1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ประเทศอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษ มีผู้บุกเบิกงานด้านห้องสมุดประชาชนหลายคน มีห้องสมุด ประชาชนตำบล (Parish Libraries) ดำเนินงานโดยสาธุคุณโทมัส เบรย์ (Rev.Thomas Bray) ให้บริการประชาชนทั่ว ๆ ไป ตลอดจนพระในนิกายคริสตศาสนาและผู้รู้ทั่วไป ส่วนใน สกอตแลนด์มีสาธุคุณเจมส์ เคิร์กวูด (Rev. James Kirkwood) ก็ได้ดำเนินงานโครงงาน และแผนการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนตำบล ให้มีทั่วราชอาณาจักร โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาสถานที่สำหรับบริการหนังสือในแต่ละตำบล การจัดหาหนังสือให้ห้องสมุด การจัดทำบัตรรายการหนังสือ และการจัดทำสำเนาบัตรรายการ 4 ชุด ซึ่งสำเนาบัตรรายการแต่ละชุด จะถูกส่งไปยังห้องสมุดประชาชน ที่สำคัญที่เมืองเอดินเบิร์ก (Edinburg) ซึ่งที่นี่จะรับผิดชอบในการจัดทำ บัตรรายการหนังสือทั่วราชอาณาจักร

โครงการดังกล่าวยังได้ระบุ ถึงค่าตอบแทนในเรื่องหนังสือ ความร่วมมือระหว่างตำบล การให้ยืมหนังสือ การซ่อมหนังสือ และการจัดตั้งโรงพิมพ์ สาธุคุณ ซามวล บราวน์ (Rev. Samuel Brown) แห่งอีสต์ โลเธียน (East Lothian) ได้พัฒนาโครงการนี้ให้รวมถึง ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Itenerating Libraries) โดยจัดให้มีห้องสมุด ซึ่งให้บริการหนังสือ 50 เล่ม ในทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบลในแต่ละเมือง ห้องสมุดจะอยู่ในเมืองประมาณ 2 ปี และจะเคลื่อนย้ายไปอีกเมืองหนึ่งทุก ๆ 2 ปี ทำดังนี้ไปเรื่อย ๆ โครงการนี้เริ่มปฎิบัติการในปี ค.ศ. 1017 ที่เมืองฮัดดิงตัน (Haddington) และอีก 4 เมืองอื่น ๆ ดำเนินงานโดยสาธุคุณบราวน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ในเวลานั้น การให้บริการดำเนินไปด้วยดีในปีแรก แต่ยอดการให้บริการซบเซาลงในปีที่ 2 ของการดำเนินงาน หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือศาสนา แต่ก็มีหนังสือประเภทอื่น ๆ ในสาขาศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชีววิทยา และการท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย การดำเนินงาน ของโครงการนี้มีรายงานว่าในปี ค.ศ. 1836 มีห้องสมุดจำนวน 47 แห่ง มีหนังสือรวมกัน 2,380 เล่ม ภายหลังจากมรณกรรมของสาธุคุณ บราวน์ในปี ค.ศ. 1839 โครงการนี้ ก็หยุดชะงักลง และไม่มีใครให้ความสนับสนุนในเรื่องการจัดการและการเงิน (Sessa 1987 : 269)

สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ห้องสมุดประชาชนในประเทศอังกฤษก้าวหน้า และ ไม่มีปัญหาในด้านการดำเนินงาน ห้องสมุด คือ กฏหมายห้องสมุด นายวิลเลียม อีวาร์ต(Mr. William Ewart) ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาของเมืองลิเวอร์พูล ได้มีส่วนผลักดันให้มีกฏหมายพิพิธภัณฑ์ (Museum Act) เมื่อปี ค.ศ. 1845 เพื่อให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ในเมืองใหญ่ ๆ จากกฏหมายฉบับนี้เอง เมืองแคนเทอเบอรี (Canterbury) เมืองวาร์ริงตัน (Warrington) และเมืองซัลฟอร์ด (Salford) ได้มีโอกาสจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดควบคู่กันไปเมื่อปี ค.ศ. 1847 ค.ศ. 1848 และ ค.ศ. 1849 ตามลำดับ นายอีวาร์ตได้พยายามต่อไปที่จะผลักดันให้รัฐบาลออกกฏหมายห้องสุมดประชาชน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้มีห้องสมุดที่เปิดบริการฟรีแก่ประชาชนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ร่างกฏหมาย

