1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ห้องสมุด

วัสดุห้องสมุดซึ่งหมายถึง วัสดุตีพิมพ์ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ กฤตภาคและ จุลสาร และวัสดุไม่ตีพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์โสตทัศนวัสดุทั้งหลายเป็นทรัพยากรห้องสมุดที่มี ความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดประชาชนเป็นอย่างมาก บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนจำเป็นต้องรู้กระบวนการงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ห้องสมุดเหล่านั้น หลักในการคัดเลือกวัสดุที่บรรณารักษ์ควรพิจารณาประกอบมีดังต่อไปนี้ (Book and Magrill 1979 : 4 - 11) คือ

    1. เลือกวัสดุที่ผู้อ่านสนใจ
    2. เลือกวัสดุโดยไม่จำกัดในเรื่อง เชื้อชาติ สัญชาติ อาชีพ หรือเรื่องอื่น ๆ
    3. วัสดุห้องสมุดควรรวบรวมอย่างกว้างขวาง
    4. เลือกวัสดุห้องสมุดตามความต้องการ
    5. วัสดุห้องสมุดควรมีคุณภาพด้านเนื้อหา รูปร่าง และการใช้ประโยชน์
    6. เลือกวัสดุตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุด
    7. เลือกซื้อเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง
    8. คุณภาพของวัสดุต้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์และความต้องการของห้องสมุด
    9. วัสดุห้องสมุดควรครอบคลุมเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุด
    10. การจัดหาวัสดุห้องสมุด ควรศึกษาสภาพชุมชนประกอบด้วย

การจัดหาหนังสือ

    1. โดยการจัดซื้อ
    2. โดยการขอรับบริจาค
    3. โดยการแลกเปลี่ยน

การจัดซื้อหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์และอุปกรณ์ครุภัณฑ์ มีวิธีการดำเนินการ ดังนี้

1. หนังสือและวารสาร สามารถบอกรับจากร้านค้าใกล้ห้องสมุดหรือจะบอกรับจากแหล่งผลิตเลยก็ได้ แล้วแต่ทางห้องสมุดจะสะดวก ถ้าบอกรับจากร้านค้าและต้องชำระเงินเป็นรายเดือน ห้องสมุดจะต้องหาเงินมาสำรองในการจ่ายจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าบอกรับ จากแหล่งผลิตจะต้องส่งเงินค่าสมาชิกไปล่วงหน้าเป็นรายปี แล้วนำใบเสร็จรับเงินมาขอเบิกเงินภายหลัง

2. หนังสือ ก่อนซื้อหนังสือทุกครั้ง บรรณารักษ์ต้องเลือกซื้อหนังสือให้สอดคล้อง กับนยบายของห้องสมุด โดยสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์ห้างร้านต่าง ๆ หรือสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายแล้วแต่จะสะดวก เมื่อได้รับอนุญาตให้ซื้อหนังสือ ภายในวงเงินที่อนุมัติแล้วก็ดำเนินการจัดซื้อได้ทันที โดยติดต่อกับบริษัทร้านค้าให้จัดหนังสือและนำส่งที่ห้องสมุดซึ่งมักจะมีใบ ส่งของมาพร้อมกับหนังสือ บรรณารักษ์ต้องตรวจสอบรายชื่อหนังสือว่าตรงกับที่สั่งหรือไม่ ถ้าหากชำรุดหรือไม่ตรงกับที่สั่ง คืนกลับไป ถ้าบรรณารักษ์ตรวจหนังสือเรียบร้อยแล้วก็ตรวจใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงินให้ถูกต้องด้วย แล้วจึงนำใบส่งของ หรือ ใบเสร็จรับเงินขอเบิกเงินจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินต่อไป

