1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย
ห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน (ระยะที่ 3)

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพัฒนาการห้องสมุดประชาชนซึ่งมีผลต่อการดำเนิน งานกิจการห้องสมุดประชาชนในปัจจุบัน คือ การจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นกรมใหม่ อีกกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 22) (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2526: 2) จากการจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนในครั้งนี้ มีผลทำให้โอนกิจการห้องสมุดประชาชน จากกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ไปให้กรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดดำเนินงานต่อ กรมการศึกษานอกโรงเรียน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และผู้ขาดโอกาสทางการ ศึกษาและส่งเสริมให้บุคคลได้รับการศึกษา อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยมีภารกิจ สำคัญ คือ

    1. จัดการศึกษานอกโรงเรียน โดยมุ่งให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอก ระบบโรงเรียน ได้รับการศึกษาพื้นฐานตั้งแต่การรู้หนังสือ การศึกษาสายสามัญระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในรูปของกิจกรรมการเรียนการสอน การศึกษาทางไกล การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนแบบชั้นเรียน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งการจัดการศึกษาอาชีพ และกลุ่มสนใจเพื่อให้มี ทักษะเพียงพอต่อการทำงาน การประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
    2.ส่งเสริมการศึกษาในระบบโรงเรียน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม การเรียนการสอนในระบบ โรงเรียนในรูปของเทคโนโลยี ทางการศึกษา รายการวิทยุและรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตลอดจนการจัดนิทรรศการทาง วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
    3.ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ตามธรรมชาติในวิถีชีวิตอย่าง ต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชน ได้รับข่าวสารข้อมูล และความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นห้องสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมาย

กรมการศึกษานอกโรงเรียนมุ่งเน้นให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้แก่

    1) ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
    2) เกษตรกร
    3) เด็กและเยาวชนในชนบท
    4) คนพิการ
    5) ผู้ต้องขัง
    6) ชาวไทยในเขตภูเขา
    7) ผู้นำท้องถิ่น
    8) ประชาชนบริเวณชายแดน
    9) ทหารกองประจำการ
    10) สตรีอาชีพพิเศษและสตรีกลุ่มเสี่ยง
    11) ผู้สูงอายุ
    12) ชาวไทยมุสลิม
    13) ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ
    14) ชาวชุมชนแออัด
    15) ชาวไทยในต่างประเทศ
    16) นักเรียนในระบบโรงเรียนที่ต้องการเสริมความรู้
    นอกจากนี้ยังให้บริการการศึกษาต่อเนื่องแก่ประชาชนด้วย

ในปัจจุบัน กรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีหน่วยงาน และ สถานศึกษาในสังกัดทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ดังนี้

1. หน่วยราชการส่วนกลาง มี 10 หน่วยงาน ได้แก่

    ( 1) สำนักงานเลขานุการกรม
    ( 2) กองคลัง
    ( 3) กองการเจ้าหน้าที่
    ( 4) กองแผนงาน
    ( 5) กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน
    ( 6) กองส่งเสริมปฏิบัติการ
    ( 7) ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา
    ( 8) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย (ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการ ศึกษา)
    ( 9) หน่วยศึกษานิเทศก์
    (10) หน่วยตรวจสอบภายใน

2. สถานศึกษาขึ้นตรงกับส่วนกลาง จำนวน 9 แห่ง ได้แก่

    (1) สถาบันส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน
    (2) สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร
    (3) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
    (4) อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    (5) ศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคม
    (6) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการศึกษาอาชีพ
    (7) ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย
    (8) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก
    (9) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต

3. สถานศึกษาส่วนภูมิภาค จำนวน 999 แห่ง ได้แก่

    (1) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาค 5 ภาค ได้แก่ ภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
    (2) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด 75 แห่ง
    (3) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง
    (4) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน 7 แห่ง
    (5) ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี "สามสงฆ์ทรงพระคุณ"
    (6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัด 12 แห่ง
    (7) ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับสตรี
    (8) ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนเขตกรุงเทพมหานคร 40 แห่ง
    (9) ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ จำนวน 855 อำเภอ

ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมดูแลและ ติดตามผลการปฎิบัติงาน ห้องสมุดประชาชนจังหวัดและอำเภอ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดเคลื่อนที่หน่วยรถ-เรือ ห้องสมุดเคลื่อนที่ในเขต กรป.กลาง ศูนย์วิจัยบริจาคหนังสือ ที่อ่านหนังสือ ประจำหมู่บ้าน โสตทัศนศึกษาเผยแพร่การศึกษาโดยวิธีใช้อุปกรณ์โสตทัศนศึกษาทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2526 : 26) สภาพการดำเนินงานของห้องสมุดประชาชน สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันจึงมีฐานะเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบ เมื่อครั้งสังกัดกองการศึกษา ผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา

การดำเนินงานบริหารกิจการห้องสมุดประชาชนยังลักลั่น เพราะมี การจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาค 5 ศูนย์ คือ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคใต้ จังหวัดสงขลา ศูนย์กลางศึกษานอกโรงเรียนภาคกลาง จังหวัดราชบุรี และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (กรมการศึกษา นอกโรงเรียน 2526: 42) นอกจากนี้ยังมีการประกาศ จัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดทุกจังหวัดให้อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดโดยตรง (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2526 : 43) ขณะนี้ ดำเนินการจัดตั้งครบทุกจังหวัดแล้ว (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2528 : 1) การดำเนินงานของห้องสมุดประชาชนในยุคปัจจุบันจึงค่อนข้างสับสน ปัญหาที่ เคยมีมาเมื่อครั้งสังกัดกองการศึกษาผู้ใหญ่ ก็ยังคงเผชิญปัญหาอื่น ๆ อีกมาก โดยเฉพาะใน เรื่องสายงานของการบังคับบัญชาตลอดจนการพัฒนาห้องสมุดประชาชนให้บรรลุเป้าหมาย ของการบริการ ประชาชนที่แท้จริง ปัจจุบัน กรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดดำเนินงานในการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน จังหวัด 72 จังหวัด มีห้องสมุดประชาชนอำเภอรวม 333 แห่ง และห้องสมุดประชาชนตำบล รวม 20 แห่ง (กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2530 : 36) และจะจัดต่อไปจนครบทุกอำเภอและ งานที่เกี่ยวข้องกับการบริการของห้องสมุดประชาชน ยังมีอีกหลายรูปแบบโดยทำงานกับหน่วยงาน อื่น ๆ คือ

    1. ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยเริ่มทดลองที่ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นแห่งแรกจำนวน 75 หมู่บ้าน โดยเลือกคณะกรรมการ ของหมู่บ้านจำนวนไม่เกิน 7 คน มีหน้าที่คัดเลือกสถานที่ตั้ง การจัดตั้งจะได้รับความร่วมมือ จากคนในหมู่บ้านในการดูแลรักษาสถานที่ ส่วนเจ้าหน้าที่จากอำเภอและกรมการศึกษานอกโรงรียนจะช่วยดูแลในเรื่องวิชาการ ให้คำแนะนำวิธีการจัด เสนอแนะ และแก้ปัญหาร่วมกันกับ คณะกรรมการหมู่บ้าน การจัดตั้งที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ได้รับความสนใจจากประชาชนใน ชนบทอย่างกว้างขวาง ขณะนี้ได้จัดตั้งไปแล้ว 12,000 แห่ง

    2. ที่อ่านหนังสือประจำวัด กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ร่วมมือกับกรมการ ศาสนาจัดที่อ่านหนังสือประจำวัดขึ้น ถ้าวัดใดมีความพร้อมที่จะดำเนินการจัดตั้ง กรมการศึกษา นอกโรงเรียนก็จะเข้าไปดำเนินการจัดตั้ง ได้มีการจัดตั้งที่อ่านหนังสือประจำวัด แห่งแรกที่วัด บางกระเบา อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันมีที่อ่านหนังสือประจำวัดประมาณ 62 วัดทั่วประเทศ

    3. ห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นงานที่ให้การศึกษาและข่าวสารข้อมูลแก่ประชาชนใน ท้องถิ่นชนบท เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยจัดให้ยืมหนังสือทางเรือ โดยเรือที่ใช้จัดเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่นี้ จะออกไปปฎิบัติการตมจุดต่าง ๆ โดยจัดเป็น มุมหนังสือตามจุดปฎิบัติการ และจัดหีบหนังสือมอบไว้กับหมู่บ้าน ตามจุดที่ทำงานโดยมีอาสาสมัคร รับผิดชอบเป็นบรรณารักษ์ ห้องสมุดเคลื่อนที่นี้นอกจากบริการหนังสืออ่านแล้ว ยังได้จัดฉาย ภาพยนตร์และสไลด์ซึ่งให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านวิชาชีพ วัฒนธรรม วิชาการและบันเทิง โดยจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ (กรมการศึกษานอกโรง เรียน 2527 : 30-31)

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com