***เรียนให้สนุกในโลกแห่งสังคมข่าวสาร ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน***


ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการสืบค้น
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล/ ผศ.ฟ้อน เปรมพันธ์/ ผศ.วิไลวรรณ สันถวะโกมล/
อาจารย์ราตรี แจ่มนิยม/ อาจารย์นงนุช ถ้วยทอง
โปรแกรมวิชาการศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี


คำอธิบายรายวิชา/แนวการสอน
(Course Overview)

สารบัญเนื้อหาวิชา

กิจกรรมการเรียนการสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล
(Evaluation)

ตำราประกอบการสอน
(Texts and Materials)

แหล่งทรัพยากรสารนิเทศอื่นๆ
(Other Useful Resources)

แหล่งทรัพยากรเกี่ยวกับ Internet
(Resources about the Internet and Its Tools)

ตำราและวารสารอิเล็กทรอนิกส์
(On-Line Journals and Magazines)

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

ทรัพยากรสารสนเทศ

ในห้องสมุดประเภทต่างๆ หรือแหล่งให้บริการสารสนเทศ ล้วนแล้วแต่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ ทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้นมีการแบ่งประเภทได้ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

สื่อลายลักษณ์อักษร

สื่อลายลักษณ์อักษร เป็นสารนิเทศประเภทแรกที่คนใน สังคมได้ถ่ายทอดข้อความ ข่าวสาร ด้วยการจดบันทึกตั้งแต่ครั้งยังไม่เกิดตัวอักษรจนกระทั่ง มีการประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นภาษาต่าง ๆ วิวัฒนาการของสื่อสารนิเทศชนิดแรก ๆ ของโลก คงเป็นสื่อลายลักษณ์อักษร คือ สื่อที่เขียนด้วยตัวหนังสือ หรือภาพบนวัสดุต่าง ๆ เช่น จากการขีดเขียนไว้ตามฝาผนังถ้ำ จนกระทั่งจารึกในวัสดุอื่น ๆ ภายหลัง เช่น ไม้ และกระดาษ เป็นต้น ตัวหนังสือหรือ ตัวอักษร มีวิวัฒนาการมาจากภาษาท่าทางและภาษาพูด พบหลักฐานของตัวหนังสือหรือตัวอักษรจากตามถ้ำและโบราณในแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ทำให้ ทราบว่าตัวหนังสือได้วิวัฒนาการไป ตามความคิดของมนุษย์ซึ่งค่อย ๆ เจริญก้าวหน้าไปโดยลำ ดับ วิวัฒนาการของสื่อลายลักษณ์อักษรได้พัฒนา มาหลายรูปแบบ (วัลลภ สวัสดิวัลลภ 2527 : 6-28) พอสรุปได้ดังนี้

