1631303 บริการอ้างอิงและสารสนเทศ
Reference and Information Services

การให้บริการสารสนเทศจากฐานข้อมูลในระบบเครือข่าย

การใช้คอมพิวเตอร์จัดทำฐานข้อมูล และ การมีแหล่งบริการสารนิเทศจากฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นนั้น เป็นการใช้เทคโนโลยีสารนิเทศ ในสังคมสารนิเทศซึ่งกำลังทวีบทบาทอย่างมากต่อการทราบข้อมูลทุกเรื่องที่เคยมีแล้วได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารในสังคมสารนิเทศในปัจจุบัน มักมาจากการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ การติดตามข้อมูลเรื่องวารสารของผู้ใช้สารนิเทศ มักมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ แต่ในขณะนี้ผู้ใช้สารนิเทศสามารถค้นหาความใหม่ๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องอ่านวารสารฉบับนั้นๆ มาก่อน ศูนย์สารนิเทศตลอดจนห้องสมุดต่างๆได้รับความสะดวกสบาย ต่อการดำเนินงานบริหารสารนิเทศ ทั้งนี้เพราะมีบริษัทเอกชนหลายแห่งดำเนินการให้บริการธุรกิจด้านนี้ โดยอาศัยระบบโทรคมนาคม เป็นหลัก

บริการที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ได้แก่ ระบบการสืบค้นสารนิเทศระบบสายตรง (Online searching) จากเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยผ่านการค้นสารนิเทศจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ให้บริการสารนิเทศนั้น ๆ ผู้ให้บริการสืบค้นและเรียกใช้สารนิเทศจากระบบสายตรง จากคอมพิวเตอร์ ได้จัดเก็บข้อมูลไว้อย่างมีระบบ จัดทำวิธีการใช้เครื่องช่วยค้นไว้ให้ผู้ใช้ หรือผู้ซื้อสารนิเทศได้ใช้ตรวจสอบค้นสารนิเทศ ที่ต้องการ และสุดท้ายก็คือจัดทำระบบการเรียกสารนิเทศที่ค้นพบแล้วออกมาใช้ตามต้องการ ผู้ใช้สามารถถามหาหรือบอกสิ่งที่ตนเอง กำลังต้องการผ่านเครื่องปลายทาง ( Terminal )ของตนไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ของผู้ขาย (Host Computer) ซึ่งอยู่ไกลออกไปโดยไม่ จำกัดระยะทาง ทั้งนี้โดยอาศัยข่ายงาน (Network) ในระบบโทรคมนาคม (ณรงค์ ป้อมบุปผา, 2530, หน้า 5-6) การให้บริการสารนิเทศ ระบบสายตรง ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงเป็นวิธีการที่นักสารนิเทศ หรือ บรรณารักษ์ ติดต่อโดยตรงในเรื่องสารนิเทศ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ แทนที่จะสืบค้นสารนิเทศด้วยมือ เช่นที่เคยปฎิบัติมา

ความหมายของฐานข้อมูล (Databases)

ฐานข้อมูล คือแหล่งรวบรวมสารนิเทศในรูปตัวหนังสือหรือบันทึกข้อมูลตัวเลขซึ่งได้รับการถ่ายทอดและจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ (Katz, 1987, p.39) เป็นกลุ่มของข้อมูล ที่มีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ (Prytherch, 1996, p. 190)ฐานข้อมูลครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ เรื่องของดรรชนี ข้อความจากสารานุกรม จนกระทั่งสถิติตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ

ฐานข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    1. ฐานข้อมูลเพื่อการอ้างอิง ให้บริการข้อมูลทางด้านดรรชนีและบรรณานุกรม
    2.ฐานข้อมูลเพื่อแนะแหล่งสารนิเทศ ให้บริการข้อมูลในรูปเนื้อหาสารนิเทศเต็มรูปแบบด้วยตัวเลข หรือตัวเลขพร้อมเนื้อหาสารนิเทศ

ในด้านการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้บริการจัดแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ (ศิลปชัย พิชเยนทรโยธิน, 2531, หน้า 1-2) คือ
    1. ฐานข้อมูลประเภทบันทึกถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข่าวสาร หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากและนาน ๆ ครั้ง บันทึกเก็บไว้บนจานแม่เหล็ก หรือแผ่นสารนิเทศ อันได้แก่ สารานุกรม พจนานุกรม รายงาน บทความ เป็นต้น

    2. ฐานข้อมูลทันสมัย มีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอหรือบ่อยครั้ง และสามารถเสนอข่าวสารที่ทันสมัยเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่าง ๆ รายงานตลาดหลักทรัพย์ กำหนดเวลาการเดินทาง ของยานพาหนะประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน รถไฟ เป็นต้น ผู้ใช้สามารถเรียกฐานข้อมูลประเภทนี้ได้ผ่านช่องสัญญาณโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลประเภทใด เครื่องคอมพิวเตอร์มีบทบาทที่สำคัญในการเรียกฐานข้อมูลเหล่านี้ และหากประกอบด้วยซอฟต์แวร์ ที่เหมาะสม ผู้ใช้จะสามารถค้นหาข้อมูลและข่าวสารที่ต้องการจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้เอง