3. การจัดซื้ออุปกรณ์ห้องสมุด ส่วนใหญ่แล้วสั่งซื้อได้จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย หรือบริษัทร้านค้าต่าง ๆ โดยเขียนจดหมายสั่งซื้ออุปกรณ์ห้องสมุดตามที่ต้องการเมื่อได้รับสิ่งของก็ทำการเบิกเงินต่อไปตามระเบียบการเงิน การขอรับบริจาคหนังสือ เป็นวิธีที่ประหยัดงบประมาณของห้องสมุดโดยเฉพาะในห้องสมุดประชาชน บรรณารักษ์ห้องสมุดที่ดีจะต้องรู้จักแหล่งที่สามารถเขียนจดหมายติดต่อขอ เอกสารต่าง ๆ ได้

แหล่งที่สามารถเขียนจดหมายขอเอกสารมักเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของ กระทรวง ทบวง กรม กอง ต่าง ๆ รวมทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ บรรณารักษ์มีแบบฟอร์มจดหมายสำหรับขอเอกสาร และหมั่นรวบ รวมชื่อแหล่งที่สามารถขอรับเอกสารฟรีให้ทันสมัยไว้ตลอดเวลา

การแลกเปลี่ยนหนังสือ เป็นวิธีที่สามารถจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดได้จากการเขียนจดหมายขอแลกเปลี่ยนหนังสือ ที่ทางห้องสมุดมีเป็นจำนวนมากที่ซ้ำซ้อนเรื่องกัน บรรณารักษ์จัดทำรายชื่อหนังสือไว้เพื่อทำการแลกเปลี่ยน ห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่แล้วไม่อยู่ในฐานะที่ทำการแลกเปลี่ยนหนังสือได้ เพราะส่วนใหญ่ยังมีหนังสืออยู่เป็นจำนวนน้อยมาก ในการสั่งซื้อหนังสือ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน มักไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการดำเนินการสั่งซื้อ ทั้งนี้เพราะกรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดส่งมาให้ หรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำจังหวัด หรือเจ้าหน้า ที่ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาคเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งหน้าที่การสั่งซื้อหนังสือ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของบรรณารักษ์โดยตรง

บรรณารักษ์สามารถติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับตลาดหนังสือได้จากบทความที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในวารสาร หรือหนังสือพิมพ์หรือจากบรรณานุกรมร้านค้าซึ่งร้านจำหน่าย หนังสือต่าง ๆ มักจัดส่งไปให ้หรือ บรรณารักษ์จะทำจดหมายขอไป เพื่อจัดเก็บไว้เป็นคู่มือสำหรับการสั่งซื้อหนังสือต่อไป ถ้าหากไม่ทราบรายชื่อบริษัท หรือสำนักพิมพ์ที่จัดจำหน่ายหนังสือ สามารถเช็คที่อยู่ได้จากหนังสือนามานุกรมร้านค้า หรือสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ได้ วิธีการจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน ที่เปลืองเงินงบประมาณ หรือใช้เงินของห้องสมุดที่น้อยที่สุด คือ การขอรับบริจาค โดยบรรณารักษ์รวบรวมสถานที่ที่เป็นแหล่งวัสดุ ได้เปล่าได้จากหนังสือนามานุกรมทั่ว ๆ ไปและสมุดรายนามผู้ใช้โทรทัพท์ โดยพิจารณาว่า หน่วยงานทางราชการบริษัทร้านค้า สมาคม องค์การต่าง ๆ ตลอดจนองค์การต่างประเทศ เช่น สถานฑูต สายการบิน เป็นต้น มักจัดพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ และแจกจ่ายให้แก่ผู้สนใจ

การขอรับบริจาคที่สะดวกที่สุด คือ การเขียนจดหมายขอส่งไปตามหน่วยงานต่างๆ โดยติดตามผลทุกๆ 1 เดือน ถ้ายังไม่ได้รับเอกสารให้เขียนขอไปใหม่ ด้วยวิธีการเช่นนี้จะ เป็นการเพิ่มจำนวนวัสดุห้องสมุดในห้องสมุดประชาชนอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่กล่าวมา มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ บรรณารักษ์สามารถจ่าหน้าซอง โดยใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์

