1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

ประวัติและพัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย

วิวัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย มีแหล่งกำเนิดและมีพัฒนาการ เช่นเดียวกับพัฒนาการของห้องสมุดประชาชน ในต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับต่าง ประเทศหลาย ๆ ประเทศแล้ว ประเทศไทยมีพัฒนาการในเรื่องห้องสมุดประชาชน มาก่อนหรือพร้อม ๆ กัน หากแต่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้การพัฒนากิจการของห้องสมุดประชาชน ในประเทศไทย เพื่อความสะดวกต่อการศึกษาพัฒนาของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยจำเป็นต้องศึกษาประวัติความเป็นมา ของอารยธรรมของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีอักษรไทย ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย การมีตัวอักษรใช้ย่อมหมายถึงการมีหนังสือใช้และนั่นหมายถึง การเกิดสถานที่เก็บรักษาและรวบรวมหนังสือเหล่านั้น

สมัยกรุงสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1826 และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1835 ในรัชกาลเดียวกันก็ปรากฏมีวรรณกรรมไทยชิ้นแรกคือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งจารึกพระราชประวติและพระเกียรติคุณ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และขนบธรรมเนียม ตลอดจนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุง สุโขทัย ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ก็มีหลักศิลาจารึกอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และยังมีหนังสือ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์คือ "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งย่อมแสดงว่าพระองค์ได้ทรงรวบรวมพระไตรปิฎก และหนังสือพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก และทรงศึกษาจนแตกฉานจึงสามารถทรงนิพนธ์หนังนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการจัดตั้งหอสมุดขึ้นในสมัยดังกล่าว (สุพรรณี วราทร 2523 : 17)

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยนี้ได้มีการจัดตั้งสถานที่เก็บรักษาหนังสือ ตำรา และจดหมายเหตุ ราชการบ้านเมือง เรืยกว่า หอหนังสือหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวัง แต่ก็ไม่มีการจัดตั้งห้องสมุดหรือสถานที่เก็บรักษาหนังสืออื่นใด ทั้ง ๆ ที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์ ปกครองหลายพระองค์ มีวรรณกรรมเฟื่องฟู และมีการติดต่อกับต่างประเทศที่เจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการจึงสันนิษฐานว่า นอกจากหอหลวงในพระราชวังแล้ว น่าจะมีการเก็บรักษา หนังสือและใบลานไว้ตามวัด ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า "หอไตร" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมคัมภีร์ และใบลานประจำวัดเพื่อสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเปลี่ยนชื่อ สถานที่เก็บรักษาใบลานและหนังสือธรรมประจำวัดจาก "หอไตร" เป็น "หอธรรม" ซึ่งใน ปัจจุบันนี้นิยมเรียกว่า "หอสมุด" โรงเรียนหนังสือไทยและสำนักเรียนปริยัติธรรมที่เจริญแล้วทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคนิยมสร้างหอสมุดเก็บรวบรวมหนังสือต่าง ๆ เพื่อนักเรียนและผู้สนใจค้นคว้าหาความรู้ อันเป็นวิธีเผยแพร่ ศาสนาและวิทยาการอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี หนังสือในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้กระจัดกระจาย เสียหายไปเป็นอัน มากเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หอหลวง" ขึ้นใหม่ในพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้เสาะหาและรวบรวมหนังสือของเก่ามาเก็บไว้ (สุพรรณี วราทร 2523 : 17-19)

สมัยกรุงรัตนโกลินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงเทพเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 และต่อมาในปี พ.ศ. 2326 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดพระ ศรีรัตนศาสดาราม พร้อมด้วย "หอพระมณเฑียรธรรม" เพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ของหลวง ต่อมาถูกเพลิงไหม้เสียหาย กรมพระราชวังบรมมหาสุรสีหนาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมถวายอีกหลังหนึ่ง ณ มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือในวัดพระ ศรีรัตนศาสดาราม จึงนับว่า "หอพระมณเฑียรธรรม" นี้เป็นห้องสมุดแห่งแรกในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ ในลักษณะที่เกป็นสถานที่เก็บรักษาหนังสือ (สุพรรณี วราทร 2523 : 20) ต่อมาใน พ.ศ. 2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฎิสังขรณ์วัดโพธารามซึ่งเป็นวัดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังและชำรุดทรุดโแรมมาก การบูรณะปฎิสังขรณ์นี้ใช้เวลานานถึง 12 ปี จึงสำเร็จลงเมื่อ พ.ศ. 2344 และได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเช ตุพนวิมลมังคลาวาส" ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยน นามเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" การปฎิสังขรณ์นี้ นอกจากเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างถาวร วัตถุและอาคารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์และศาสนพิธีแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ศาลาราย 70 ศาลา และให้นำแผ่นศิลาจารึก แบบแผนคำประพันธ์ ตำรายา และการแพทย์แผนโบราณติดไว้ตามเสาระเบียง และศาลา และสร้างรูปหล่อฤาษีดัดตน กระถางปลูก ต้นยา ภาพจากวรรณคดีชาดกและภาพพุทธประวัติไว้ที่ผนัง ในพระวิหารอีกด้วยเพื่อเป็น วิทยาทานแก่คนทั่วไป จึงนับได้ว่า วัดพระเชตุพน เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย (รำภีร์ กุลสมบูรณ์ 2508 : 3)

ในสมัยต่อมา แม้จะไม่มีการจัดตั้งห้องสมุดในระยะก่อนการจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ ใน พ.ศ. 2324 ก็ตาม แต่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อพัฒนาการ ด้านวรรณกรรมและห้อวสมุดในสมัยนั้น ได้แก่ ความเจริญด้านการศึกษา การพิมพ์และกิจการ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนสภาพสังคม ทำให้มีการจัดตั้งห้องสมุดส่วนตัวโดยพระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการชั้นสูง ในสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com