    1. หนังสือเขียนด้วยภาพ (Pictograph หรือ Picture writing) เป็นการสื่อสารนิเทศ ด้วยการเขียนภาพลงบนฝาผนังถ้ำ ภาพที่เขียนส่วนใหญ่มักเป็นภาพ สัตว์แต่ภายหลังเขียนเป็นภาพคน สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ พิสิฐ เจริญวงศ์ (2532 : 81-82) ได้สำรวจพบหนังสือเขียนด้วยภาพตามถ้ำต่าง ๆ ได้เรียกชื่อว่า ศิลปะถ้ำ อธิบายถึง เทคนิคการทำว่ามีอยู่ 2 วิธี คือ
    1.1. ลงสี (Pictograph) เป็นการสร้างภาพด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเขียนด้วยก้อนสี แท่งสี อย่างก้อนดินเทศ ถ่าน หรือชอล์ก หรือเขียนระบายเป็นรูป พ่นสี สะบัดสี และการทาบหรือประทับลงไปบนพื้นหรือผนังให้เกิดรูป
    1.2. การทำรูปรอยลงในหิน (Petroglyph) เป็นการสร้าง รูปรอยตั้งแต่ การฝน การจาร การขูดขีด การแกะหรือการตอก เป็นต้น เป็นที่น่าภูมิใจที่พบหลักฐานสื่อสารนิเทศประเภทลายลักษณ์เป็น จำนวนมากในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการสื่อสาร ของคนไทยในอดีต ที่ผ่านมา
    2. หนังสือเขียนด้วยเครื่องหมายแทนความนึกคิด (Ideograph) เป็น การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนด้วยการเขียน เป็นเครื่องหมาย ที่มีข้อตกลงในสังคม หนังสือประเภทนี้ ได้แก่ อักษรคูนิฟอร์ม ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติส ผู้ประดิษฐ์หนังสือชนิดนี้ ได้แก่ อักษรสุเมเรียน อักษรเฮียโรกลิฟฟิก ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจาก แถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ผู้ประดิษฐ์ คือชาวอียิปต์ และอักษรจีนซึ่งใช้กันในประเทศจีน
    3. หนังสือเขียนตามเสียงพูด (Syllabary หรือ Phonetic writing) เป็นการพัฒนาการเขียนโดยนำเอาตัวหนังสือเดิม ซึ่งเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วมาใช้ โดยเอาผสมกันให้ได้เสียงตามเสียงของคำที่ต้องการ ก็จะได้คำใหม่ขึ้นมา เช่น คำว่า "ความเชื่อ" ในภาษาอังกฤษก็ใช้เสียงคำว่า ผึ้ง + ใบไม้ เป็น Bee + leaf = Belief เป็นต้น
    4. หนังสือเขียนตามฐานเกิดของเสียง (Alphabet) เป็นการใช้เครื่อง แทนเสียงที่เกิดจากฐานเกิดของเสียงแต่ละหน่วย เครื่องหมายหนึ่งก็ใช้แทนเสียงจากฐาน เกิดที่หนึ่ง เครื่องหมายนี้ก็คือ ตัวอักษรแต่ละตัวที่ใช้กันอยู่ในภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกขณะนี้นั่น เอง ซึ่งประกอบไปด้วยพยัญชนะ และสระ รวมกันเรียกว่า ตัวอักษร กลายมาเป็นบ่อเกิด ของการบันทึกสารนิเทศทั้งประเภท ลายลักษณ์อักษร และประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน
    5. หนังสือลาน เป็นหนังสือลายลักษณ์รุ่นแรกของไทย จัดทำขึ้นจากใบ ลาน เรียกว่า คัมภีร์ใบลาน หรือหนังสือลาน ซึ่งอาศัยการ บันทึกหรือการจารลงในใบลาน (วัลลภ สวัสดิวัลลภ 2527 : 65) ข้อมูลที่บันทึกในคัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยว กับพระไตรปิฎก หนังสือลานหน้าหนึ่ง ๆ มีประมาณ 5 บรรทัด จารทั้ง 2 หน้า หนังสือลานเล่มหนึ่ง ๆ เรียกว่า ผูกหนึ่ง มีประมาณ 24 ใบลาน แต่ละ ผูกร้อยด้วยเชือกถัก ซึ่งเรียกว่า สายสนอง ร้อยตามรูที่เจาะไว้ ผูกเป็นหูทางด้านซ้าย ส่วนอีกด้านหนึ่งเว้นไว้เพื่อสะดวก ในการพลิกไปมา
    6. สมุดไทย เป็นหนังสือที่ใช้กระดาษยาวต่อเนื่องเป็นแผ่นเดียว ทำเป็น เล่มโดยพับกลับไปกลับมาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ไม่มีการเย็บเล่ม เหมือนหนังสือในปัจจุบัน กระดาษทำ จากเปลือกข่อย จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า สมุดข่อย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ หนังสือบุดขาวมี เนื้อกระดาษสีขาวเขียนด้วยหมึกดำ และหนังสือบุดดำมีเนื้อกระดาษสีดำเขียนด้วยสีขาว หรือ สีรงค์เหลือง หรือรงค์ทอง (วิเชียร ณ นคร และคนอื่น ๆ 2521 : 162) ในปัจจุบันคำว่า "สมุด" เปลี่ยนแปลงความหมายไป
    7. หนังสือราชการ เป็นหนังสือที่หมายถึงจดหมายที่มีไปมาในระหว่าง ราชการหรือหนังสือราชการนั่นเอง ความหมายของหนังสือราชการมีใช้อยู่หลายคำ เช่น ศุภอักษร สารตรา ท้องตรา และใบบอก เป็นต้น สื่อประเภทลายลักษณ์อักษร นอกเหนือจากที่กล่าวมา และมีความสำคัญต่อ การสื่อสารเนื่องจากเป็นบันทึกข้อมูล เป็นเอกสารสำคัญส่วนบุคคล ได้แก่ จดหมายส่วนบุคคล บันทึกส่วนตัว บันทึกความทรงจำ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารนิเทศที่จดบันทึกด้วย ตัวอักษรด้วยการวาด หรือด้วยการเขียนสารนิเทศประเภทนี้จึงมีเป็นจำนวนมาก

สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Materials)

สื่อสารนิเทศสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สารนิเทศที่ผลิตขึ้นและรวบรวม เป็นเล่มจากการตีพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ เป็นสารนิเทศที่เริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่องอุตสาหกรรม การพิมพ์ สิ่งพิมพ์เริ่มเกิดขึ้น มีรูปลักษณะต่าง ๆ กัน ตั้งแต่เป็นแผ่น ๆ ไปจนถึงเย็บเป็น เล่มแบบต่าง ๆ สื่อสิ่งพิมพ์แบ่งได้เป็น 5 ประเภทคือ

    1. หนังสือ (Books) เป็นสื่อที่เกิดจากการพิมพ์เรื่องบันทึก ความรู้ ความคิด ความเชื่อถือ ประสบการณ์ และการกระทำของมนุษย์ในรูปเล่มที่ถาวร และมี ส่วนประกอบของรูปเล่มที่สมบูรณ์ คือ ใบหุ้มปก ปกหนังสือ ใบรองปก หน้าชื่อเรื่อง หน้าปก ใน คำนำ สารบาญ เนื้อเรื่อง บรรณานุกรม ภาคผนวก อภิธานศัพท์ และดรรชนี หนังสืออาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายวิธี สุดแท้แต่ว่าจะยึดหลัก เกณฑ์ใด แต่ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย คือ แบ่งตามเนื้อหาและแบ่งตามลักษณะการแต่ง (ชุติมา สัจจานันท์ 2523 : 2) โดยถ้าแบ่งตามเนื้อหา แบ่งขอบเขตของหนังสือเป็น 2 ประเภท คือ หนังสือตำราและสารคดี และหนังสือบันเทิงคดี ถ้าแบ่งตามลักษณะการแต่งจะแบ่งได้เป็น การแต่งแบบร้อยแก้วและการแต่งแบบร้อยกรอง หนังสือตำราและสารคดี (Non-fiction Books) มุ่งให้สาระความรู้ใน สาขาวิชาต่าง ๆ เป็นหลัก (อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์ 2531 : 2) เป็นหนังสือที่มีจำนวน มากเมื่อเปรียบเทียบกับหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการอยู่ในห้องสมุดประเภทต่าง ๆ และศูนย์ สารนิเทศต่างๆ หนังสือตำราและสารคดีที่ควรรู้จัก เช่น ตำรา (Textbooks) และ หนังสือสารคดีทั่วไป เป็นต้น

