1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การเงินของห้องสมุด

ปัจจัยที่ช่วยให้ห้องสมุดสามารถดำเนินการให้บริการเป็นไปด้วยดี ได้แก่ การ ใช้จ่ายเงิน การเงินของห้องสมุด มีการรับและจ่ายโดยมีที่มาดังนี้ (สำนักงานประมาณ 2528 : 3-4)

1. เงินงบประมาณ หมายถึง งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งจัดสรรให้ตามความจำเป็น และเป็นไปตามความเหมาะสมของห้องสมุด เงินงบประมาณแผ่นดินจะถูกจัดสรรปีละครั้ง จากการพิจารณาของรัฐบาล โดยผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่มาของรายได้ของแผ่นดิน 2 ประการ คือ

    1.1 รายได้ เงินงบประมาณแผ่นดินมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งจัดเก็บได้จากภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีเดินทาง เป็นต้น และจัดเก็บได้จากภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีสินค้าเข้า สินค้าออก รายได้จากการจัดเก็บขาย สิ่งของและบริการรายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น ๆ เช่น จากค่าแสตม์ฤชากร เป็นต้น
    1.2เงินกู้ รายได้ประเภทที่ 2 ได้มาจากเงินกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ มูลนิธิ สถาบัน บริษัทและเอกชน

รายได้ทั้งหมดนี้ จะนำมาจัดสรรเพื่อการใช้เงินของกระทรวง ทบวง กรม กอง และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ตามโครงการของงบประมาณแต่ละปี และผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรงบประมาณแผ่นดินจะได้รับการพิจารณาจัดสรรและ กลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปีพ.ศ. 2529 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาจำนวน 39,978.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.3 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่ ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ ได้ตั้งงบประมาณ ไว้จำนวน 746 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 ของงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา (สำนักงานงบประมาณ 2528 : 41) ซึ่งจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษานอกโรงเรียน งานค้นคว้าเอกสารพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และการจัดการห้องสมุดเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนโดยทั่วไป

ห้องสมุดประชาชนจึงควรทำโครงการการได้เงินเสนอซื้อไปตามสายงานของการบังคับบัญชา เพื่อที่จะได้รับการพิจารณา การจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากรของประชาชนมาดำเนินงานกิจการห้องสมุดประชาชนเพื่อประชาชน เงินที่ได้จากงบประมาณจะแบ่งออกเป็นหมวดต่าง ๆ และ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายนั้น ห้องสมุดจะต้องระบุประเภทค่าใช้จ่าย ของห้องสมุดว่าตรงกับหมวดใด และการใช้เงินให้ใช้ตรงกับหมวดนั้นด้วยตามหลักวิธีการของงบประมาณรายจ่าย จำแนกออก ได้เป็น 11 หมวดด้วยกัน (ประหยัด กงตาล 2526 : 177)

    1. หมวดเงินเดือน
    2. หมวดค่าจ้างประจำ
    3. หมวดค่าจ้างชั่วคราว
    4. หมวดค่าตอบแทน
    5. หมวดค่าใช้สอย
    6. หมวดค่าสาธารณูปโภค
    7. หมวดค่าวัสดุ
    8. หมวดค่าครุภัณฑ์
    9. หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
    10. หมวดเงินอุดหนุน
    11. หมวดรายจ่ายอื่น

รายจ่ายแต่ละหมวดนั้น อธิบายได้ดังนี้

    1. หมวดเงินเดือน ได้แก่ เงินที่จ่ายให้แก่ข้าราชการทุกประเภทเป็นรายเดือน โดยมีอัตรากำหนดไว้แน่นอนในบัญชีถือจ่าย เงินเดือน ประจำปีที่กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบยืนยันว่าถูกต้องแล้ว
    2. หมวดค่าจ้างประจำ ได้แก่ เงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำของส่วนราชการในลักษณะที่เป็นค่าตอบแทนปฎิบัติงาน รวมถึงเงินที่รัฐบาลจ่ายควบคู่กับเงินเดือนหรือค่าจ้างด้วย เช่น ค่าเช่าบ้าน เงินเบี้ยกันดาร เป็นต้น
    3. หมวดค่าจ้างชั่วคราว ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าแรงงานสำหรับการทำงานปกติ แก่ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ
    4. หมวดค่าตอบแทน ได้แก่ เงินที่จ่ายตอบแทนให้แก่ผู้ที่ปฎิบัติงานให้ทางราชการ เช่น เงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ เงินสมนาคุณ เงินค่าจ้างนอกเวลา ค่าอาหารทำการนอกเวลา เป็นต้น
    5. หมวดค่าใช้สอย ได้แก่ รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการใด ๆ (นอกจากบริการสาธารณูปโภค) รายจ่ายเกี่ยวกับการรับรองและพิธีการ และรายจ่ายเกี่ยวกับการปฎิบัติราชการ ที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ เช่น ค่าติดตั้งไฟฟ้า ค่าติดตั้งประปา ค่าเย็บหนังสือ หรือ เข้าปกหนังสือ ค่าโฆษณาและเผยแพร่ เป็นต้น
    6. หมวดค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรทัศน์ ค่าไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น
    7. หมวดค่าวัสดุ ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสิ่งของซึ่งโดยสภาพย่อมสิ้นเปลือง เปลี่ยน สลายตัว ในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งสิ้นของที่ส่วนราชการซื้อมาเพื่อการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมทรัพย์สิน
    8. หมวดค่าครุภัณฑ์ ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งตามปกติมี ลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้ยืนนาน
    9. หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ เงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือหรือจ่ายเป็นค่าบำรุงแก่องค์การ เอกชน นิติบุคคล หรือกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์
    10. หมวดเงินอุดหนุน ได้แก่ เงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือหรือจ่ายเป็นค่าบำรุงแก่องค์การ เอกชน นิติบุคคล หรือกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์
    11. หมวดจ่ายจ่ายอื่น ได้แก่ รายจ่ายต่าง ๆ ซึ่งไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดใดดังกล่าวข้างต้น และสำนักงบประมาณกำหนดให้อยู่ในหมวดนี้ เช่น เงินราชการลับ เป็นต้น (ประหยัด กงตาล 2526 : 178-201)

