อักษรลาว
อักษรลาว เป็นชื่ออักษรที่รัฐบาลลาวรับรองให้ใช้เขียนภาษาลาว ซึ่งใช้เป็นภาษาราชการในปัจจุบัน มีพัฒนาการมาจากอักษรไทน้อย (หรือในอีกชื่อหนึ่ง คือ อักษรลาวเดิม) ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในสมัยราชวงศ์ล้านช้าง เมื่อราว พ.ศ. 1900 โดยได้รับอิทธิพลจากอักษรไทยโบราณ ที่มาจากอักษรมอญและ อักษรเขมรอีกต่อหนึ่ง ลักษณะการใช้งานยังคงมีระบบการเขียนแบบอักษรไทยโบราณ ที่ไม่ใช้แล้วในอักษรไทยปัจจุบัน เช่น การใช้ไม้กงแทนเสียงสระโอะเมื่อมีตัวสะกด หรือการใช้ตัวเชิงของอักษร ย แทนสระเอียเมื่อมีตัวสะกด เป็นต้น
เนื้อหา |
[แก้] วิวัฒนาการอักษรลาว
อักษรลาวมีพื้นฐานมาจากอักษรพื้นฐานเดียวกับอักษรไทย โดยเผยแพร่เข้าสู่ประเทศลาวทางศาสนาพุทธ นิกายลังกาวงศ์ (เถรวาท) มี 2 แบบคืออักษรลาว (อักษรลาวโบราณภาษาลาวเรียกว่า อักษรลาวเดิม ส่วนในประเทศไทยเรียกว่า อักษรไทน้อย พบในภาคอีสานของไทยด้วยเช่นกัน) และอักษรธรรมลาว อักษรลาวแปลงมาจากอักษรเทวนาครีที่ใช้ในประเทศอินเดียตอนเหนือ และยืมโดย ปราชญ์ชาวเขมร อักษรลาวประกอบด้วยพยัญชนะ 33 รูป 21 เสียง และสระ 28 รูป 27 เสียง เขียนจากซ้ายไปขวา ระบบการเขียนในภาษาลาวจะซับซ้อนน้อยกว่าในภาษาไทยและภาษาเขมร จึงสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า เนื่องจากภาษาลาวจะเขียนตามเสียงโดยตรง
วิวัฒนาการของอักษรลาวนั้นมีผู้ที่ให้ความเห็นแตกต่างกันไป ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดซ์ เคยให้ความเห็นว่าอักษรลาวนั้น น่าจะมีที่มีจากอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย แล้วแพร่หลายไปยังเมืองที่ติดต่อกันในดินแดนล้านนาและล้านช้าง แต่ภายหลังตัวอักษรไทยในดินแดนล้านช้างได้เปลี่ยนเป็นตัวลาว
นักวิชาการลาวเชื่อว่าคนลาวที่อยู่ในดินแดนล้านช้างมีอักษณเป็นของตนเองมานาน อักษรลาวคล้ายกับตัวอักษรไทยเพราะวิวัฒนาการมาจากอักษรเทวนาครี อันเป็นอักษรของพวกอินเดียทางเหนือ มหาสิลา วีระวงส์ เห็นว่าชาติลาวมีตัวหนังสือของตัวเองมาหลายร้อยปี หรืออาจจะเป็นพันปีก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงของไทย โดยอักษรลาวเป็นอักษรไทพวกหนึ่งที่เรียกว่า อักษรไทน้อย ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือลาวในเวลาต่อมา อักษรไทยน้อยนี้ น่าจะมีที่มาจากอักษรเทวนาคีของอินเดียดังกล่าวไปแล้ว
ระบบการเขียนภาษาลาว มีวิวัฒนาการ 3 แบบดังนี้ คือ
1. แบบของท่านมหาสิลา วีระวงส์ หรือแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
อักษรแบบนี้ได้มีการคิดตัวอักษรเพิ่มเติมให้ครบวรรคในภาษาบาลี เพื่อให้สะดวกในการเขียนเรื่องต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยมีสาเหตุจากปัญหาความยุ่งยากในการจัดทำตัวพิมพ์อักษรธรรมลาวเพื่อเขียนเรื่องต่างๆ ทางศาสนา อักขรวีธีของอักษรลาวแบบนี้สะกดตามเค้าเดิมของภาษาอย่างเคร่งครัด มีการใช้ตัวสะกดตัวการันต์ เพื่อให้รู้ต้นเค้าของคำว่าเป็นคำภาษาลาวเดิมหรือคำภาษาต่างประเทศ เช่น คำภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งคล้ายกับระบบการเขียนภาษาไทยในปัจจุบัน ระบบการเขียนแบบนี้เคยใช้ในสมัยที่ประเทศลาวยังไม่มีระบบการเขียนที่แน่นอน ขาดหลักการที่ชัดเจน ใช้ในสมัยที่ลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จนถึงปี พ.ศ. 2491