    2.วารสาร (Periodicals) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดระยะเวลาออกไว้ แน่นอน เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 2 เดือน เป็นต้น ออกโดยสม่ำเสมอ และมีชื่อเรียกแน่นอน โดยจะพิมพ์บทความและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้ในเล่มเดียวกัน เขียนโดยผู้เขียนหลายคน เนื้อหาสาระภายในมักเป็นเรื่องหลายเรื่องหลายแบบรวม ๆ กัน จัดเป็นคอลัมน์หรือส่วนเฉพาะ แบ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวประเภทสรุป หรือวิเคราะห์วิจารณ์ในรอบเวลาหนึ่งเป็นบทความที่ให้ความรู้ หรือแสดงความคิดเห็น เขียนเป็นเรื่องสั้น หรือนวนิยายเป็นตอน ๆ เขียนเป็นสารคดีทั่วไป แฟชั่นต่าง ๆ ประกาศโฆษณา เป็นต้น การจัดทำวารสารหรือนิตยสารจะมีคณะผู้จัดทำหลายคนร่วมกันทำ โดยแต่ละคนรับผิดชอบหน้า ที่กันไปคนละอย่างมีตั้งแต่ เจ้าของ ผู้อำนวยการ บรรณาธิการ ฝ่ายศิลป เป็นต้น วารสารมีการแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะของเนื้อหาวิชา คือ
    2.1 วารสารวิชาการ (Journal) เป็นวารสารที่จัดทำโดยสถาบัน บริษัท หรือสมาคมทางวิชาการ เนื้อหาบทความที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นบทความทางวิชาการ

    2.2 นิตยสาร (Magazine) เป็นวารสารสำหรับผู้อ่านทั่วไป ตีพิมพ์ บทความหลายชนิดในหลายสาขาวิชาการ แต่ละบทความเขียนโดยผู้เขียนหลายคน คำเรียกชื่อวารสารในภาษาไทยมีใช้กันหลายคำ ความหมายของคำว่า วารสารเป็นเรื่องของภาษา มีการเปลี่ยนแปลง จึงควรพิจารณาลักษณะของบทความที่ตีพิมพ์ หรือความมุ่งหมายของการจัดทำ ประกอบด้วย (วิสิทธิ์ จินตวงศ์ 2520 : 259-260) คำที่เรียกชื่อวารสารมีหลายคำ เช่น ข่าว จดหมายข่าว จดหมายเหตุ จุลสาร แถลงการณ์ แถลงข่าว นิตยสาร วารสาร สาส์น หนังสือพิมพ์ อนุสาร เป็นต้น การแบ่งประเภทของวารสาร มีการแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามผู้ผลิต หรือผู้จัดทำ เช่น วารสารที่จัดทำโดยหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม องค์การ บริษัท ตลอดจนเอกชนที่จัดทำเพื่อการค้า

    3. หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความหมายถึงสิ่งพิมพ์ ข่าว และความเห็นที่เสนอแก่ประชาชน ตามปกติออกเป็นรายวัน (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 847) หนังสือพิมพ์นับเป็นสื่อสารนิเทศที่มีความสม่ำเสมอ เนื้อหาสาระที่นำเสนอมีความรวด เร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม หนังสือพิมพ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข่าวเรื่องราวที่น่าสนใจทั่วไปอย่างกว้าง ขวาง รูปเล่มมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดใหญ่ จำนวนหลายแผ่นพับได้ไม่เย็บเป็นเล่ม ส่วนใหญ่จะออกเป็นรายวัน หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นเพื่อคนทุกระดับความรู้ ไม่จำกัดผู้ อ่าน สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้นและอ่านได้ทุกเวลา และทุกสถานที่จึงเป็นสิ่งพิมพ์ ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจากผู้อ่าน มากกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ

    4. จุลสาร (Pamphletts) คือสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก มีความหนาอย่างน้อย 5 หน้า แต่ไม่เกิน 48 หน้า รูปเล่มไม่แข็งแรง ปกอ่อน อาจเป็นกระดาษแผ่นเดียวพับไปมาหรือ เป็นเล่มบาง ๆ เนื้อหากล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวและจบบริบูรณ์ภายในเล่ม ความยาวไม่มากนัก เขียนอย่างง่าย ๆ ส่วนมากแล้ว เนื้อหาจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจในช่วง ระยะเวลาหนึ่ง โดยจะให้ข้อมูลที่ทันสมัย รายละเอียดในเรื่องอาจยังไม่มีการจัดพิมพ์เป็น เล่มหนังสือ จุลสารมักจัดทำโดยหน่วยราชการ องค์การ สถาบันต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่เรื่อง ราวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆ จุลสารนับเป็นสื่อสารนิเทศที่ได้จากการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ประโยชน์ในการแนะนำ เผยแพร่ หรือสรุปรายงานของหน่วยงาน เป็นสารนิเทศที่ให้ข้อมูลทันสมัย เพราะมักมีการจัดพิมพ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลเดิม หรือจัดพิมพ์ใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดเก็บและให้บริการ ในศูนย์สารนิเทศตลอดจนห้องสมุดโดยทั่วไป