2. เงินบำรุงการศึกษา เป็นเงินรายได้ของห้องสมุดนอกเหนือจากเงินงบประมาณ ได้แก่

    2.1 เงินบำรุงการศึกษา หมายถึง เงินที่ห้อสมุดเรียกเก็บจากสมาชิกตาม ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
    2.2 เงินค่าปรับ เป็นเงินที่ห้องสมุดได้มาจากสมาชิกยืมหนังสือเกินกำหนดที่ ห้องสมุดแต่ละแห่งไว้วางระเบียบไว้ ห้องสมุดต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้งที่รับเงิน แล้วนำเงินส่งแผนกศึกษาธิการอำเภอหรือจังหวัด
    2.3 เงินที่ห้องสมุดจัดหามาได้เอง เช่น โดยการจัดงานหรือกิจกรรม
    2.4 เงินบริจาค เงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้แก่ห้องสมุด

รายจ่ายของห้องสมุด

ห้องสมุดมักจ่ายเป็นค่าต่าง ๆ (กรมสามัญศึกษา 2521 : 62-64)

    1. ค่าวารสารและหนังสือพิมพ์ เป็นรายจ่ายที่บรรณารักษ์จะต้องคำนวณไว้ตลอดปี เพราะเป็นสิ่งที่ห้องสมุดจะต้องบอกรับติดต่อทุกปี กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรเงินค่าหนังสือพิมพ์แก่ห้องสมุดประชาชนแห่งละ 2 ฉบับตลอดปี หากห้องสมุดใดจำเป็นต้องรับหนังสือ พิมพ์มากกว่านั้น ให้จ่ายจากเงินงบประมาณหมวดค่าวัสดุหรือเงินบำรุงการศึกษา
    2. ค่าวัสดุอุปกรณ์ห้องสมุด เช่น บัตรรายการ บัตรหนังสือ ซองบัตร ผ้ากาวติดสันหนังสือ ฯลฯ บรรณารักษ์ควรกำหนดคำนวณว่าห้องสมุดจะต้องใช้อะไรมากน้อยเท่าใด แล้วจัดซื้อให้พอใช้ตลอดปี เพื่อประหยัดเวลางบประมาณ ในการซื้อ
    3. ค่าหนังสือและสิ่งพิพม์อื่น ๆ ควรแบ่งซื้อเป็นงวด ๆ ดีกว่าจะซื้อครั้งเดียว เพราะจะทำให้มีหนังสือใหม่มาบริการตลอดปี ถ้าหากจำเป็นต้องซื้องวดเดียว ควรทยอยออกให้บริการ
    4. ค่าครุภัณฑ์ ควรสำรวจความจำเป็นในการใช้ครุภัณฑ์ประจำปี เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้จุลสาร ป้ายนิเทศ แล้วทำเรื่องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ตามลำดับ
    5. ค่าซ่อมแซมห้องสมุด เช่น ซ่อมรั้ว อาคารห้องสมุด ฯลฯ ซึ่งเป็นการจ่ายเป็นครั้งคราว
    6. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด อุปกรณ์ในการจัดตกแต่งห้องสมุด เช่น แจกัน กระถางต้นไม้ ควรจัดซื้อตามความเหมาะสมหรือจำเป็น

วิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการเงิน

บรรณารักษ์จะต้องรู้จักวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการเงิน และการควบคุมการใช้เงินให้ถูกต้อง ในการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ ครุภัณฑ์ และจะต้องปฎิบัติไปตามระเบียบว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2498 และฉบับแก้ไขต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักในการปฎิบัติอย่างถูกต้องตามระเบียบราช การ ตัวอย่างแบบฟอร์มต่อไปนี้ เป็นแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ปฎิบัติอยู่ในส่วนราชการโดยทั่ว ๆ ไป บรรณารักษ์ควรศึกษารูปแบบ และทำความเข้าใจเพื่อการปฎิบัติงานเกี่ยวกับการเงินต่อไป

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com