2. แบบของท่านสมจีน ป. งิน
แบบนี้สะกดตามแบบที่ได้กำหนดในพระราชโองการ (พระราชบัญญัติ) เลขที่ 10 พ.ศ. 2491 ในรัชสมัยของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ซึ่งได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดหลักการเขียนภาษาลาวให้มีความแน่นอนและชัดเจนขึ้นยิ่งขึ้น อักขรวิธีของระบบนี้ คือ สะกดคำตามเสียงอ่านแต่ยังคงรักษาเค้าเดิมของภาษาไว้ การสะกดการันต์ยังคงมีการใช้ แต่ได้เลิกใช้อักษรบางตัวลงจากแบบแรกเพื่อให้เขียนง่ายขึ้น ซึ่งคล้ายกับการเขียนภาษาไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อักษรลาวรูปแบบนี้ใช้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2491-2518 คือ นับตั้งแต่ประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันยังมีคงการใช้อยู่ในกลุ่มคนลาวอพยพในต่างประเทศ
3. แบบของท่านพูมี วงวิจิด
อักขรวิธีแบบนี้สะกดตามเสียงอ่านเท่านั้น คือ อ่านออกเสียงอย่างไรให้สะกดอย่างนั้น เริ่มใช้ในเขตปลดปล่อยของขบวนการปะเทดลาวก่อน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาล สปป.ลาว จึงได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้อักษรลาวสามารถเขียนง่ายอ่านง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดจุดอ่อนหลายอย่าง และทำให้ภาษาลาวเกิดปัญหาการขาดหลักการสะกดคำที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เช่น ได้มีการตัดตัวการันต์ ตัว ร หันลิ้น (ภาษาลาวเรียกว่า ร รถ) ออก ทำให้ไม่สามารถเขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศและภาษาของชนเผ่าต่างๆ ได้ครบถ้วน อักษรลาวระบบนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการลาวได้บรรจุตัว ร หันลิ้นกลับมาใช้ใหม่ และมีการใช้ตัวการันต์สำหรับสะกดคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่นคำภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ยกเว้นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และคำลาวเดิม ยังสะกดตามเสียงอ่านอยู่เหมือนเดิม
[แก้] ปัญหาของระบบอักษรลาวปัจจุบัน
ระบบการเขียนภาษาลาวในปัจจุบันยังขาดเอกภาพไม่มีมาตรฐานในการเขียนและการใช้คำศัพท์ เพราะยังไม่มีองค์กรที่มาควบคุมอย่างเป็นทางการ จึงมีลักษณะต่างคนต่างเขียนตามหลักการของตนเอง ทำให้เกิดความสับสนในการเขียนและการใช้คำศัพท์ ส่วนคนลาวที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2518 ก็ยังมีการใช้ภาษาลาวตามแบบที่ 2 ในสมัยที่ยังเป็นราชอาณาจักรลาวอยู่เหมือนเดิม ทำให้เกิดความสับสนระหว่างคนลาวในประเทศและนอกประเทศ แม้รัฐบาลและประชาชนลาวเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในข้างต้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน แต่ในอนาคตคาดว่ารัฐบาล สปป.ลาว จะมีการจัดตั้งองค์กรออกมาควบคุมเพื่อให้ระบบการใช้ภาษาลาวเป็นมาตรฐานเดียวกัน
