1633110 เทคโนโลยีสารนิเทศและการประยุกต์ใช้
Information Technology and Application

ภาคต้น ปีการศึกษา 2548
3 (2-2)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
อ.เมือง กาญจนบุรี 71190

chumpot@hotmail.com

พัฒนาการการให้บริการและเผยแพร่สารนิเทศในประเทศไทย

พัฒนาการการให้บริการอ้างอิงและสารสนเทศของห้องสมุดในประเทศไทย อาจย้อนไปกับการเกิดแหล่งให้บริการข้อมูลในอดีตของไทย ก่อนเกิดระบบการศึกษา จนกระทั่งมีการจัดตั้งห้องสมุดอย่างเป็นระบบ ยุคแรกอาจเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสร้างกรุงสุโขทัย เป็น ราชธานีเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพราะประเทศไทย มีอักษรไทย ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย การมีตัวอักษรใช้ย่อมหมายถึงการมีหนังสือใช้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสถานที่เก็บรักษาและรวบรวมหนังสือเหล่านั้น

สมัยกรุงสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1826 และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1835 ในรัชกาลเดียวกันก็ปรากฏมีวรรณกรรมไทยชิ้นแรกคือ ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งจารึกพระราชประวติและพระเกียรติคุณ ของพ่อขุนรามคำแหงใหาราช และขนบธรรมเนียม ตลอดจนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุง สุโขทัย ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทก็มี หลักศิลาจารึกอื่น ๆอีกจำนวนมาก และยังมีหนังสือ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์คือ "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งย่อมแสดงว่าพระองค์ได้ ทรงรวบรวมพระไตรปิฎกและหนังสือพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก และทรงศึกษาจนแตกฉาน จึงสามารถทรงนิพนธ์หนังนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการจัดตั้งหอสมุด ขึ้นในสมัยดังกล่าว (สุพรรณี วราทร 2523 : 17)

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยนี้ได้มีการจัดตั้งสถานที่เก็บรักษาหนังสือ ตำรา และจดหมายเหตุ ราชการบ้านเมือง เรืยกว่า หอหนังสือหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวัง แต่ก็ไม่มีการจัดตั้งห้องสมุด หรือสถานที่เก็บรักษา หนังสืออื่นใด ทั้ง ๆ ที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์ ปกครองหลายพระองค์ มีวรรณกรรมเฟื่องฟู และมีการติดต่อกับต่างประเทศ ที่เจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการ จึงสันนิษฐานว่า นอกจากหอหลวงในพระราชวังแล้ว น่าจะมีการเก็บรักษา หนังสือและใบลานไว้ตามวัด ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า "หอไตร" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมคัมภีร์ และ ใบลานประจำวัดสืบมาจนถึง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเปลี่ยนชื่อ สถานที่เก็บรักษาใบลานและ หนังสือธรรมประจำวัดจาก "หอไตร" เป็น"หอธรรม" ซึ่งใน ปัจจุบันนี้นิยมเรียกว่า "หอสมุด" โรงเรียนหนังสือไทยและสำนักเรียนปริยัติธรรมที่เจริญแล้วทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนิยมสร้าง หอสมุดเก็บรวบรวมหนังสือต่าง ๆ เพื่อนักเรียน และผู้สนใจค้นคว้าหาความรู้อันเป็นวิธีเผยแพร่ ศาสนาและวิทยาการอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี หนังสือในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้กระจัดกระจาย เสียหายไปเป็นอัน มากเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หอหลวง" ขึ้นใหม่ในพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้เสาะหาและรวบรวมหนังสือของเก่ามาเก็บไว้ (สุพรรณี วราทร 2523 : 17-19)

สมัยกรุงรัตนโกลินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงเทพเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 และต่อมา ในปี พ.ศ. 2326 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดพระ ศรีรัตนศาสดาราม พร้อมด้วย "หอพระมณเฑียรธรรม" เพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ของหลวง ต่อมาถูกเพลิงไหม้เสียหาย กรมพระราชวังบรมมหาสุรสีหนาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมถวายอีกหลังหนึ่ง ณ มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือในวัดพระ ศรีรัตนศาสดาราม จึงนับว่า "หอพระมณเฑียรธรรม" นี้เป็นห้องสมุดแห่งแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในลักษณะที่เกป็นสถานที่เก็บรักษาหนังสือ (สุพรรณี วราทร 2523 : 20) ต่อมาใน พ.ศ. 2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฎิสังขรณ์วัดโพธารามซึ่งเป็นวัดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังและชำรุดทรุดโแรมมาก การบูรณะปฎิสังขรณ์นี้ใช้เวลานานถึง 12 ปี จึงสำเร็จลงเมื่อ พ.ศ. 2344 และได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส" ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยน นามเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" การปฎิสังขรณ์นี้ นอกจากเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างถาวร วัตถุและอาคารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์และศาสนพิธีแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างศาลาราย 70 ศาล และให้นำแผ่นศิลาจารึก แบบแผนคำประพันธ์ ตำรายา และการ แพทย์แผนโบราณติดไว้ตามเสาระเบียงและศาลา และสร้างรูปหล่อฤาษีดัดตน กระถางปลูก ต้นยา ภาพจากวรรณคดีชาดกและภาพพุทธประวัติไว้ที่ผนังในพระวิหารอีกด้วยเพื่อเป็น วิทยาทานแก่คนทั่วไป จึงนับได้ว่า วัดพระเชตุพน เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย (รำภีร์ กุลสมบูรณ์ 2508 : 3) และนับว่าเป็นแหล่งให้บริการอ้างอิงและสารสนเทศ ที่สำคัญในสมัยนั้น

แม้จะไม่มีการจัดตั้งห้องสมุดในระยะก่อนการจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ ใน พ.ศ. 2324 ก็ตาม แต่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในด้านต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อพัฒนาการ ด้านวรรณกรรมและห้องสมุดในสมัยนั้น ได้แก่ ความเจริญด้านการศึกษา การพิมพ์และกิจการ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนสภาพสังคม ทำให้มีการจัดตั้งห้องสมุดส่วนตัวโดยพระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการชั้นสูง ในสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลง และเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ อันเป็นผลจากอารยธรรมตะวันตกซึ่งได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งที่ช่วยพัฒนาในกิจการห้องสมุด ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้า โดยมีการตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด และ การส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวด้านห้องสมุดในรัชกาลนี้เริ่มขึ้นเมื่อกลุ่มสมาคมสตรี (Ladies Bazaar Association) ซึ่งเป็นสมาคมการกุศลก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2409 ได้จัดงานรายได้มาบำรุงกิจการของคณะมิชชันนารีเพรสใบทีเรียนเมื่อวันที่ 25 ธันวา คม พ.ศ. 2411 และได้นำเงินนี้จัดตั้งห้องสมุดขึ้นเพื่อให้บริการแก่สมาชิกที่เสียค่าบำรุง เรียกชื่อว่า "ห้องสมุดสตรีสำหรับสำหรับให้ยืมหนังสือ" (Ladies Circulating Library) ขึ้นในจังหวัดพระนคร และต่อมาดำเนินงาน โดยสมาคมสตรีกรุงเทพฯ (Bangkok Ladies' Libaray Association) จนถึง พ.ศ. 2463 จึงย้ายมาอยู่อาคารใหม่ ริมถนนสุรวงศ์ซึ่ง นายแพทย์ เนียลสัน เฮยส์ ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นางเจนนี เนียบสัน เฮยส์ ผู้เป็นภรรยาและเป็นนายกสมาคมห้องสมุดมาถึง 4 สมัย และได้ดำเนินงานห้องสมุดแห่งนี้มาเป็น? เวลานานถึง 25 ปี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อห้องสมุดเป็น "ห้องสมุดเนียลสัน เฮยส์" ซึ่ง ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ 2520: 108-116) นับว่าเป็นการให้บริการสารสนเทศตามแนวความคิดของการให้ บริการสารสนเทศแบบเดียวกับการให้บริการในต่างประเทศ

เมื่อมีการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทำหน้าที่เป็นเป็นแหล่งให้บริการสารสนเทศ แก่ประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศในขณะนั้นเห็นความสำคัญของ การให้บริการสารสนเทศเพื่อนำมาใช้พัฒนาคนในการพัฒนาประเทศ ห้องสมุดประชาชนระยะแรกที่จัดตั้งขึ้นนี้มีชื่อเรียกว่า ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่รวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ มีประโยชน์แก่ประชาชน และเปิดบริการ ให้ประชาชนทุกขั้นเข้าอ่านได้