การให้อำนาจสภาเมืองจัดตั้งห้องสมุดประชาชนและพิพิธภัณฑ์ (Bill for enabling Town Councils to establish Public Libraries and Museum) ของนายอีวาร์ตได้รับการพิจารณาและประกาศใช้เป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1850 และใช้บังคับในแคว้นอิงก์แลนด์ (England) และเวลล์ (Wales) กฏหมายฉบับนี้มี การแก้ไขในปี ค.ศ. 1855 ให้มีผลในการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนในไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ ด้วย ในปี ค.ศ. 1892 ร่างกฏหมายห้องสมุดประชาชนได้ประกาศใช้เป็นกฏหมายเมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน มีการปรับปรุงกฏหมาย ห้องสมุดประชาชนหลายครั้งเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการดำเนินงานและการบริหารงานห้องสมุดประชาชน โดยเฉพาะกฏหมายห้องสมุดประชาชน ฉบับ ค.ศ. 1919 ให้อำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมการ ห้องสมุดท้องถิ่นดำเนินการบริหารงาน (Sessa 1987 : 272)

การขยายขอบเขตการให้บริการของห้องสมุดประชาชนในประเทศอังกฤษเป็นไป ตามบทบัญญัติของ กฏหมาย ห้องสมุดประชาชน ค.ศ. 1919 และเมื่อปี ค.ศ. 1920 กองทุน คาร์เนกีสหราชอาณาจักร (The Carnegie United Kingdon Trust)ได้ให้ความช่วยเหลือ ในการจัดตั้งห้องสมุดชนบททั่วประเทศอังกฤษ และภายในปี ค.ศ. 1940 ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศอังกฤษ ต่างก็ได้รับบริการการอ่านจากห้องสมุด (Thompson 1976 : 317) มูริสัน (1971 ซ 120-121) กล่าวว่า จากการออกกฏหมายห้องสมุดประชาชน และพิพิธภัณฑ์ (Public Libraries and Museums Act) ในปี ค.ศ. 1964 ห้องสมุดประชาชนต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษต่างได้รับความสนับสนุน ทางด้านงบประมาณ

มีรายงานว่า ในปี ค.ศ. 1970 บริการห้องสมุดประชาชนในประเทศอังกฤษดำเนินงาน บริหารโดยคณะกรรมการห้องสมุดกว่า 461 แห่ง อาจกล่าวได้ว่า กฏหมายห้องสมุดมีส่วนทำให้ห้องสมุด ประชาชนในประเทศอังกฤษ เกิดพัฒนาการในด้านการให้บริการ แก่ประชาชนเป็นอย่างดี เป็นรากฐานของการดำเนินงาน ห้องสมุดประชาชน และ เป็นแบบอย่างของการบริหารงานห้องสมุดประชาชน ในประเทศอื่น ๆ กฏมายห้องสมุดที่สำคัญที่ใช้ปฎิบัติอยู่คือ พระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชน (The Public Libraries Act) ค.ศ. 1892 แก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1893 พระราชบัญญัติห้องสมุด ประชาชน ค.ศ. 1901 พระราชบัญญัติห้องสมุด ประชาชน ค.ศ. 1919 และพระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชนและพิพิธภัณฑ์ ค.ศ. 1964 (Harrod 1977 : 672) กฏหมายห้องสมุดเหล่านี้เป็นปัจจัยช่วยให้การดำเนินงานห้องสมุด ประชาชนดำเนินไปด้วยดี

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com