1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย
ห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการระยะแรก

ห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดประชาชนโดยตรงนั้น เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยกรม ศึกษาธิการ หรือกระทรวงศึกษาธิการ ห้องสมุดประชาชนระยะแรกที่จัดตั้งขึ้นนี้มีชื่อเรียกว่า ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่รวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ มีประโยชน์แก่ประชาชน และเปิดบริการให้ประชาชนทุกขั้นเข้าอ่านได้ โดยแผนกห้องสมุด ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ ในครั้งแรกได้จัดตั้งห้องสมุดหนังสือสำหรับประชาชน ขึ้นสามแห่ง คือ ที่โงเรียนวัดสุทัศน์ โรงเรียนวัดสามจีนใต้ จังหวัดพระนคร และที่โรงเรียน วัดประยูรวงศาวาส ในปีต่อมาก็ได้เปิดห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนเพิ่มขึ้นอีกสองแห่ง คือ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และ ณ ที่ว่าการอำเภอชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ และต่อ มาใน พ.ศ. 2461 ได้มีการจัดตั้งห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน เพิ่มขึ้นอีกสี่แห่งในจังหวัด บุรีรัมย์ คือ ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอพุทไธสง ณ ที่ว่าการอำเภอนางรอง และ ณ ที่ว่าการอำเภอตลุง รวมมีห้องสมุดหนังสือสำหรับประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2461 รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง (แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2520 : 8-9) ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนหรือห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ ระยะแรกได้สิ้งสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2471 เพราะหลังจากนี้ไม่ปรากฏรายงานที่เกี่ยวกับห้อง อ่านหนังสือสำหรับประชาชนอีกเลย

ห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการระยะที่สอง

หลังจากที่ห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการระยะแรกสิ้นสุดลงประมาณ 20 ปี ห้องสมุดประชาชนของกระทรวง ศึกษาธิการ ระยะที่สองจึงเกิดขึ้นโดยมีผลเนื่องมา จากการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ในประเทศไทยซึ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 โดยคณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่โดยให้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาธิการและให้กระทรวง ทบวง กรม อื่น ๆ เป็นผู้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดการศึกษาผู้ใหญ่ให้เป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงได้มีการขยายรูปงานใหม่ 4 ด้าน คือ การศึกษาขั้นมูลฐาน การอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ การมัธยมศึกษา และการศึกษาประชาชน ในงานด้านการศึกษาประชาชน นี้เองที่รัฐบาลได้วางนโยบายให้จังหวัดต่าง ๆ เริ่มจัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2494 และกองการศึกษาผู้ใหญ่ได้โดนมาสังกัดในกรมประชาศึกษา

ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 กรมประชาศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมสามัญศึกษา กองการศึกษาผู้ใหญ่ก็ยังคงสังกัดในกรม สามัญศึกษาตามเดิม งานห้องสมุดประชาชนก็จัดเป็นหน้าที่ของ แผนกการศึกษาประชาชน กองการศึกษาผู้ใหญ่กรมสามัญศึกษา การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนระยะที่สองนี้ได้ขยายตัวขึ้น คือ มีการจัดตั้งห้องสมุด ประชาชนอำเภอในปี พ.ศ. 2495 โดยมติของคณะรัฐบาลให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชน ตามอำเภอต่าง ๆ อำเภอละ 1 แห่ง และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง มหาดไทยร่วมมือกันดำเนินการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นฝ่ายดำเนินการ ส่วนกระทรวง มหาดไทยเป็นฝ่ายจัดหาสถานที่

การที่ให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนอำเภอขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้จากหนังสือในห้องสมุด เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการ อ่าน และเพื่อเป็นที่เผยแพร่วัฒนธรรม และความบันเทิงสำหรับประชาชน เพื่อให้งาน ห้องสมุดประชาชนให้เหมาะสม และจำแนกห้องสมุดประชาชนออกเป็น 3 ประเภทคือ

    1. ห้องสมุดประชาชนจังหวัด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ขึ้นตรงต่อจังหวัดมี หน้าที่ให้บริการแก่ประชาชน ณ ที่ตั้งจังหวัด และเป็นศูนย์กลางหมุนเวียนหนังสือและวัสดุ ภายในจังหวัด
    2. ห้องสมุดประชาชนอำเภอ ตั้งอยู่ ณ อำเภอ เป็นสาขาของห้องสมุด ประชาชนจังหวัด มีหน้าที่ให้บริการประชาชน ณ ที่ตั้งอำเภอ และอาจหมุนเวียนหนังสือ และวัสดุถึงประชาชนในชนบทด้วย
    3. ห้องสมุดเคลื่อนที่ ขึ้นอยู่กับห้องสมุดประชาชนจังหวัด หรือกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่หนังสือและวัสดุ จากห้องสมุดประชาชนจังหวัดหรืออำเภอแล้วแต่กรณี และถึงมือประชาชนในชนบท กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามดำเนินการ ส่งเสริม และปรับปรุงกิจการของห้องสมุดประชาชนทั้ง 3 ประเภทให้ดีขึ้น โดยใน พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมห้องสมุด ซึ่งมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นประธานกรรมการเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และส่งเสริมหรือพิจารณาวิธีการ จัดห้องสมุดให้ดีขึ้น โดยวางแนวทางปฎิบัติต่าง ๆ ไว้เป็นหลัก