ตัวอย่าง

แบบฟอร์มการสั่งซื้อหนังสือ

(แบบที่ 1)

                      ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว
                      อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000
                  22 พฤศจิกายน 2543

เรื่อง สั่งซื้อหนังสือ

เรียน

ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว มีความประสงค์สั่งซื้อหนังสือชื่อ ...............................................................
............................ราคาเล่มละ...........บาท จำนวน......เล่ม เมื่อทางห้องสมุดได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้ว จะส่งเงินชำระทาง ธนาณัติต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบและกรุณาจัดส่งหนังสือดังกล่าวพร้อมด้วยใบส่งของหรือใบทวงหนี้ไปยังห้องสมุด ถ้าหากมีรายละเอียดอื่นใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

                ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

                  (นายดำรง มิตรดี)
                บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว

ตัวอย่าง

แบบฟอร์มการสั่งซื้อหนังสือ

(แบบที่ 2)

                      ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว
                      อ. เมือง จ.กาญจนบุรี 71000
                  22 พฤศจิกายน 2543

เรื่อง สั่งซื้อหนังสือ

เรียน

ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว มีความประสงค์ขอสั่งซื้อหนังสือตามรายชื่อต่อไปนี้

    1. ........................................................................................................
    2. .......................................................................................................
    3. .......................................................................................................
    4. .......................................................................................................
    5. ......................................................................................................

จึงเรียนมาเพื่อทราบและกรุณาจัดส่งหนังสือดังกล่าวพร้อมใบส่งของไปยังห้องสมุด เมื่อทางห้องสมุดได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้ว จะส่งเงินมาชำระทางธนาณัติต่อไป ถ้าหากมี รายละเอียดอื่นใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

                ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

                  (นายดำรง มิตรดี)
                บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว

ตัวอย่าง

แบบฟอร์มการส่งเงินค่าซื้อหนังสือ

                      ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว
                      อ.เมือง จ. กาญจนบุรี 71000
                  22 พฤศจิกายน 2543

เรื่อง ส่งเงินค่าซื้อหนังสือ

เรียน

ตามที่ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว ได้สั่งซื้อหนังสือจากท่าน ตามรายการ ข้างล่างนี้

    1. ........................................................
    2. ........................................................
    3. ........................................................
    4. ........................................................
    5. .........................................................

บัดนี้ห้องสมุดได้รับหนังสือดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว จึงได้ส่งเงินจำนวน .............. บาท (..............................................) ทางธนาณัติสั่งจ่าย ปท. ................. เมื่อท่านได้รับแล้วกรุณาส่งใบเสร็จรับเงินไปให้ทางห้องสมุดด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

                ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

                  (นายดำรง มิตรดี)
                บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว

ตัวอย่าง

แบบฟอร์มการเขียนหนังสือขอรับบริจาคหนังสือ

                      ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว
                      อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000
                  22 พฤศจิกายน 2543

เรื่อง ขอหนังสือและวัสดุให้ห้องสมุด

เรียน

เนื่องด้วยห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัวกำลังปรับปรุงการดำเนินงานห้องสมุด ห้องสมุดเพิ่งเริ่มจัดตั้งดำเนินการใหม่ ยังขาดแคลนวัสดุสำหรับการอ่านของประชาชนในตำบลอยู่อีกมาก มีความประสงค์ใคร่ของรับบริจาค และวัสดุอื่น ๆ ที่หน่วยงานของท่านได้จัดทำเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ทางห้องสมุดประชาชนเห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการให้บริการ ภายในห้องสมุดเป็นการเพื่มพูนความรู้ให้กับประชาชนนักเรียนได้เป็นอย่างดีจึงขอความกรุณาได้จัดส่งหนังสือ และ วัสดุที่หน่วยงานของท่าน ได้จัดทำไปยังห้องสมุดด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

                ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

                  (นายดำรง มิตรดี)
                บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว

ตัวอย่างการจ่าหน้าซองจดหมาย

(กรณีการขอรับบริจาคหนังสือ)

    เรียน
        ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
        สถานเอกอัตรราชฑูตออสเตรเลีย
        37 ถนนสาธรใต้
        บางรัก
        กรุงเทพมหานคร 10500

    เรียน
        หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์
        สำนักงานปลัดกระทรวง
        กระทรวงศึกษาธิการ
        ถนนราชดำเนิน
        กรุงเทพมหานคร 10300

ตัวอย่าง

แบบฟอร์มการตอบขอบคุณ

                      ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว
                      อ.เมือง จ. กาญจนบุรี 71000
                  22 พฤศจิกายน 2543

เรื่อง ตอบขอบคุณ

เรียน

ตามที่ท่านได้ส่งหนังสือ/วารสาร ตามรายการ ข้างล่างต่อไปนี้

      1. ........................................................
      2. ........................................................
      3. ........................................................
      4. ........................................................
      5. .........................................................

ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัวได้รับแล้วด้วยความขอบพระคุณอย่างสูง ได้จัดให้บริการภายในห้องสมุดต่อไป และหวังว่าจะได้รับความอนุเคราะห์ในโอกาสต่อไป

                ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

                  (นายดำรง มิตรดี)
                บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนตำบลหนองบัว

การเตรียมหนังสือ

การเตรียมหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งของงานเทคนิคห้องสมุด มีหน้าที่เตรียมหนังสือออกไปให้กับฝ่ายบริการ การเตรียมหนังสือ มีหลักการที่สำคัญ คือ เตรียมอย่างถูกต้องและ รวดเร็ว ลำดับขั้นตอนในการเตรียมหนังสือ

    1. ตรวจสอบความเรียบร้อย
    2. ประทับตรา
    3. ลงทะเบียน
    4. จัดหมู่ และการร่างบัตรรายการ
    5. พิมพ์บัตรรายการ
    6. พิมพ์ บัตรซอง และบัตรคู่ซอง
    7. ปิดซอง พร้อมบัตรซอง และบัตรกำหนดส่ง
    8. เขียนสัน ติดสัน
    9. ทายากันแมลง
    10. ตรวจสอบความเรียบร้อย
    11. เรียงบัตรรายการเข้าตู้
    12. นำหนังสือใหม่ขึ้นชั้น

ขั้นตอนการปฎิบัติงาน ตรวจสอบความเรียบร้อย

เมื่อหนังสือถูกส่งมายังฝ่ายจัดเตรียม บรรณารักษ์จะต้องตรวจสอบความเรียบร้อย ดังต่อไปนี้คือ

    1. หนังสือครบตามใบส่งของ
    2. หนังสืออยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด อยู่ครบทุกหน้า ไม่กลับหัวกลับหาง
    3. หากมีคำผิด และใบแก้คำผิดอยู่ จะต้องแก้คำผิด ลงในหนังสือเสียก่อน แต่ถ้าผิดมากไม่สามารถแก้ได้หมด ให้ปะติดไว้กับหนังสือก่อนหน้าปกใน
    4. ถ้าสามารถซ่อมได้เอง ไม่จำเป็นต้องส่งคืนผู้ขาย เช่น ถ่ายเอกสารซ่อม

ประทับตรา

คราที่จะใช้ประทับ ควรเป็นตรายางที่มีขนาดเหมาะสม แล้วแต่ห้องสมุดแต่ละแห่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้ขนาดไหน ให้เหมาะสมกับหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุด การประทับตราควรจะต้องกระทำกับหนังสือทุกเล่ม และควรมีเกณฑ์ในการประทับตรา ในหน้าต่าง ๆ ของหนังสือ ดังนี้