    5. กฤตภาค (Clippings) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นใช้เองในห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศต่าง ๆ จัดทำขึ้นจากการตัดข้อความข่าว หรือภาพจากหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มาติดแปะไว้กับกระดาษเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป ข้อความที่ตัดจากสื่อสิ่ง พิมพ์ต่าง ๆ อาจจะเป็นข่าว บทความ หรือสารคดี เป็นสาระความรู้ หรือเรื่องราวใหม่ ๆ การจัดทำกฤตภาคจึงแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
    5.1 กฤตภาคข่าว (News Clippings) เป็นกฤตภาคที่รวบรวมจาก หนังสือพิมพ์และวารสารโดยทั่ว ๆ ไป เน้นประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลเฉพาะเรื่องต่าง ๆ
    5.2 กฤตภาคภาพ (Picture Clippings) เป็นกฤตภาคที่ตัดจาก ภาพเป็นส่วนใหญ่ ทั้งกฤตภาคข่าว และกฤตภาคภาพ จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลทันสมัย บรรณารักษ์ตลอดจนนักสารนิเทศจัดทำขึ้นใช้เอง เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลนข้อมูลจากหนังสือ แและเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อหนังสือ ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดประชาชน มักนิยมจัดทำขึ้นใช้เอง ส่วนห้องสมุดขนาดใหญ่มักนิยมจัดทำเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ เพราะได้จัดทำดรรชนีหนังสือพิมพ์ และดรรชนีวารสารเพื่อค้นข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ และวารสารอยู่แล้ว

สื่อไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials)

สื่อสารนิเทศประเภทไม่ตีพิมพ์ คือสื่อประเภทโสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อ การเรียนกาสอนและวงการธุรกิจ การสื่อสารประเภทนี้จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่ง โดยตรง คือ วิชาโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาที่กล่าวถึงเทคนิค การสอน โดยใช้โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ประกอบบทเรียนของครู คำว่า โสตทัศนศึกษา หมายถึง คำต่าง ๆ อีกหลายคำ เช่น Audio Visual Media, Instructional Media, Educational Technology, Educational Media เป็นต้น (เกื้อกูล คุปรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2520 : 2) สื่อวัสดุสารนิเทศไม่ตีพิมพ์จึงเป็นวัสดุประเภทที่ใช้ดูหรือฟัง หรือทั้งดู และฟังพร้อมกันเป็นหลัก เป็นสารนิเทศที่ช่วยให้เกิด ความเข้าใจ ได้ง่าย มักใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนในชั้นเรียนและใช้ประโยชน์ในวงการธุรกิจ เนื่องจากมีคุณค่าทางการศึกษาและ การบริหารงานทางธุรกิจ

สื่อสารนิเทศไม่ตีพิมพ์ที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ภาพ (Pictures) ได้แก่ ทัศนสัญลักษณ์ที่ได้มาจากการถ่ายภาพ วาดหรือพิมพ์ เป็นสื่อสารนิเทศที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีประโยชน์ ต่อการสื่อสารในสังคม ภาพมี ความหมายในตัวของมันเอง เป็นเครื่องมือสื่อสารสากลที่ชนทุกชาติทุกภาษาเข้าใจ และสัมผัสความจริงได้ด้วยสายตา ของตนเอง (Dale 1969 : 430) ภาพเพียงภาพเดียวดีเท่า กับคำพูดล้านคำ (Shores 1949 : 190) ภาพจึงเป็นสื่อสารนิเทศที่สามารถอธิบายความหมาย ในตัวของมันเอง ภาพมีความสำคัญในทุกสาขาวิชา ครูอาจารย์ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบใน การสอนวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น วงการอุตสาหกรรมหนังสือ ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบในหน้าหนังสือหรือหนังสือพิมพ์เพื่ออธิบายข้อความหรือเรื่องราวให้ แจ่มชัดขึ้น ภาพที่มีคุณค่าทางศิลปะให้ความจรรโลงใจแก่ผู้พบเห็น ปัจจุบันห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศจัดรวบรวมภาพประเภทต่าง ๆ ให้บริการและ เพื่อการค้นคว้าแยกไว้เป็นบริการพิเศษโดยเฉพาะ

2. วัสดุกราฟฟิค (Graphic Materials) เป็นสื่อประเภททัศนวัสดุที่นำมา ใช้ในการสื่อความหมายเพื่อแสดงสัญลักษณ์ หรือความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อ เท็จจริงแนวความคิด และเสริมความเข้าใจจากการผสมผสานสื่อของภาพวาด คำพูด สัญลักษณ์ และรูปภาพ เป็นต้น (Wittich and Schuller 1973 : 110) วัสดุกราฟ ฟิคมีบทบาทต่อสังคมข่าวสารในปัจจุบัน สื่อวัสดุกราฟฟิค ได้แก่ แผนสถิติ (Graphs) แผนภูมิ (Charts) แผนภาพ (Diagrams) ภาพชุด (Flipcharts หรือ Flipbooks) ภาพโฆษณา (Posters หรือ Placards) เป็นต้น

3. วัสดุแผนที่ (Cartographic Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่รวมหมายถึงวัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนบางส่วน หรือทั้งหมดของโลก (Gorman 1978 : 85) มักแสดงข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของสถานที่ ทรัพยากร ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เส้นทางคมนาคม จัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ 2531 : 36) ดังต่อไปนี้คือ แผนที่ (Maps) หนังสือแผนที่ (Atlases) และ ลูกโลก (Globes)

4. สไลด์ (Slides) หรือแผ่นภาพเลื่อน (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 85) เป็นสารนิเทศที่มีลักษณะเป็นภาพนิ่ง ซึ่งถ่ายลงบนฟิล์มโปร่งแสงผนึกกับกรอบกระดาษหรือ พลาสติก (Prytherch 1987 : 726) มีทั้งสไลด์ขาวดำและสี เมื่อนำไปเข้าเครื่องฉาย แสงสว่างที่มีความสว่างสูงจะส่องผ่านฟิล์มไปปรากฏภาพบนจอ สไลด์มีหลายขนาดตาม แต่ชนิดของฟิล์มที่ใช้ถ่าย แต่ขนาดที่นิยมใช้กันมาก คือ ขนาด 2"x2" ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ กับกล้อง 35 มม.