เนื่องจากฐานข้อมูลเป็นแหล่งที่ให้สารนิเทศ ซึ่งบริษัทสำนักพิมพ์อนุญาตให้บริษัทจัดจำหน่ายสารนิเทศ (Vendors) ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ ด้วยการขายสารนิเทศ จึงเกิดสังคมสารนิเทศในเชิงพาณิชย์ สารนิเทศไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการให้บริการโดยไม่ เสียค่าใช้จ่ายดังเช่นที่ห้องสมุด ประเภทต่าง ๆ เคยให้บริการมา ทั้งนี้เนื่องจากสารนิเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อติดตั้งระบบโทรคมนาคม เชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้สารนิเทศ ต้องใช้แผ่นสารนิเทศหรือระบบการดังข้อมูลสายตรงด้วยระบบโทรคมนาคม บริการการค้นสารนิเทศ ในปัจจุบันผู้ใช้สารนิเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว

แหล่งบริการสารนิเทศฐานข้อมูล (Information Vendors)

อุตสาหกรรมสารนิเทศก่อให้เกิดแหล่งบริการสารนิเทศประเภทต่าง ๆ มีอุปกรณ์ที่ใช้สารนิเทศในรูปแบบและประเภทต่างๆ อุปกรณ์ส่วนใหญ่ ใช้ประกอบกับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยผ่านระบบโทรคมนาคมไปยังปลายทางของผู้ใช้สารนิเทศ

อุตสาหกรรมสารนิเทศ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนคือ
    1. ผู้จัดหาข่าวสาร ซึ่งจะเป็นบุคคลหรือองค์การที่ทำให้เกิดการสร้างข่าวสาร ผู้จัดหาข่าวสารเปรียบเสมือนนักประพันธ์ในอุตสาหกรรมสารนิเทศ
    2. ผู้ผลิตฐานข้อมูล คือ บุคคลหรือองค์กรที่สร้างประมวล และแก้ไขฐานข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ข่าวสารจากผู้จัดหาข่าวสาร
    3. ผู้จำหน่ายฐานข้อมูล เก็บ บันทึกข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งผู้ผลิตฐานข้อมูลได้สร้างขึ้นไว้ในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียกได้จากอุปกรณ์ปลายทาง ผ่านช่องสัญญาณโทรคมนาคม
    4. ผู้ใช้สารนิเทศ เป็นผู้ใช้สารนิเทศจากการขอบบริการสารนิเทศจากศูนย์สารนิเทศหรือห้องสมุดประเภทต่าง ๆ อาจต้องเสียค่าบริการ จากการบริการสารนิเทศ เช่น การใช้บริการระบบออนไลน์จากคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ผู้ผลิตฐานข้อมูล และผู้จำหน่ายฐานข้อมูล อาจเป็นหน่วยงานเดียวกันในการให้บริการสารนิเทศ จึงอาจแบ่งแหล่งบริการสารนิเทศ จากฐานข้อมูลที่สำคัญเป็น 3 ประเภท (Katz, 1987, p. 41-42) คือ
    1. บริการสารนิเทศของบริษัทฺจัดทำฐานข้อมูล เป็นการจัดทำสารนิเทศในรูปของการบริการฐานข้อมูล แรกเริ่มมีบริษัทใหญ่ 3 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินการคือฐานข้อมูลของบริษัทล๊อคฮีด จัดทำฐานข้อมูลไดอะลอก (DLALOG) ฐานข้อมูลบีอาร์เอส (Bibliographic Retrieval Services - BRS) ของบริษัทลาทัม มลรัฐนิวยอร์ก และฐานข้อมูลเอสดีซี (Systems Development Corporation - SDC) ของบริษัทซานตาโมนิกา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
    2. บริการสารนิเทศของรัฐ จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐบาล เช่น หอสมุด แห่งชาติอเมริกัน มีฐานข้อมูลที่สำคัญ คือ ฐานข้อมูลเมดไลน์ (MEDLINE)
    3. บริการสารนิเทศโดยตรง เป็นบริการสารนิเทศจากฐานข้อมูลเพื่อขายสารนิเทศโดยตรงกับผู้ใช้สารนิเทศ เช่น บริการฐานข้อมูลเนกซิส (NEXIS) ของบริษัทมีดดาต้า เซนทรัล ฐานข้อมูลวิลสันไลน์ ของบริษัทเอช ดับลิว วิลสัน และฐานข้อมูลบาวเกอร์ ของบริษัทอาร์ บาวเกอร์ เป็นต้น

ธุรกิจให้บริการฐานข้อมูลกำลังทวีความสำคัญ และมีบทบาทแข่งขันในการให้บริการสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2529 มีฐานข้อมูลทั่วโลกกว่า 486 แห่ง ที่ให้บริการสารนิเทศในทุกสาขาวิชา

หน้าสารบัญ