    1. ปกหน้า (สำหรับหนังสือที่ไม่มีหน้าปกใน)
    2. หน้าปกใน
    3. หน้าลับเฉพาะ (บรรณารักษ์ควรกำหนดเลขหน้าเป็นการเฉพาะของห้องสมุด)
    4. ด้านหลังหน้าปกใน
    5. หน้าสุดท้ายของหนังสือ

การประทับตราของห้องสมุด มักประทับตรากลางหน้ากระดาษ ด้านบนของหนังสือ ถ้าเป็นตรายางสี่เหลี่ยมผืนผ้า มักประทับตรากลางหน้ากระดาษด้านล่างของหนังสือ

ในการประทับตราหนังสือ สำหรับตราทุกประเภท มีหลักที่ควรคำนึงถึง คือ

    1. หลีกเลี่ยงการประทับตัวอักษร หรือข้อความ
    2. ควรประทับไม่ให้กลับหัว กลับหาง และมีความสมดุลย์กัน
    3. ควรประทับให้ชัดเจน

ลงทะเบียนหนังสือ

การลทะเบียนหนังสือ เป็นการทำบัญชีพัสดุห้องสมุดอย่างหนึ่ง รายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ในการลงทะเบียน มีดังนี้

    1. สมุดทะเบียน
    2. เครื่องประทับตัวเลข

1. สมุดลงทะเบียน สามารถทำเองได้ไม่ยาก โดยทั่วไปใช้สมุดปกแข็งขนาดใหญ่ มาตีตารางตามรายการที่ต้องการ เนื่องจากรายการมีหลายช่อง อาจมีความต้องการ ใช้สมุดต่อกัน 2 หน้า รายการในตารางมี วัน, เดือน, ปี เลขทะเบียน ผู้แต่ง ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ ราคา หมายเหตุ

2. เครื่องประทับตัวเลข เลขทะเบียน นั้น อาจเขียนด้วยมือได้ แต่ถ้าใช้เตรื่อง ประทับตัวเลขแล้วจะช่วยให้เรียบร้อย และชัดเจนกว่าการเขียนด้วยมือ