5. ฟิล์มสตริป (Filmstrips) หรือฟิล์มแถบยาว (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 31) ได้แก่สื่อสารนิเทศประเภทภาพนิ่งโปร่งใส จัดทำขึ้นจากการถ่ายบนฟิล์ม โปร่งใส ขนาด 35 มม. มีความยาวประมาณ 20-50 ภาพ เรียงตามลำดับต่อกัน อาจเป็น สีหรือขาวดำมี 2 ขนาด คือ ขนาดหนึ่งกรอบภาพ ขนาด 3/4 x 1 นิ้ว ภาพจะเรียงซ้อนกัน ตามด้านขวางของฟิล์ม และขนาดสองกรอบภาพขนาด 1 x 11/2 นิ้ว ภาพจะเรียงตาม ความยาวของฟิล์ม มักจะม้วนเก็บในกล่องโลหะหรือพลาสติก (กัลยา จยุติรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2531 : 128) เวลาใช้จะต้องใช้ฉายภาพไปบนจอด้วยเครื่องฉายฟิล์มสตริป ฟิล์มสตริปบางม้วนมีเสียงประกอบ เรียกว่า ฟิล์มสตริปเสียง (Sound Filmstrips) เสียงที่บันทึกมักเป็นคำบรรยายหรือเสียงประกอบ การฉายฟิล์มสตริปต้อง ใช้กับเครื่องฉายฟิล์มสตริปควบคู่กันกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง (เกื้อกูล คุปรัตน์ 2520 : 95) วิธีการใช้ฟิล์มสตริปจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเหมาะสำหรับใช้สารนิเทศในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

6. ภาพยนตร์ (Motion Pictures หรือ Cine Films) เป็นสื่อสารนิเทศที่ จัดทำเป็นภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นเคลื่อนไหวได้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 616) สื่อประเภทนี้จึงเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็นฟิล์มพอซิทิฟ ซึ่งเรียงต่อเนื่องกัน ตามลำดับ แต่ละภาพมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เมื่อมาฉายต่อเนื่องกันในอัตราความเร็วที่พอเหมาะ ก็จะปรากฎเป็นภาพเคลื่อนไหว ปกติภาพยนตร์เสียงขนาด 16 มม. จะปรากฎภาพจำนวน 24 ภาพต่อวินาที ดังนั้นภาพ 1 ภาพ จะอบู่บนจอภาพ 1/24 วินาที การเห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์การรับรู้ภาพของมนุษย์ที่เรียกว่า Persistance of vision กล่าวคือ ตาของมนุษย์จะสามารถคงภาพที่เห็นติดตาอยู่บนเรตินาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นภาพนิ่งที่ปรากฎบนจอหลาย ๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่ามีภาพเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบนจอภาพ (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 249) กลายเป็นสารนิเทศที่มองเห็นได้อย่างต่อเนื่อง

7. วัสดุบันทึกเสียงและภาพ (Sound and Picture Recordings) เป็นสื่อสารนิเทศที่ให้สารนิเทศในรูปของการบันทึกเสียง และภาพออกมาในรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทของการจัดทำ (Gorman 1978 : 146) วัสดุบันทึกเสียงและภาพที่จัดทำในปัจจุบัน ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ คือ แผ่นเสียง (Disc) ได้แก่ สื่อสารนิเทศที่เป็นแผ่นกลม ซึ่งบันทึก เสียงด้วยคำพูดไว้ในลักษณะเป็นร่องบนพื้นผิว เมื่อใส่บนหีบเสียงและให้เข็มเดินตามร่องที่จะ เกิดเสียงตามที่บึกทึกไว้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 563) แผ่นวีดิทัศน์ (Video Disc) ซึ่งเป็นสื่อสารนิเทศที่พัฒนามาจากแผ่นเสียง ต่างกันที่แผ่นวีดิทัศน์มีการบันทึกสัญญาณภาพ และเสียงที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่า โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 85-86) เทปบันทึกเสียง (Sound Tapes) ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถบันทึกเสียงได้ และเมื่อต้องการฟังเสียงก็สามารถเปิดฟังได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของเครื่องบันทึกเสียง และ แถบวีดิทัศน์ (Video tapes หรือ Video Cassette) เป็นแถบ บันทึกภาพและเสียง สามารถเล่นได้จากเครื่องเล่นวีดิทัศน์ โดยเปิดชมภาพและเสียงจาก โทรทัศน์ ลักษณะของแถบวีดิทัศน์คล้ายเทปตลับ คือ มีลักษณะเป็นเส้นเทปทำมาจากวัสดุ ประเภทพลาสติกจำพวกเซลลูโลส ไตรอาซิเตต โพลีเอสเตอร์ หรือโพลิไวนิล ฉาบด้วยสารแม่เหล็กอย่างแข็งเพื่อคงสภาพ สัญญาณที่ถูกบันทึกลงไว้ให้ดีที่สุด แถบวีดิทัศน์บันทึกได้ทั้งเสียงและภาพในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และสามารถลบภาพและเสียงที่บันทึกไว้ออก แล้วบันทึกเทปได้หลายครั้ง (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 84) แถบวีดิทัศน์ที่นิยมใช้กันมี ขนาดของแถบกว้างประมาณครึ่งนิ้ว

8. ชุดการสอน (Kits) หมายถึง การนำสื่อสารนิเทศตั้งแต่ 2 ชนิด มาใช้ ประกอบกัน เพื่อให้ความรู้หรือสารนิเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ทางการศึกษาจัดเตรียมขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้ หรือมีความคิดรวบยอดได้ดีขึ้น เนื่องจากได้รับประสบการณ์จากประสาทรับรู้หลายทางโดยสื่อต่างชนิด สื่อเหล่านั้นอาจเป็น โสตทัศนวัสดุ หรือวัสดุตีพิมพ์ต่างๆ (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 137) การใช้ชุด การสอนจึงเป็นการใช้สื่อสารนิเทศผสมหลายอย่าง และใช้ประกอบการเรียนการสอนใน สถาบันการศึกษาชุดการสอนประเภทหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการฝึกอบรมทักษะ ได้ แก่ เกมส์ต่าง ๆ ซึ่งจัดเตรียมขึ้น มีการกำหนดวิธีการและกฏเกณฑ์ในการเล่นหรือการ แข่งขันเพื่อเป็นการจูงใจผู้เรียน

