1631201 งานเทคนิคของห้องสมุด
Technical Works in Library

2 (1 - 2)

ผู้สอน : รศ จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

งานจัดหาและพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ

งานด้านการจัดหา (Aguisition) ได้แก่การจัดหาวัสดุสารสนเทศ เช่น หนังสือและสิ่งพิมพ์ตลอดจนโสตทัศนวัสดุต่างๆ เข้ามาไว้ในห้องสมุดด้วยวิธีการซื้อ วิธีขอ หรือแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่จัดซื้อครุภัณฑ์ อุปกรณ์ของห้องสมุดอีกด้วย ผู้จัดซื้อหรือจัดหาจำเป็นจะต้องรู้ดีว่าแหล่งสารสนเทศประเภทต่างๆนั้นมีอะไรบ้าง หนังสือเก่าและหายาก หนังสือเฉพาะวิชา จะจัดซื่อหาได้จากที่ใด รู้จักแหล่งจำหน่ายวัสดุ ครุภัณฑ์ของห้องสมุด นอกจากนี้ยังจะต้องรู้ระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเงินและการจัดซื้อวัสดุเป็นอย่างดีอีกด้วย งานทางด้านนี้เป็นงานที่ผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี งานต่างๆ ได้แก่
1. จัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศตามงบประมาณที่ได้รับ
2. จัดแบ่งเงินซื้อวัสดุสารสนเทศออกเป็นงวดๆ เพื่อให้ห้องสมุดมีหนังสือใหม่ๆ เพิ่มอยู่ตลอดปี
3. ติดต่อผู้ขายทรัพยากรสารสนเทศเพื่อตกลงในส่วนลด และความสะดวกในการส่งวัสดุ
4. จัดทำรายชื่อสถานที่ ร้านจำหน่ายทรัพยากรสารสนเทศ วัสดุครุภัณฑ์ ที่ห้องสมุดจะต้องติดต่อ
5. จัดทำบัญชีทรัพยากรสารสนเทศ หนังสือเก่าที่หายากและหนังสือเฉพาะบางวิชาที่หายาก
6. ตรวจบัญชีรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่เลือกไว้แล้ว กับบัตรรายการของห้องสมุดและบัตรสั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่ได้สั่งซื้อไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุสารสนเทศที่ต้องการซื้อใหม่นั้นไม่ซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว หรือที่สั่งซื้อไปแล้ว
7. พิมพ์จดหมายสอบถามราคา และจดหมายสั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศ พิมพ์บัตรสั่งซื้อวัสดุ
8. นำเรื่องราวขออนุมัติผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติซื้อวัสดุตามบัญชีที่จัดไว้
9. เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จัดการสั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศ
10. จัดเก็บหลักฐานสั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศ เรียงไว้ตามลำดับพยัญชนะตัวแรกของซื่อผู้แต่ง เมื่อทรัพยากรสารสนเทศมาถึงห้องสมุดแล้ว ก็ดึงบัตรออกมาลงวันที่ที่ได้รับวัสดัสารสนเทศนั้น แล้วใช้เป็นบัตรรายการทรัพยากรสารสนเทศได้ชั่วคราวจนกว่าบัตรรายการจะทำเสร็จ
11. เมื่อร้านขายทรัพยากรสารสนเทศนำวัสดุมาส่งแล้ว ตรวจดูรายการว่าตรงกับบัญชีสั่งซื้อหรือไม่และตรวจสภาพของวัสดุ เช่นมีเลขหน้าตรงหรือไม่ พิมพ์ติดทุกแผ่นหรือไม่ เป็นต้น
12. ถ้าร้านส่งวัสดุไม่ตรงตามบัญชี หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ให้ดำเนินการส่งคืนไปยังร้าน เพื่อได้นำวัสดุที่ถูกต้อง และอยู่ในสภาพดีมาแทน
13. ลงทะเบียนและสมุดทะเบียน ในสมุดทะเบียนจะมีเลขทะเบียนและช่องสำหรับลงชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ ราคาของหนังสือ เขียนเลขทะเบียนลงในหนังสือ (ดูรายละเอียดในเรื่องการลงทะเบียนหนังสือและวารสาร)
14. จัดการเกี่ยวกับการบอกรับนิตยสาร ตรวจดูว่านิตยสารในเล่มใดถึงกำหนดจะบอกรับและชำระเงินใหม่อีกสำหรับปีใหม่
15. ลงทะเบียนนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ สิ่งเหล่านี้จะต้องลงทะเบียนต่างหากจากหนังสือทั่วไปโดยมากใช้แบบฟอร์มเป็นบัตร (ดูรายละเอียดในเรื่องการลงทะเบียนหนังสือและวารสาร)
16. จัดการเกี่ยวแก่การแลกเปลี่ยนหนังสือกับห้องสมุดต่างๆ และจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน งานนี้ห้องสมุดใหญ่ๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยเท่านั้นจึงจะทำได้
17. พยายามติดต่อให้มีการบริจาคหนังสือที่ต้องการ อาจติดต่อกับองค์การต่างๆ ในต่างประเทศ, สถาบัน หรือเอกชน เพื่อขอความช่วยเหลือในด้านนี้
18. ตอบขอบคุณผู้ซึ่งบริจาคหนังสือให้ห้องสมุด จดหมายนี้บรรณารักษ์หรือผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่านั้นจะเป็นผู้ลงนาม
19. ลงทะเบียนครุภัณฑ์และวัสดุทุกชิ้นของห้องสมุดและควบคุมการใช้

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2546
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com