1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

อาคารสถานที่ห้องสมุดประชาชน

ห้องสมุดประชาชนในอดีตที่จัดตั้งในทวีปยุโรป และในประเทศสหรัฐอเมริกาเองส่วนใหญ่มีลักษณะเทอะทะ ทั้งรูปร่างและการออกแบบอาคารไม่เหมาะสมต่อการใช้ ห้องสมุดไม่สะดวกต่อผู้ใช้ในการเข้า-ออก สภาพแวดล้อมของอาคารไม่มีสิ่งดึงดูดใจ ทำให้เกิดมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารห้องสมุดโดยสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ได้วางมาตรฐานขั้นต่ำสุดไว้ว่า อาคารห้องสมุดประชาชน จะต้องออกแบบสำหรับใช้ในช่วงเวลา 20 ปี ทั้งนี้เพราะพิจารณาถึงขอบเขตการให้บริการที่ต้องขยายออกไปเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจาก การเพิ่มของประชาชนในชุมชน (American Library Association 1956:57)

หลัก 2 ประการที่ควรระลึกในการออกแบบห้องสมุดประชาชน คือ

1. เนื้อที่ภายในอาคารต้องเพียงพอแก่การบริการ โดยถือเกณฑ์จำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นมาตรฐานในการคำนวณเนื้อที่
2. จะต้องคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจด้านค่าใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาที่มีผู้ใช้บริการน้อย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ก่อนที่จะมีโครงการจัดสร้างห้องสมุดนั้น บรรณารักษ์จะต้องทราบและเข้าใจถึง วัตถุประสงค์ของห้องสมุดโดยถ่องแท้เสียก่อน บรรณารักษ์จำเป็นต้องรู้จักชุมชนที่จะตั้งห้องสมุดเป็นอย่างดี นั่นคือ จะต้องรู้ข้อเท็จจริงในด้าน จำนวนประชากร การศึกษาของ ชุมชน เศรษฐกิจของชุมชน สถานภาพทางการศึกษา สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน งานอดิเรกของชุมชน วัฒนธรรม ศาสนา สถานที่ของชุมชน สถานอนามัย เป็นต้น

ที่ตั้งของอาคารห้องสมุดประชาชน

การวางแผนในการสร้างอาคารห้องสมุดประชาชน เพื่อสนองความต้องการในการใช้บริการไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องการประสบการณ์ และความต้องการของท้องถิ่น ควรจะระลึกเสมอว่า ห้องสมุดประชาชนไม่ใช่สถานที่เก็บหนังสือ หรือรับฝากหนังสือ แต่มีสภาพที่สำหรับชุมชนในด้านวัฒนธรรม การศึกษา การพักผ่อนหย่อนใจจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องราว ดังกล่าวในการก่อสร้างอาคารห้องสมุด (Ishvarl Corea 1978: 1-2) การเลือกสถานที่ตั้งห้องสมุดจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพิจารณา สถานที่ตั้งห้องสมุดประชาชนตามสภาพความเป็นจริงแล้วควรตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางชุมชนที่สะดวกทั้งแก่ผู้ใช้และบรรณารักษ์ ควรตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากสถานที่ทำงาน ธนาคาร สถานีขนส่ง และมีที่จอดรถสะดวก ซึ่งหมายความว่าตั้งอยู่ในเขตที่ชุมชนมีการติดต่อถึง กัน เช่น ย่านธุรกิจ หรือย่านร้านค้า เป็นต้น ห้องสมุดประชาชนควรตั้งอยู่ในเขตที่ชนส่วนใหญ่ได้รับความสะดวกในการเข้าใช้บริการ และควรจะเป็นจุดที่คนต้องมาบรรจบพบกัน ดีกว่าไปตั้งแถบอยู่ในเขตสวนสาธารณะ หรือในอาคารของสถานที่ราชการ หรือที่มุมถนน แคบ ๆ

จึงพอสรุปได้ว่าสถานที่ตั้งห้องสมุดควรมีสภาพดังนี้ คือ

    1. อยู่ในศูนย์กลางผู้ใช้ไปมาได้สะดวก
    2. อยู่ใกล้ชุมนุมชน
    3. ไม่มีเสียงรบกวน
    4. มีแสงสว่างตามธรรมชาติดีพอ
    5. อยู่ในที่ไม่จำกัดสามารถขยายได้ในอนาคต

กรมสามัญศึกษา (2521: 17-19) ได้กำหนดขนาดเนื้อที่ห้องสมุดประชาชนไว้ดังต่อไปนี้

ที่ดินสำหรับก่อสร้างห้องสมุดประชาชน ควรมีเนื้อที่ดังนี้

    1. ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 5 ไร่ ถ้าจะขยายเป็นศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัด ควรมีไม่น้อยกว่า 15 ไร่
    2. ขนาดกลางไม่น้อยกว่า 21 ไร่
    3. ขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 1 ไร่

ขนาดของอาคารห้องสมุดประชาชน
แบ่งเป็น 3 ระดับ

1. ห้องสมุดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นที้ตั้งของเขตการศึกษาหรือเป็นจังหวัดที่มีประชากรในเขตที่ตั้ง หรือในเขตเทศบาลตั้งแต่ 20,000 คนขึ้นไป เนื้อที่ภายใน 400 ตารางเมตร