9. ตู้อันตรทัศน์ (Diorama) เป็นสื่อสารนิเทศที่ใช้ประโยชน์มากในการ เรียนการสอน มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า กล่องทัศนียภาพ เวทีจำลอง หรือตู้จำลอง คือการจำลองแสดงเหตุการณ์ สถานที่เพื่อให้ผู้เขียนได้เรัยนรู้ถึงเหตุการณ์ใกล้เคียงของจริงมากขึ้น ลักษณะของตู้อันตรทัศน์ประกอบด้วยกล่องสี่เหลี่ยม หรือตู้สี่เหลี่ยม เปิดฝาไว้ด้านหนึ่ง ปิดด้วยกระจกใส หรือเปิดโล่ง ภายในจัดตกแต่งด้วยหุ่นจำลองของตัวอย่างและฉาก เพื่อแสดงเหตุการณ์ในเนื้อหาเรื่องราวที่ต้องการจัดแสดง (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 151) เช่น ตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์สงครามเก้าทัพ ณ ทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ในศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูกาญจนบุรี และตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นต้น

10. แผ่นโปร่งใส (Overhead tranparency) เป็นสื่อสารนิเทศที่แสดงบนแผ่นพลาสติก หรือแผ่นอาซีเตทโปร่งใส ด้วยการวาดภาพ หรือเขียนเป็นตัวหนังสือ แผ่นโปร่งใสจึงเป็นวัสดุฉายที่มีลักษณะโปร่งใส ซึ่งนำมาใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) สารนิเทศที่ได้จากการดูจะอยู่ในลักษณะการบรรยาย การเสนอแนวความคิดเห็นกระบวนการข้อเท็จจริง (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 229) ขนาดของแผ่นโปร่งใสมีขนาดที่นินมกันคือประมาณ 10 x 12 นิ้ว

11. หุ่นจำลอง (Models) หุ่นจำลองเป็นวัสดุ 3 มิติที่สร้างขึ้นเฟื่อเลียนแบบของจริงหรือใช้แทนของจริง ที่ไม่สามารถจะนำมาแสดงได้โดยตรง มีการจัดทำหลายประเภท เช่น หุ่นจำลองแสดงลักษณะภายนอก หุ่นจำลองเหมือนของจริง หุ่นจำลอง แบบขยายหรือแบบย่อ หุ่นจำลองแบบผ่าซีก หุ่นจำลองแบบแยกส่วน หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ และหุ่นจำลองเลียนแบบของจริง เป็นต้น (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 149- 150) การใช้หุ่นจำลองเป็นสารนิเทศนี้ นิยมใช้ในการเรียนการสอน เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนประกอบการเรียนวิชาแพทยศาสตร์ เป็นต้น เพราะทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและเปิดโอกาสให้สามารถศึกษาลักษณะ และการทำงานของของจริงได้ง่ายขึ้น

12. ของตัวอย่าง (Specimens) ป็นสื่อสารนิเทศที่นำตัวแทนของสิ่งของกลุ่มหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง อาจเป็นส่วนใดของของจริงก็ได้ เพราะของจริงบางอย่างไม่สามารถนำมาแสดงได้ด้วย มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือหาได้ยาก หรือมีราคาแพง เป็นต้น ของตัวอย่างจะช่วยให้ได้ ประสบการณ์ใกล้กับความจริงยิ่งขึ้น เช่น ตัวอย่างหิน แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

สื่อสารนิเทศย่อส่วน (Microforms)

ในบรรดาสารนิเทศต่าง ๆ ผู้ใช้ สารนิเทศจะเห็นข้อมูลจาการอ่านสารนิเทศ หรือได้สารนิเทศจากการฟัง มักเห็นสื่อสารนิเทศเป็นไปตามธรรมชาติ คือ ขนาดของสารนิเทศเป็นอย่างไร สายตาก็มองเห็นเป็นอย่าง นั้น มีสารนิเทศประเภทหนึ่งที่จัดทำเพื่อใช้ประโยชน์ในการได้สารนิเทศในรูปของการย่อ ส่วนลงมาในรูปร่างลักษณะของวัสดุย่อส่วน สื่อสารนิเทศย่อส่วนส่วนใหญ่ได้มาจากการถ่ายภาพสิ่งพิมพ์ต้นฉบับย่อส่วนลงบนฟิล์ม หรือกระดาษทึบแสงหรือวัสดุอื่น ๆ ให้มีขนาดเล็กลงจนไม่สามารถอ่านด้วยตาเปล่าได้ ต้อง ใช้เครื่องอ่านวัสดุย่อส่วน จึงเป็นสารนิเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในการประหยัดงบประมาณ และประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บสารนิเทศประเภทอื่น ๆ เมื่ออยู่ในรูปของวัสดุย่อส่วน และจะอำนวยประโยชน์ต่อการใช้สารนิเทศเป็นอย่างมาก เช่น การอ่านต้นฉบับจากหนังสือ หายากในรูปวัสดุย่อส่วน ผู้ให้บริการสารนิเทศจะเกิดความสะดวกต่อการให้บริการมาก กว่าการให้อ่านจากตัวเอกสารเดิมซึ่งมีค่าและหายาก (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 159) สื่อสารนิเทศย่อส่วนนับว่าเป็นเทคโนโลยีข้อมูลที่สำคัญและทวีบทบาทในการเป็นข้อมูลสารนิเทศที่สำคัญในปัจจุบัน สื่อสารนิเทศย่อส่วนที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ไมโครฟิล์ม (Microfilms) มีลักษณะเป็นฟิล์ม ได้จากการถ่ายภาพ สารนิเทศต้นฉบับต่าง ๆ ลงบนฟิล์มโปร่งใสไม่มีหนามเตย มีความกว้างของฟิล์มหลายขนาด เช่น 8 มม., 16 มม., 35 มม. หรือ 70 มม. (Young 1983 : 144) แต่ขนาดที่ นิยมใช้กันมาก ได้แก่ 16 มม. และ 35 มม. ไมโครฟิล์มแต่ละม้วนมีความยาวไม่จำกัด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีความยาวประมาณ 100ฟุต ถ้าถ่ายจากขนาด 16 มม. สามารถถ่ายสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 2,300 หน้า และขนาด 35 มม. จะถ่ายได้ประมาณ 1,000-1,2000 หน้า (นงลักษณ์ สุวรรณกิจ 2528 : 2) ศูนย์สารนิเทศต่าง ๆ มักใช้ประโยชน์จากการใช้ไมโครฟิล์มในการให้บริการข้อสนเทศซึ่งอยู่ในรูปของหนังสือเก่าหรือหนังสือต้นฉบับอื่น ๆ ที่มีค่าเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ตัวเอกสารจริงดังเช่น การให้บริการในหอสมุดแห่งชาติ หรือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไมโครฟิล์มอาจย่อจากต้นฉบับลงได้ประมาณ 15:1 ถึง 40: 1 มีทั้งชนิดพอซิทีฟ เนกาทิฟ และไมโครฟิล์มสี