วิธีการลงทะเบียน มีวิธีปฎิบัติดังนี้

    1. การลงทะเบียน รายการแต่ละรายการให้ลงบรรทัดละ 1 เล่ม ถ้ารายการยาวมากพยายามเขียนให้จำกัดในบรรทัดเดียว ซึ่งอาจใช้วิธีการเขียนตัวเล็ก ๆ 2 แถว หรือย่อรายการและใช้เครื่องหมาย...
    2. เลขทะเบียน หนังสือทุกเล่มจะต้องมีเลขทะเบียนของตนเองจะซ้ำกันไม่ได้ แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน จะเรียงจากเลขน้อยไปหามากจาก ฉ.1, 2, 3, 4 ฯลฯ ตามลำดับ ดังนั้น ก่อนลงทะเบียน จึงควรจัดลำดับหนังสือเสียก่อน โดยเฉพาะหนังสือที่มีหลายเล่มจบ ควรลงทะเบียนตามลำดับจาก เล่ม 1, 2, 3, 4 ฯลฯ
    3. ตำแหน่งที่ประทับเลขทะเบียน นำหมายเลขทะเบียนของหนังสือจากสมุดทะเบียนมาประทับลงไว้ในหนังสือเล่มนั้น อีกทีหนึ่ง ตราทะเบียนที่ประทับไว้ ด้านหลังของหน้าปกใน และหน้าลับเฉพาะ
    4. การลงรายการชื่อผู้แต่ง ควรกำหนดให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การลงชื่อผู้แต่งในบัตรรายการ เช่น
      ก. การลงชื่อสำหรับคนไทย ตัดคำนำหน้าชื่อ เช่น นาย นางสาว อาจารย์ ฯลฯ และอักษรแสดงคุณวุฒิท้ายชื่อออก ส่วนชาวต่างประเทศใช้นามสกุล ขึ้นต้นคั่นด้วย (,) และตามด้วยชื่อ ต้นและกลาง (ถ้ามี)
      ข. คำที่แสดงฐานันดรศักดิ์ แห่งเชื้อพระวงศ์ เช่น ม.จ., ม.ร.ว. และคำแสดงบรรดาศักดิ์ เช่น พระยา, หลวง ให้ลงตามหลังชื่อและนามสกุล โดยคั่นด้วย (,) เช่น คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.
      ค. ชื่อหน่วยราชการ องค์การ สมาคม ฯลฯ ใช้ชื่อเฉพาะขึ้นต้น คั่นด้วย (,) และตามด้วยชื่อสามัญ เช่น การศึกษานอกโรงเรียน, กรม
      ง. นามแฝง ให้ลงนามจริงถ้าทราบ และใส่ชื่อนามแฝงตามหลัง ไว้ในลงเล็บ เช่น สมนึก สูตรบุตร (บุษยมาส) เป็นต้น
      5. ชื่อหนังสือ ลงชื่อหนังสือที่ปรากฏในหน้าปกใน
      6.สำนักพิมพ์ ให้ลงชื่อเฉพาะ ชื่อของสำนักพิมพ์ หรือบริษัทห้างร้านผู้พิมพ์จำหน่ายไม่ต้องนำหน้าด้วยคำว่า สำนักพิมพ์ หรือ บริษัท ถ้าไม่ปรากฎ ชื่อสำนักพิมพ์ ให้ใช้ชื่อ โรงพิมพ์แทน
      7. ปีที่พิมพ์ ลงปีที่พิมพ์ สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ ลงปีลิขสิทธิ์ (Copyright) ใช้นำหน้าตัวเลข เช่น C.1985
      8. ราคา คือราคาของหนังสือต่อ 1 เล่ม ให้ลงราคาเต็ม
      9. วันลงทะเบียน ใส่วันที่ ลงทะเบียนของหนังสือ
      10. หมายเหตุ มีไว้เพื่อแจ้งรายการเพิ่มเติม เช่น แหล่งที่มาว่าซื้อด้วยเงินบำรุงการศึกษา หรือใครบริจาคให้ เหตุที่คัดหนังสือออก

จัดหมู่และการร่างบัตรรายการ

ข้อปฎิบัติก่อนการร่างบัตรรายการ (การเขียนสลิปบัตรรายการ)

    ประการที่ 1. ควรตรวจเช็คบัตรรายการของห้องสมุดก่อน ว่าเคยซื้อหนังสือเล่มนี้เข้าห้องสมุดหรือยัง ถ้ามีแล้วก็ดึงบัตรแจ้งหมู่ มาเติมเลขทะเบียนเพิ่มไม่จำเป็นต้องทำบัตรรายการใหม่
    ประการที่ 2. แบ่งประเภทของหนังสือ ซึ่งแล้วแต่ทางห้องสมุดจะเป็นผู้กำหนด

ตามหลักการที่นิยมทั่วไป มักจะแบ่งหนังสือออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการให้บริการ คือ

    1. หนังสือธรรมดาที่สามารถให้ยืมออกนอกห้องสมุดได้
    2. หนังสืออ้างอิง ไม่ยืมออกนอกห้องสมุด ให้อ่านภายในเท่านั้น

หนังสือธรรมดาในห้องสมุดประชาชน เป็นหนังสือทั่วไป จัดซื้อตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุด บรรณารักษ์ควรคำนึงถึงสัดส่วน ของอัตราหนังสือสำหรับเด็กด้วย หนังสือเด็ก ส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือภาพ จึงควรคำนึงถึงมาตรฐานในการจัดพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กด้วย หนังสือเด็กส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือภาพ จึงควรคำนึงมาตรฐานในการจัดพิมพ์หนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ตามปกติ และ การซื้อหนังสือ ควรจะเป็นการซื้อหนังสือสำหรับเด็ก หนังสือบันเทิงคดี และหนังสือวิชาการทั่วไป

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com