2. ห้องสมุดขนาดกลาง ตั้งอยู่ในจังหวัดหรืออำเภอที่มีประชากรในเขตที่ตั้งหรือ ในเขตเทศบาลตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป เนื้อที่ภายใน 300 ตารางเมตร

3. ห้องสมุดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ซึ่งมีประชากรในเขตที่ตั้งหรือเขตเทศบาลน้อยกว่า 10,000 คน ลงมา เนื้อที่ภายใน 200 ตารางเมตร

ลักษณะของอาคาร

    1. สะดวกแก่ผู้ใช้และผู้ปฎิบัติ
    2. สามารถปรับปรุง ขยาย และเปลี่ยนแปลงภายในได้ง่าย
    3. ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษา ทำความสะอาดง่าย
    4. ภายในอาคารควรมีลักษณะโล่ง ไม่กั้นห้องโดยไม่จำเป็น
    5. ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพดี มีความคงทนถาวร ปลอดภัยแก่ผู้ใช้
    6. มีแสงสว่างพอเพียง ไม่สว่างเกินไป ถ้าแสงไม่พอต้องใช้ไฟฟ้าช่วย
    7. กันแดดกันฝนได้ดี
    8. ไม่ควรมีเสียงรบกวนภายในและภายนอกห้องสมุด
    9. อากาศถ่ายเทได้สะดวก

นอกจากนี้ควรมีลักษณะสวยงาม ดึงดูดความสนใจและเชิญชวนให้เข้าไปใช้ ภายในห้องสมุดควรทาสีอ่อน ๆ เย็นตา และควรตกแต่งอาคารด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ภาพการศึกษาและเครื่องประดับอื่น ๆ ให้แลดูสวยงามยิ่งขึ้น

การแบ่งเนื้อที่ภายในห้องสมุด

ควรแบ่งออกเป็น

    1. ห้องสมุดอ่านหนังสือ รวมทั้งชั้นวางหนังสือ และที่นั่งอ่านหนังสือ
    2. ที่ทำงานของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่
    3. ที่เตรียมหนังสือสำหรับบริการ
    4. ห้องสำหรับการบริการพิเศษ เช่น ห้องโสตทัศนศึกษา
    5. ที่เก็บหนังสือและอุปกรณ์ต่าง ๆ
    6. ห้องน้ำ-ห้องส้วม
    7. ห้องหรือมุมสำหรับเด็ก
    8. ห้องหรือมุมสำหรับค้นคว้า
    9. ห้องอื่น ๆ ที่เห็นสมควร

การกำหนดขนาดเนื้อที่

    ห้องอ่านหนังสือ 48.2% ของเนื้อที่ทั้งหมด 25 ตารางฟุต/ 1 คน
    ที่ทำงานของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ 7.8 %
    ห้องบริการพิเศษ 10.0 %
    ที่เก็บหนังสือ 17.0 %
    ที่จ่าย-รับหนังสือ 8.2 %
    อื่น ๆ 8.0 %

หลักการวางผังภายในห้องสมุด

ให้คำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้ การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการให้บริการควรจัดดังนี้

    1. ทางเข้า-ออก อยู่ใกล้ถนนหรือทางเดิน และใกล้ที่รับจ่ายหนังสือ บรรณารักษ์ สามารถมองเห็นและดูแลให้ทั่วถึง และควรมีทางเดียว
    2. ที่ทำงานบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ห้องสมุดขนาดใหญ่อาจมีห้องทำงานแยกต่างหาก มีทางเข้าพิเศษ ห้องสมุดขนาดเล็กมักจะใช้ด้านหลังโต๊ะรับ-จ่าย เป็นที่ทำงานของบรรณารักษ์
    3. ที่สำหรับค้นคว้า ควรอยู่ใกล้บรรณารักษ์เพื่อสะดวกในการดูแลและแนะนำ แต่ ไม่ควรอยู่ใกล้ทางเข้าออก
    4. ที่ทำงานด้านเทคนิค ควรอยู่ตอนในของห้องสมุด หากมีอาคาร 2 ชั้น ควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อความสะดวกในการทำงาน
    5. โสตทัศนวัสดุ อาจมีห้องเก็บแยกต่างหาก สำหรับห้องสมุดขนาดเล็กควรใส่ตู้ ไว้ใกล้ที่รับจ่ายหนังสือ เมื่อห้องสมุดขยายขอบเขตการให้บริการมากขึ้น มีการเพิ่มเติมจำนวนชั้นหนังสือมากขึ้นนั้น ควรคำนึกถึงการเก็บหนังสือตามหมวดหมู่ ไม่ควรให้เกิดการสะดุดต่อการค้นหา เนื่องมาจากการจัดตั้งชั้นหนังสือ และควรมีการคำนวณเนื้อที่ของชั้นหนังสือเผื่อไว้สำหรับ การขาย การจัดเก็บในอนาคต ชั้นเก็บหนังสือที่มีขนาดสูง 90 นิ้ว สามารถจัดเก็บหนังสือได้ คิดเป็นน้ำหนักรวมกัน 150 ปอนด์ ต่อ 1 ตารางฟุต ในขณะที่ห้องสมุดอ่านหนังสือทั่วไปรับน้ำหนักได้ 75 ปอนด์ ต่อ 1 ตารางฟุต (Lushington and Mills 1980:114-15) การคำนวณเนื้อที่อาคารห้องสมุดเกี่ยวกับครุภัณฑ์จึงต้องคำนึงถึงเรื่องการรับน้ำหนักนี้ด้วย

หน้าสารบัญ
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com