2. ไมโครฟิช (Microfiche) มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์ม ได้จาการถ่ายภาพสิ่งพิมพ์ลงบนแผ่นฟิล์มโปร่งใสด้วยวิธีการย่อข้อความ จากต้นฉบับในอัตราส่วน 15:1 ถึง 40:1 ไมโครฟิชมีหลายขนาดตั้งแต่ 3"x5" ถึง 6"x8" หรือใหญ่กว่านั้น ส่วนบนของแผ่นไมโครฟิชจะให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของสิ่งพิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยตาเปล่า (Prytherch 1987 : 507) ไมโครฟิชแต่ละขนาดจะมีจำนวนแถวของกรอบภาพต่างกัน ออกไป เช่น ขนาดมาตราฐาน 4"x6" (105x148 มม.) มีภาพถึงประมาณ 98 หน้า (นงลักษณ์ สุวรรณกิจ 2528 : 2) ส่วนขนาดอื่น ๆ อาจบรรจุภาพที่ย่อได้แล้วประมาณ 60-200 ภาพ ในแต่ละแผ่น ไมโครฟิชอาจเป็นแผ่นฟิล์มพอซิทิฟ อัดและตัดต่อจากชิ้นส่วนของ ไมโครฟิล์ม หรืออาจเป็นชิ้นส่วนที่ตัดออกจากม้วนไมโครฟิล์มขนาด 70 มม. หรืออาจผลิต เป็นไมโครฟิชโดยตรง แต่ละภาพจะอ่านหรือดู หรืออัดขยายด้วยเครื่องอ่านและพิมพ์ไมโครฟิล์ม หรือเครื่องอ่านไมโครฟิช สารนิเทศที่บันทึกในรูปของไมโครฟิช ที่มีความหนาเพียง 1 นิ้ว สามารถจัดเก็บสารนิเทศต่าง ๆ ได้ประมาณ 25,000 หน้า (Orilia 1986 : 132) นับว่ามีประโยชน์ต่อการให้บริการข้อมูลในศูนย์สารนิเทศและห้องสมุดต่าง ๆ เป็น การประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บเอกสารตัวจริงได้เป็นอย่างมาก

3. อุตราฟิช (Ultrafiche) หรืออุลตราไมโครฟิช (Ultra-Microfiche) คือไมโครฟิชที่ย่อส่วนลงบนขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มขนาด 4.x6" สามารถบรรจุข้อความย่อส่วนจากหนังสือได้ประมาณ 3,000 หน้า (Prytherch 1987 : 810) ซึ่งอำนวยความสะดวกอย่างยิ่งต่อการถ่ายสารนิเทศในการใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก

4. บัตรอเพอร์เจอร์ (Aperture Card) มีลักษณะเป็นบัตรแข็ง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3 1/4" x 7 1/2" หรือบัตรข้อมูลคอมพิวเตอร์ขนาด 80 คอลัมน์ที่มี กรอบภาพย่อส่วนเพียงกรอบเดียว สำหรับไมโครฟิล์มขนาด 16, 35 หรือ 70 มม. ส่วน ใหญ่มักใช้ขนาด 35 มม. และมีความยาวของฟิล์มประมาณ 1.9 นิ้ว ส่วนบนของบัตรอาจมีการเจาะรหัสเพื่อใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ใ นการเรียกค้นสารนิเทศจากบัตรนี้ได้ บัตรอเพอร์เจอร์เป็นสื่อสารนิเทศที่สามารถนำมาใช้ กับงานบางประเภท เช่น งานพิมพ์เขียว งานเขียนแบบ ทางวิศวกรรม งานทะเบียนนักศึกษา ระเบียนของโรงพยาบาล (นงลักษณ์ สุวรรณกิจ 2528 : 3) และงานอื่น ๆ บัตรอเพอร์เจอร์อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Peephole card (Prytherch 1987 : 31)