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ อีกคณะหนึ่งแทนคณะกรรมการคณะแรก ให้ชื่อว่า คณะกรรมการส่งเสริมกิจการห้องสมุดประชาชน โดยมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นประธาน และมีกรรมการอื่น ๆ ได้แก่ ผู้อำนวยการห้องสมุด สำนักข่าวสารอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาผู้ใหญ่ขององค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา อาจารย์ผู้สอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ ของมูลนิธิฟูลไบร์ท และเจ้าหน้าที่บางคนของกระทรวง ศึกษาธิการ คณะกรรมการคณะนี้มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมกิจการ ของห้องสมุดประชาชน (แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2520: 15-17) นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ดำเนินการเพื่อให้ประชาชน เกิดความสนใจในห้องสมุดมากยิ่งขึ้นโดยจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ทั้งทางบกและทางน้ำสำหรับบริการแก่ประชาชน ในภาคกลาง จัดบริการโสตทัศนศึกษาแก่ประชาชนผู้มาใช้ห้องสมุดในจังหวัดต่าง ๆ โดย ปฏิบัติงานประสานกับหน่วยโสตทัศนศึกษาของจังหวัด

เนื่องจากห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการระยะที่ 2 นี้มีบทบาทและ ความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งให้บริการ ทางการศึกษาแก่ประชาชน มีการให้บริการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มุ่งให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ตามความสนใจ และความสามารถ ของตน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้การศึกษาแบบนอกโรงเรียนอย่างหนึ่ง และเพื่อให้ห้องสมุดประชาชนสามารถให้บริการ แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางตามกลักการ จึงได้ วางระเบียบการปรับปรุงห้องสมุดทั้งด้านอาคารสถานที่ การบริการ งบประมาณ บุคลากร ตลอดจนการดำเนินงานเสียใหม่ และได้แบ่งประเภทของห้องสมุดประชาชนออกตามขนาด ห้องสมุดเป็น 4 ประเภท ดังนี้ (แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2520:23) คือ

    1. ห้องสมุดประชาชนขนาดใหญ่ หรือศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต ตั้งอยู่ในจังหวัด ทุกจังหวัด
    2. ห้องสมุดประชาชนขนาดกลาง ตั้งอยู่ในอำเภอหรือในชุมชนที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป
    3. ห้องสมุดประชาชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในอำเภอหรือชุมชนที่มีประชากรไม่ถึง 10,000 คน
    4. ห้องสมุดประชาชนขนาดจิ๋ว หรือที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ให้มีหมู่ บ้านละ 1 แห่ง

จากพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นได้ว่า ห้องสมุดประชาชนระยะแรก และห้องสมุดประชาชนระยะที่ 2 แตกต่างกันมาก ห้องสมุดประชาชนระยะแรกคงทำหน้าที่เป็นเพียงห้องอ่านหนังสือเท่านั้น ยังไม่มีการให้บริการของ ห้องสมุดอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด ถ้าพิจารณาถึงด้านบริการที่มีให้แก่ประชาชนแล้ว จะ เห็นว่า ห้องสมุดประชาชนระยะแรกมีสภาพไม่ต่างไปจากที่อานหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านในปัจจุบันเท่าใดนัก สำหรับห้องสมุดประชาชนระยะที่ 2 นั้นมีลักษณะเป็นห้องสมุดประชาชนที่ แท้จริง เพราะมีการจัดดำเนินการ และให้บริการที่กว้างขวางกว่าห้องสมุดประชาชนระยะ แรกมาก และเห็นได้ว่าภายในเวลาประมาณ 30 ปี

หลังจากที่เริ่มจัดตั้งห้องสมุดประชาชน มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานหลายหน่วย เช่น กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามที่จะปรับปรุง ห้องสมุดประชาชนให้ดีขึ้นเพื่อให้ห้องสมุดประชาชนสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชนได้ และ แก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ทำให้ห้องสมุดไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เช่น ในระยะแรกที่มีการจัด ตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้น มีห้องสมุดบางแห่งจัดเก็บรักษาหนังสือไว้ในตู้หนังสือโดยใส่กุญแจ ไม่ยอมให้ประชาชนเลือกหยิบอ่านตามความต้องการ วิธีการเช่นนี้ทำให้ห้องสมุดประชาชน ไม่เป็นสาธารณบริการแก่ประชาชนตามแบบสากลนิยมของห้องสมุดประชาชนอย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการก็ได้แก้ไขข้อบกพร่องนี้โดยมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้สั่งห้องสมุดประชาชนทุกแห่งให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเลือหหนังสือมาอ่านเองได้ ซึ่งก็ทำให้ประชาชนสามารถใช้หนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ในห้องสมุดได้สะดวกขึ้น กว่าที่เคยผ่านมา

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ปรับปรุงระเบียบว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2492 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495 เรียกว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2495 และใน พ.ศ. 2500 ก็ได้จัดทำมาตรฐาน ห้องสมุดประชาชนขึ้นเพื่อให้ห้องสมุดประชาชนได้ใช้เป็นแนวปฎิบัติ และเป็นแนวทางใน การปรับปรุงของตน (แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2520: 25-26) ห้องสมุดประชาชนระยะที่ 2 ได้พัฒนารูปแบบระบบห้องสมุดประชาชนไป อย่างมาก รัฐบาลเห็นความสำคัญของกิจการห้องสมุดประชาชนที่จะเป็นศูนย์กลางการให้ การศึกษาของประชาชน จึงได้ประกาศให้ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเป็นสถานศึกษา สังกัด กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (กรมสามัญศึกษา 2517: 1) โดยกำหนดหน้าที่ ดังนี้

    1. ให้การศึกษานอกโรงเรียนแก่ประชาชนทั่วไป
    2. ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
    3. ให้บริการทางข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเป็นคนทันต่อเหตุการณ์
    4. ส่งเสริมและแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ ทัศนคติ และสามารถปฎิบัติตนเป็น พลเมืองดีตามระบอบประชาธิปไตย
    5. ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม 6. ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com