1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

การจัดครุภัณฑ์ในห้องสมุด

การจัดครุภัณฑ์เข้าไว้ในห้องสมุด จะต้องพิจารณาถึงความสะดวก ความสวยงาม และการประหยัดเวลาตลอดจนแรงงาน ใช้เนื้อที่ห้องสมุดให้เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด และให้ควบคุมได้ทั่วถึง ไม่ควรจัดครุภัณฑ์เข้าห้องสมุดจนแน่นเกินไป ควรเว้นที่ว่าง ดังนี้

1. ระหว่างโต๊ะอ่านหนังสือ 5 - 6 ฟุต
2. ระหว่างเก้าอี้ 2 1/2 - 3 ฟุต
3. ระหว่างโต๊ะอ่านหนังสือกับชั้นวางหนังสือ 5 ฟุต

ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ควรจัดดังนี้

ชั้นหนังสือ วางติดฝาผนังห้อง ตรงที่มีหน้าต่างควรวางชั้นเตี้ย หรืออาจจะจัด วางตรงกลางห้องสมุดหรือข้าง ๆ เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับนั่งอ่านหนังสือได้มากขึ้น ถ้าจัดวางไว้กลางห้องชั้นไม่ควรสูงเกิน 3 ฟุต และระยะห่างระหว่างชั้นควรเป็น 4 - 5 ฟุต เพื่อผู้ ใช้จะหยิบหนังสือได้สะดวก

โต๊ะรับ-จ่ายหนังสือ ควรอยู่ใกล้ทางเข้า-ออก ให้อยู่ในระยะที่มองเห็นได้ทั่วห้อง เพื่อสะดวกแก่การควบคุมดูแลได้ทั่วถึง
ตู้บัตรรายการ ตู้จุลสาร และชั้นวางหนังสืออ้างอิง ควรอยู่ใกล้บรรณารักษ์ เพื่อบรรณารักษ์จะได้ช่วยเหลือผู้ใช้ได้สะดวก ตู้บัตรรายการเป็นสิ่งที่มีผู้ใช้อยู่เสมอ อย่าให้กีดขวางทางเดิน
ชั้นวางหนังสือที่มีผู้อ่านใช้มาก เช่น วารสาร นวนิยาย หนังสือพิมพ์ ควรจัดไว้ มุมหนึ่งต่างหาก ให้ห่างไกลจากชั้นวางหนังสือ ประเภทอื่น ควรจัดเป็นมุมสบาย คือจัดเก้าอี้ นั่งสบาย ๆ จะดึงดูดความสนใจได้มาก
ป้ายนิทรรศการ จัดไว้ในที่ซึ่งแลเห็นได้ง่าย โดยอยู่ตรงกันข้ามกับทางเข้าออก ถ้าหากเป็นป้ายมีขาตั้ง อาจจะนำไปตั้งไว้นอกห้องสมุดก็ได้ ส่วนตู้ หรือโต๊ะกระจกควรวางไว้กลางห้อง อย่าให้ขวางทางเดิน เว้นที่ว่างรอบ ๆ ไว้ให้เกิดดูได้เอง
ตู้เก็บของ ควรเก็บไว้ในที่ทำงานของบรรณารักษ์ เนื่องจากห้องสมุดประชาชนต้องให้บริการสำหรับเด็กด้วย จึงต้องจัดที่สำหรับเด็กแยกไว้ต่างหากโดยเฉพาะ ควรอยู่ใกล้ทางเข้าห้องสมุด ถ้าห้องสมุดมี 2 ชั้น ควรอยู่ชั้นล่าง

อุปกรณ์ห้องสมุด

ควรมีอุปรณ์ในการดำเนินงานห้องสมุด ดังนี้

    1. อุปกรณ์ที่ใช้กับหนังสือ
      1.1 ที่กั้นหนังสือ
      1.2 ป้ายสำหรับติดชั้นบอกหมวดหมู่หนังสือ
      1.3 กล่องสำหรับใส่จุลสาร เอกสาร หรือวารสารที่รอเย็บเล่ม
      1.4 ปกวารสาร (พลาสติก)
      1.5 แฟ้มใส่จุลสาร และกฤตภาค

    2. อุปกรณ์ในการรับ-จ่ายหนังสือ

      2.1 กล่องใส่บัตรหนังสือ
      2.2 ตรายางประทับวันที่ พร้อมด้วยกล่องหมึกพิมพ์
      2.3 ใบเสร็จรับเงินค่าปรับหนังสือที่ส่งเกินกำหนด
      2.4 สมุดสำหรับจดสถิติต่าง ๆ
      2.5 บัตรยืม หรือสมุดสำหรับลงชื่อผู้ยืม
      2.6 บัตรสมาชิกห้องสมุด
      2.7 แบบพิพม์ทวงหนังสือเกินกำหนด

    3. อุปกรณ์ในการซ่อมหนังสือ

      3.1 ผ้าแรกซีน
      3.2 กระดาษปอนด์ กระดาษแข็ง กระดาษแก้ว
      3.3 แถบผ้า เทปซ่อมหนังสือ
      3.4 ผ้าคิวหนังสือ
      3.5 ด้ายหลอด และเข็มใหญ่
      3.6 กาว แป้งเปียก
      3.7 กระจก หรือ พลาสติกทากาว
      3.8 กรรไกร มีด
      3.9 สว่าน เหล็กหมาด
      3.10 ไม้รีด ไม้อัดหนังสือ
      3.11 แปรงทากาว และแป้งเปียก

    4. อุปกรณ์ในการเตรียมหนังสือให้ยืม

      4.1 สมุดลงทะเบียนหนังสือ
      4.2 ดินสอไฟฟ้า หรือปากกาเคมีสีต่าง ๆ
      4.3 เทปสำหรับรองเขียนดินสอไฟฟ้า สีขาวหรือดำ
      4.4 หมึกอินเดียนอิ๊งค์ สำหรับเขียนสันหนังสือ
      4.5 ปากกาสปิคบอลล์
      4.6 ตราห้องสมุด และตราสำหรับลงเลขทะเบียนหนังสือ

    5. อุปกรณ์ในการทำบัตรรายการ

      5.1 บัตรสำหรับร่าง
      5.2 บัตรแข็งสีขาว ขนาด 3x5 นิ้ว ตรงกลางด้านล่างเจาะรู
      5.3 แผงเรียงบัตรรายการ
      5.4 บัตรแบ่งตอน

    6. อุปกรณ์การจัดนิทรรศการ

      6.1 ดินสอดำ ดินสอสีต่าง ๆ
      6.2 สีต่าง ๆ พู่กัน
      6.3 ไม้บรรทัด วงเวียน ไม้ฉาก
      6.4 ปากกาแบบต่าง ๆ
      6.5 กระดาษสีต่าง ๆ
      6.6 เข็มหมุด เป๊กกดกระดาษ ริบบิ้น
      6.7 กระดาษวาดเขียน กระดาษโปสเตอร์
      6.8 ที่สำหรับวางหนังสือแบบต่าง ๆ

    7. อุปกรณ์ตกแต่งห้องสมุด

      7.1 แจกัน หรือต้นไม้ใส่กระถางสวย ๆ สำหรับวางบนพื้น หรือสำหรับแขวน
      7.2 ภาพถ่ายต่าง ๆ
      7.3 ม่านหน้าต่าง

    8. แบบพิมพ์ต่าง ๆ

      8.1 แบบพิมพ์รายงานประจำเดือน ประจำปี
      8.2 แบบบัญชี

หน้าสารบัญ
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com