1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

งานบริหารงานของห้องสมุดประชาชน

การบริหารห้องสมุด คือ การกระทำกิจกรรมใดๆในงานของห้องสมุดให้ดำเนินไป โดยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ อันเป็นหน้าที่ของห้องสมุดแต่ละประเภทๆไป โดยมี การกำหนดแนวนโยบาย วางรูปงาน และหาวิธีต่างๆรวมทั้งการเลือกหา หนังสือ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆมาไว้ในห้องสมุด เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ดำเนินไปด้วยดี ตามกำลังของงบประมาณที่ได้จัดสรรแล้ว (ทวี มุขธระโกษา และ ชลัช ลียะวณิช 2511:369) จารุวรรณ สินธุโสภณ ให้ความหมายของการบริหารงานห้องสมุดไว้ดังนี้(2527: 42) คือ การบริหารงานห้องสมุด หมายถึง

1. การรู้จักใช้บุคลากร อันประกอบด้วยบรรณารักษ์ และผู้มีความรู้ ความสามารถหรือความชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อสนเทศ ซึ่งจะทำงานในด้านการจัดหา การใช้ การสงวนรักษา การทำสำเนา การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับสื่อสนเทศ และ ให้บริการแก่ประชาชน

2. การใช้เงินในการก่อตั้ง ดำเนินการ หรือปรับปรุงและขยายกิจการ อันเป็นเงินซึ่งได้รับมาจากส่วนราชการหรือหน่วยงาน ที่ห้องสมุดสังกัดอยู่จากการสนับสนุนของเอกชน หรือองค์การหรือจากสมาชิกของห้องสมุด

3.จัดบริการในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสื่อสนเทศซึ่งเหมาะสมและ สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก และผู้มาใช้ห้องสมุด

4.จัดสถานที่เพื่อให้บริการด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้ห้องสมุด ตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุดและ อำนวยประโยชน์แก่ประเทศเป็นส่วนรวม

การบริหารงานในห้องสมุดประชาชน จึงมีลักษณะการบริหารงานเหมือนกับห้องสมุดอื่น ๆ โดยทั่วไป ในประเทศที่มีกฎหมายห้องสมุด และมีมาตรฐานห้องสมุดเป็นเครื่องมือ ในการดำเนินงานห้องสมุด มีปัญหาในการบริหารงานห้องสมุด น้อย ส่วนประเทศไทยนั้น ห้องสมุดประชาชนที่ดำเนินงาน โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน ประสบปัญหาต่อการดำเนิน งานห้องสมุดมากที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานในห้องสมุดประชาชน โดย เฉลี่ยแล้วห้องสมุดประชาชน มีบุคลากรในห้องสมุดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

งานบริหารห้องสมุดแบ่งได้เป็น 4 ประเภท (ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน 2522: 9) ดังต่อไปนี้

    1. งานเทคนิคเฉพาะของห้องสมุด
    2. งานบริการ
    3. งานธุรการ
    4. งานวางแผน ทำโครงการ วางนโยบาย และควบคุมการทำงาน

งานเทคนิคเฉพาะของห้องสมุด

    1. งานเลือกหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ การสั่งซื้อหนังสือ และการเก็บทะเบียนต่างๆเกี่ยวกับการจัดหาหนังสือ และอุปกรณ์การศึกษา
    2. งานตรวจรับหนังสือเข้าห้องสมุด การประทับตราห้องสมุดและงานลงทะเบียนหนังสือ
    3. งานจัดหมู่หนังสือ การเตรียมหนังสือให้ยืม การทำร่างบัตรรายการ
    4. งานพิมพ์บัตรรายการ การตรวจบัตรรายการและการแยกบัตรรายการ เขียนสันหนังสือ และการปิดบัตร กำหนดส่งและซองหนังสือ
    5. งานสำรวจหนังสือ ตามธรรมดาหลังจากห้องสมุดเปิดให้บริการเป็นเทอมหรือเป็นปีแล้ว ก็จะต้องมีการสำรวจหนังสือ เพื่อให้ทราบว่า หนังสือขาดหายไปเท่า ไหร่ มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ก็จะได้รีบแก้ไข งานสำรวจนี้ควรจะทำทุกปี เวลาเหมาะที่จะ ทำ ได้แก่ เวลาหยุดเรียนภาคฤดูร้อน
    6. งานคัดหนังสือเก่าออก หนังสือบางเล่มเก่าล้าสมัยไม่มีผู้ใช้ศึกษาค้นคว้า ก็ควรคัดออกจากห้องสมุด หรือหนังสือบางเล่มมีฉบับ พิมพ์ใหม่ ออกมา ถ้าเห็นว่าเล่มเก่าไม่มี คุณค่าก็ควรคัดออกแล้วส่งไปให้ห้องสมุดอื่นที่จะใช้ประโยชน์
    7. งานตระเตรียมวารสารเพื่อเย็บเล่ม การเย็บเล่มวารสารควรจะคำนึงถึง หลักสูตร และแนวการสอนในสถานศึกษา บรรณารักษ์ควรเย็บเล่มวารสารที่มีเนื้อหาวิชาใน หลักสูตรของสถานศึกษา และใช้ดรรชนีนิตยสารเป็นแนวด้วยก็ได้ วารสารที่เย็บเล่มนั้นจึงจะ มีคุณค่าแก่การเรียนการสอนในสถาบัน
    8. งานซ่อมหนังสือ การเข้าปกหนังสือปกอ่อน และการเข้าปกเอกสาร
    9. การจัดนิทรรศการหนังสือ เพื่อให้คนได้นำไปศึกษา

