัติไว้ต่างหาก
    9. ในกรณีที่บรรณารักษ์ตัดสินใจไม่ได้ อาจขอคำปรึกษาจากผู้รู้คนอื่น ๆ

    ในการดำเนินงานจัดหมู่ ถ้าจะให้การจัดหมู่ เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว ควรกำหนดไว้ในวันนั้นจะจัดหมวดอะไรบ้าง เช่น จัดหมู่ประวัติศาสตร์ กับสังคมศาสตร์ จัดหมู่ภาษาและวรรณคดี เป็นต้น ควรจะได้จัดหมู่ไปพร้อม ๆ กัน ในแต่ละประเภทไม่ปะปนกัน ในแต่ละวัน ตอนเช้าอาจจะจัดหมู่ศาสนา ตอนบ่ายจัดปรัชญา เพื่อจะได้มีโอกาสเปรียบเทียบเนื้อหาแต่ละเล่มในหมวดเดียวกัน อันเป็นวิธีการที่กำหนดการจัดหมู่ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

    10. อ่านรายละเอียดจากส่วนต่าง ๆ ของหนังสือแต่ละเล่มเท่าที่มีอยู่ เช่น ใบหุ้มปก ชื่อเรื่อง คำนำ สารบาญ บทนำ ฯลฯ เพื่อที่จะได้ทราบเนื้อหาทั่วไปของหนังสือว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใด

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com