ในครั้งแรกได้จัดตั้งห้องสมุดหนังสือสำหรับประชาชน ขึ้นสามแห่ง คือ ที่โงเรียนวัดสุทัศน์ โรงเรียนวัดสามจีนใต้ จังหวัดพระนคร และที่โรงเรียน วัดประยูรวงศาวาส ในปีต่อมาก็ได้เปิดห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนเพิ่มขึ้นอีกสองแห่ง คือ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และ ณ ที่ว่าการอำเภอชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ และต่อ มาใน พ.ศ. 2461 ได้มีการจัดตั้งห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน เพิ่มขึ้นอีกสี่แห่งในจังหวัด บุรีรัมย์ คือ ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอพุทไธสง ณ ที่ว่าการอำเภอนางรอง และ ณ ที่ว่าการอำเภอตลุง รวมมีห้องสมุดหนังสือสำหรับประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2461 รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง (แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2520 : 8-9) ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนหรือห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ ระยะแรกได้สิ้งสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2471

หลังจากที่ห้องสมุดประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการระยะแรกสิ้นสุดลงประมาณ 20 ปี ห้องสมุดประชาชนของกระทรวง ศึกษาธิการ ระยะที่สองจึงเกิดขึ้นโดยมีผลเนื่องมา จากการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ในประเทศไทยซึ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 โดยคณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่โดยให้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาธิการและให้กระทรวง ทบวง กรม อื่น ๆ เป็นผู้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดการศึกษาผู้ใหญ่ให้เป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงได้มีการขยายรูปงานใหม่ 4 ด้าน คือ การศึกษาขั้นมูลฐาน การอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ การมัธยมศึกษา และการศึกษาประชาชน ในงานด้านการศึกษาประชาชน นี้เองที่รัฐบาลได้วางนโยบายให้จังหวัดต่าง ๆ เริ่มจัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2494 และกองการศึกษาผู้ใหญ่ได้โดนมาสังกัดในกรมประชาศึกษา

ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 กรมประชาศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมสามัญศึกษา กองการศึกษาผู้ใหญ่ก็ยังคงสังกัดในกรม สามัญศึกษาตามเดิม งานห้องสมุดประชาชนก็จัดเป็นหน้าที่ของ แผนกการศึกษาประชาชน กองการศึกษาผู้ใหญ่กรมสามัญศึกษา การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนระยะที่สองนี้ได้ขยายตัวขึ้น คือ มีการจัดตั้งห้องสมุด ประชาชนอำเภอในปี พ.ศ. 2495 โดยมติของคณะรัฐบาลให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชน ตามอำเภอต่าง ๆ อำเภอละ 1 แห่ง และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง มหาดไทยร่วมมือกันดำเนินการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นฝ่ายดำเนินการ ส่วนกระทรวง มหาดไทยเป็นฝ่ายจัดหาสถานที่

รัฐบาลเห็นความสำคัญของกิจการห้องสมุดประชาชน ที่จะเป็นศูนย์กลางการให้ การศึกษาของประชาชน จึงได้ประกาศให้ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเป็นสถานศึกษา สังกัด กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (กรมสามัญศึกษา 2517: 1) โดยกำหนดหน้าที่ ดังนี้
    1. ให้การศึกษานอกโรงเรียนแก่ประชาชนทั่วไป
    2. ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
    3. ให้บริการทางข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเป็นคนทันต่อเหตุการณ์
    4. ส่งเสริมและแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ ทัศนคติ และสามารถปฎิบัติตนเป็น พลเมืองดีตามระบอบประชาธิปไตย
    5. ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม
    6. ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

เมื่อประเทศไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ.2503 เป็นฉบับแรก ได้วางแผนเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ภายในชาติ สนับสนุนการจัดการให้การศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ทำให้สถานศึกษา ต่างๆหันมาสนใจในการจัดตั้งห้องสมุด และจัดให้มีบริการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้บริการคือ บรรณารักษ์ของห้องสมุดนั่นเอง

สภาพของการให้บริการอ้างอิงในห้องสมุดแต่ละแห่ง จึงแตกต่างกันไป ตามสภาพของการบริหารงานในสถานศึกษาต่างๆ ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย มีความได้เปรียบ ในการจัดการให้บริการได้ดีกว่าห้องสมุดประเภทอื่นๆ แต่ไม่ว่าห้องสมุดจะเป็นประเภทใด บรรณารักษ์ในแต่ละแห่ง จะพยายามทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ในการตอบคำถามแก่ผู้ใช้ห้องสมุด การบริการอ้างอิงในยุคแรกๆจึงเป็นบริการตอบคถาม เพื่อช่วยแนะนำผู้ใช้ห้องสมุดให้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่ในห้องสมุดเป็นสำคัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 10 มิถุนายน 2548
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com