งานด้านบริการต่างๆ

    1. งานรับจ่ายหนังสือ ได้แก่ การให้คนยืมหนังสือออกไปใช้นอกห้องสมุดและรับ คืนหนังสือ มีการเก็บระเบียบการยืมทำสถิติ การยืมรายวัน รายเดือนและรายปี ทำหนังสือทวงผู้ยืมไปเมื่อเกินกำหนดส่ง สอดบัตรคืนหนังสือ และเก็บหนังสือเข้าชั้น นอกจากนี้ยังช่วย ให้บริการตอบคำถามที่ง่ายๆ เช่น การค้นบัตรรายการ และการแจ้งที่อยู่ของหนังสือ เป็นต้น
    2. บริการตอบคำถามและหนังสืออ้างอิง แนะนำการใช้หนังสืออ้างอิง
    3. บริการแนะแนวการอ่าน เช่น การจัดการเล่าเรื่องหนังสือ จัดโปรแกรมเล่านิทาน นำการอ่านหนังสือแบบสุ่ม จัดแนะแนวการอ่านแบบต่างๆแก่นักเรียน เป็นต้น
    4. บริการโสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
    5. บริการสอนนักเรียนให้รู้จักหนังสือและห้องสมุด
    6. บริการดรรชนีนิตยสารและหนังสือ 7. บริการแปล
    8. บริการบรรณานุกรม
    9. บริการอื่นๆ บริการหนังสือสงวน จัดหนังสือให้ใช้เฉพาะชั้นหรือกลุ่ม การช่วยค้นคว้าและวิจัยต่างๆ

งานธุรการ

    1. งานสารบัญ ได้แก่งานร่างหนังสือโต้ตอบจดหมายขออนุมัติทำเสาเนาเอกสารเก็บเสาเนาเอกสาร เป็นต้น
    2. งานเกี่ยวกับบุกคลเช่นการจัดหาคนเข้าทำงานหอ้งสมุดได้แก่การออกประกาศรับสมัคร การรับสมัคร การสอบคัดเลือก การจัดคนเข้าปฏิบัติ งานงานสวัสดิการการเลื่อนขั้นการควบคุมให้การปฏิบัติงานตามนโยบายของห้องสมุดและการตรวจตราดูแล ผลงานของเจ้าหน้าที่ต่างๆ
    3. งานพิมพ์ มีพิมพ์หนังสือราชการเกี่ยวกับห้องสมุด เช่น พิมพ์รายงานของห้องสมุด ฯลฯ
    4. งานพัสดุ ได้แก่ การจัดหาพัสดุอุปกรณ์ของห้องสมุด ครุภัณฑ์ต่าง ๆ (ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน 2522 : 9-10)

ในประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จำแนกงานต่าง ๆ ภายในห้องสมุด สามารถจำแนกงานออกเป็น 12 หมวดใหญ่ ๆ (จารุวรรรณ สินธุโสภณ 2527 : 77-78 ) คือ

    1. งานบริหาร
    2. งานบุคคล
    3. งานประชาสัมพันธ์
    4. งานคัดเลือกทรัพยากร
    5. งานจัดหาทรัพยากร
    6. งานจัดหมวดหมู่และทำรายการทรัพยากร
    7. งานจัดเตรียมทรัพยากรออกบริการ
    8. งานทะเบียนสมาชิกและงานให้ยืม
    9. งานบริการสนเทศ
    10.งานบริการแนะนำการ่อาน
    11.งานดูแลรักษาทรัพยากร
    12.งานดูแลรักษาที่เก็บหนังสือ

ระบบห้องสมุดประชาชนในประเทศแคนาดา เช่น ระบบห้องสมุดประชาชนโทรอนโท (The Toronto Public library System) ได้จำแนกงานในการบริหารงานห้องสมุดเป็น 7 ประเภท (Compbell 1973 : 278 - 279) คือ

    1. แผนกบริการประชาชนทั่วไป วางนโยบายในการให้บริการผู้ใหญ่ (Adult and Young People)
    2. แผนกบริการเด็ก (Boys and Girls Services)
    3. แผนกบริการข้อสนเทศ (Public Services Information System)
    4. แผนกบริการชุมชน (Community Services )
    5. แผนกโสตทัศนวัสดุ (Communication Arts Services)
    6. แผนกงานเทคนิค (Technical Services Department)
    7. แผนกบริการทั่วไป (Administrative Services)

สำหรับห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชนสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ยังไม่มีความจำเป็นในการจัดระบบการบริหารห้องสมุดให้แยกย่อยลงไป เพราะยังขาดแคลนบุคลากรห้องสมุด และจำเป็นต้องปฏิบัติงานทุกด้านของการดำเนินงานห้องสมุดอยู่แล้ว

หน้าสารบัญ
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com