ลิงกัง
ลิงกัง | |
---|---|
ลิงกัง | |
ลิงกังเผือก | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Primates |
วงศ์: | Cercopithecidae |
สกุล: | Macaca |
สปีชีส์: | M. nemestrina |
Subspecies: |
|
ชื่อวิทยาศาสตร์ | |
Macaca nemestrina (Linnaeus, 1766) |
ลิงกัง หรือ ลิงกะบุด (อังกฤษ: Pig-tailed macaque) เป็นลิงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca nemestrina
เนื้อหา |
[แก้] ลักษณะ
มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาล และขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าลิงตัวผู้
[แก้] การแพร่กระจายพันธุ์
พบแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่รัฐอัสสัมของอินเดีย, พม่า, ไทย, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
[แก้] นิเวศวิทยาและพฤติกรรม
อาศัยอยู่ตามป่าดิบบริเวณเชิงเขา ชอบเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ไม่ค่อยอยู่เป็นที่ บางตัวออกหากินตัวเดียว ไม่รวมฝูง ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3-4 ปี ผสมพันธุ์ได้ทุกฤดู ระยะตั้งท้องประมาณ 5-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีอายุยืนราว 25 ปี ตัวผู้หรือแต่ละตัวอาจผสมพันธุ์กับตัวอื่นได้หลายตัว และไม่อยู่เป็นคู่แน่นอน
ลิงกังจัดเป็นลิงที่มีสมาชิกในฝูงน้อยกว่าลิงชนิดอื่น ๆ คือ มีไม่เกิน 40-45 ตัว
กินอาหารจำพวกผลไม้, เมล็ดพืช และแมลงขนาดเล็ก เวลากินอาหารมักชอบเก็บไว้ข้างแก้มแล้วค่อย ๆ เอามือดันอาหารที่เก็บไว้ออกมากินทีละน้อย
[แก้] สถานะ
สำหรับในประเทศไทย ลิงกัง เป็นลิงที่พบได้ในบางส่วนของภาคกลาง, ภาคเหนือและภาคตะวันตก แต่จะพบมากทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป เป็นลิงที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมักจะถูกจับมาเลี้ยงและฝึกให้แสดงต่าง ๆ ตามคำสั่ง เช่น ละครลิงหรือปีนต้นมะพร้าวเก็บลูกมะพร้าว ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นรู้จักกันอย่างดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นต้น[1]
สำหรับการฝึกให้เก็บมะพร้าว จะใช้ลิงเพศผู้เนื่องจากมีตัวใหญ่ เรี่ยวแรงมากกว่าลิงเพศเมีย ลิงที่จะใช้ฝึกเป็นอย่างดีอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 3-5 เดือน และต้องเป็นลิงนิสัยดี เชื่อฟังต่อผู้เลี้ยง มีขนเป็นมัน สุขภาพแข็งแรง ฟันไม่มีความผิดปกติ เพราะจะมีผลต่อการกัดขั้วมะพร้าว ซึ่งลิงบางตัวใช้เวลาฝึกเพียง 3 เดือนก็ใช้เก็บมะพร้าวได้แล้ว โดยการฝึกจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน[2]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 มีชาวบ้านที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้พบลิงกังเผือกตัวหนึ่ง ในป่าสวนยางแถบเทือกเขาบูโด โดยพฤติกรรมของลิงกังตัวนี้แปลกกว่าลิงกังป่าโดยทั่วไป กล่าวคือ ไม่ดุร้ายก้าวร้าวต่อมนุษย์ และไม่มีอาการตื่นกลัวด้วย ซึ่งผู้ที่พบได้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [3]
สถานะในกฎหมายปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
[แก้] อ้างอิง
- ^ ศูนย์ลิงสมุย ฝึกลิงโชว์ต่างชาติ วอนรัฐฯ พัฒนาโอทอปท่องเที่ยว
- ^ เพื่อนเกษตร, รายการ เช้าข่าวเจ็ดสี ทางช่อง 7: วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554
- ^ ชาวยะลาแห่ดูลิงกังเผือกแน่นทุกวัน เจ้าของเตรียมถวาย“ในหลวง" จากผู้จัดการออนไลน์
- หนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก ISBN 974-87081-5-2