5. ไมโครโอเปค (Micro-opaque) เป็นสื่อสารนิเทศที่ได้มาจากการพิมพ์สิ่งพิมพ์บางส่วนหรือทั้งหมดของต้นฉบับ ลงบนกระดาษทึบแสง เรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามชื่อทางการค้า เช่น ไมโครคาร์ด (Microcard) ไมโครพริ้นท์ (Microprint) ไมโครเล็กซ์ (Microlex) และ มินิพริ้นท์ (Mini-print) เป็นต้น

6. แผ่นซีดีรอม (Compact Disc-Read Only Memory : CD-ROM) เป็นสื่อสารนิเทศชนิดใหม่ ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ใช้คำนี้ในภาษาไทย บางแห่งจึงทับศัพท์เรียกว่า แผ่นซีดีรอม หรือเรียกว่า แผ่นสารนิเทศ เนื่องจากเป็นวัสดุสารนิเทศที่ให้ข้อมูลได้ทุกด้าน และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา แผ่นซีดีรอม เป็นวัสดุสารนิเทศที่พัฒนามาจากแผ่นเสียงเลเซอร์ซึ่งเริ่มประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2513 ต่อมาพัฒนาเป็นแผ่นซีดี-ไอ (Compact Disc Interactive) และแผ่นซีดีวี (Compact Disc Video) จนกระทั่งมาเป็นแผ่นซีดีรอม (Saviers 1987 : 288-289) และมีบทบาทต่อสังคมสารนิเทศมากกว่าวัสดุสารนิเทศใด ๆ ในปัจจุบัน

ตัวแผ่นซีดีรอม เป็นดิสก์หน้าเดียว ไม่มีแบบ 2 หน้า เหมือนดิสก์ทั่ว ๆ ไป ขนาดของแผ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.72 นิ้ว หรือ 120 มม. มีรูศูนย์กลางแผ่นกว้าง 0.59 นิ้ว หรือ 15 มม. ตัวแผ่นจานจะทำด้วยอลูมิเนียมและเคลือบกับคอมแพคดิสก์ที่ใช้ระบบเสียงไฮไฟแต่ต่างกันตรงที่ตัวกลางประกอบด้วยแทรคข้อมูลที่มีลักษณะขดเป็นวง เมื่อวัดความยาวของแทรคที่เป็นวงขดแล้วจะมีความยาวถึง 3 ไมล์ โดยจะมีจำนวน 16,000 รอบต่อนิ้ว แต่ละส่วน (sector) ของข้อมูลมีความจุ 2,000 ไบท์ กินเนื้อที่ของความยาว 3 /4 นิ้ว (ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์ 2530: 20-21) วิธีบันทึกข้อมูลลงบนแผ่นสารนิเทศทำได้โดยเก็บข้อมูลลงบนพื้นที่เล็ก ๆ ด้วยลำแสงเลเซอร์ โดยการรวมลำแสงให้เป็นลำเล็กมาก ฉายลงไปบนพื้นผิวที่เก็บข้อมูลพื้นผิวนี้เป็นชิ้นของสารที่ไวต่อปฏิกริยา สารนี้เป็นโลหะผสม เช่น ทองคำขาว ทองคำเงิน เป็นต้น จะถูกฉาบไว้บาง ๆ บนผิวของแผ่นโลหะ เมื่อถูกแสงบริเวณนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ข้อมูลจึงถูกบันทึกลงไว้ตามลักษณะของลำแสง การอ่านข้อมูลกลับออกมาทำได้โดยใช้ลำแสงเลเซอร์พลังงานต่ำส่องลงไปบริเวณพื้นผิวที่ได้บันทึกข้อมูลไว้จะสะท้อนลำแสงแตกต่างไปจากบริเวณข้างเคียง และส่งสัญญาณสะท้องกลับออกมาเป็นสารนิเทศที่ต้องการ (เพ็ญศรี ก๊วยสุวรรณ 2529 :784)แผ่นซีดีรอมมีลักษณะพิเศษประจำตัว คือ สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถเขียนข้อมูลใหม่หรือข้อมูลเดิมที่มีอยู่ก่อนได้ ลักษณะพิเศษนี้มีส่วนดีในด้านความคงทนของสารนิเทศที่บันทึกไว้ จะไม่ถูกลบทิ้งโดยความจงใจหรือความพลั้งเผลอใด ๆ ดังเช่นดิสก์หรือเทปแม่เหล็กทั้งหลาย แผ่นซีดีรอมมีข้อบกพร่องที่อ่านสารนิเทศ ได้อย่างเดียว แต่เขียนข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้ (ณรงค์ ป้อมบุปผา 2531 : 28) การปรับปรุงสารนิเทศ จึงจำเป็นต้องใช้แผ่นซีดีรอมแผ่นใหม่ ซึ่งทำให้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม คุณค่าของแผ่นซีดีรอมมีอย่างล้นเหลือ ทั้งนี้เพราะแผ่นซีดีรอมเพียงแผ่นเดียวมีความสามารถในการจัดเก็บสารนิเทศได้ถึง 500 เมกกะไบท์ หรือมากกว่านี้เทียบเท่า กับจำนวนหน้าหนังสือประมาณ 250,000 หน้า หรือเทียบเท่าแผ่นดิสก์ธรรมดา จำนวนประมาณ 1,500 แผ่น หรือแผ่นดิสก์ขนาดหนา (Hard discs) ประมาณ 50 แผ่น (Dodson 1987 : 191) คุณค่าในการบรรจุสารนิเทศอันมหาศาลนี้เองทำให้สังคมข่าวสารแคบลง ขจัดปัญหาในเรื่องการค้นหาสารนิเทศ ทั่วทุกมุมโลกได้ ศูนย์สารนิเทศตลอดจนห้องสมุดโดยทั่วๆไป ในปัจจุบันต่างพากันมาใช้แผ่นซีดีรอม เพื่อการสืบค้นข้อมูลกัน อย่างกว้างขวาง

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2004
Revised:Junr 2004