[แก้] ลักษณะ
อักษรลาว มีพยัญชนะ 33 รูป 21 เสียง สระมี 28 รูป 27 เสียง มีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียงซึ่งขึ้นกับพื้นเสียงของพยัญชนะ ลักษณะของคำ (คำเป็น คำตาย) เครื่องหมายวรรณยุกต์ และความยาวของเสียงสระ การเขียนยึดสำเนียงเวียงจันทน์เป็นหลัก ไม่มีระบบการถอดเป็นอักษรโรมันที่แน่นอน นิยมใช้ระบบถ่ายเสียงของภาษาฝรั่งเศส
[แก้] รูปพยัญชนะ
พยัญชนะลาวทั้ง 33 รูป แบ่งเป็นพยัญชนะโดด 27 ตัว (ภาษาลาวเรียกว่า "พยัญชนะเค้า" แปลว่า พยัญชนะต้น) และพยัญชนะควบอีก 6 ตัว ซึ่งมีดังต่อไปนี้
[แก้] พยัญชนะโดด
รูปอักษรลาว | ชื่ออักษรในภาษาลาว | เทียบรูปอักษรไทย | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
ກ | ก ไก่ | ก | |
ຂ | ข ไข่ | ข, ฃ | |
ຄ | ค ควาย | ค, ฅ, ฆ | |
ງ | ง งัว, ง งู | ง | งัว แปลว่า วัว ในภาษาไทยปัจจุบัน |
ຈ | จ จอก | จ | จอก แปลว่า แก้วน้ำ |
ສ | ส เสือ | ฉ, ศ, ษ, ส | คำเสียง ฉ ในภาษาไทย มักออกเสียงเป็น /ส/ ทุกแห่ง |
ຊ | ซ ซ้าง | ช, ซ | คำเสียง ช ในภาษาไทย ภาษาลาวออกเสียงเป็น /ซ/ ทุกแห่ง |
ຍ | ย ยุง | ญ, ย | เสียงของ ย ในที่นี้เป็นเสียงนาสิก /ญ/ แบบเดียวกับที่ปรากฏในภาคอีสานของไทย (บางครั้งถอดเป็นรูป ญ) |
ດ | ด เด็ก | ฎ, ฑ (บางคำ),ด | |
ຕ | ต ตา | ฏ, ต | |
ຖ | ถ ถง | ฐ, ถ | ถง แปลว่า ย่าม รูปอักษรตัวนี้ บางคราวเขียนแบบหัวเข้า (คล้ายตัว ฤ) บางคราวก็เขียนหัวออก (คล้ายตัว ฦ และเลข 7 ในภาษาลาว) |
ທ | ท ทุง | ฑ (บางคำ), ฒ, ท, ธ | ทุง แปลว่า ธง |
ນ | น นก | ณ, น | ผู้เรียนอักษรลาวใหม่ๆ มักสับสนกับตัว ມ (ม แมว) เสมอ เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกันมาก |
ບ | บ แบ้ | บ | แบ้ แปลว่า แพะ |
ປ | ป ปา | ป | ปา ในที่นี้คือคำว่า ปลา ในภาษาไทย (ภาษาลาวแท้จะไม่มีเสียงควบกล้ำ) |
ຜ | ผ เผิ้ง | ผ | เผิ้ง คือคำว่า ผึ้ง |
ຝ | ฝ ฝน | ฝ | |
ພ | พ พู | พ, ภ | พู แปลว่า ภูเขา (ในภาษาไทยเขียนว่า ภู) |
ຟ | ฟ ไฟ | ฟ | |
ມ | ม แมว | ม | ผู้เรียนอักษรลาวใหม่ๆ มักสับสนกับตัว ນ (น นก) เสมอ เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกันมาก |
ຢ | ย ยา | ย (บางคำ), อฺย | ย ตัวนี้ภาษาลาวจัดเป็นอักษรกลาง ออกเสียงแบบเดียวกับ ย ในภาษาไทย ใช้ในบางคำ เช่น "ຢຸດ" (หยุด) "ຢາກ" (อยาก) เป็นต้น |
ຣ | ร ระคัง, ร รด, ร ไร, ร รีง | ร | ร ตัวนี้ปัจจุบันนิยมใช้เขียนคำที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ออกเสียงเหมือน ล ทั้งหมด ในการเขียนภาษาลาวโบราณ รูปอักษรนี้ยังใช้แทนเสียง ฮ ในคำที่ปัจจุบันเขียนด้วยตัวอักษร ฮ เฮือน |
ລ | ล ลีง, ล โลด | ล | ลีง คือคำว่า ลิง ในภาษาลาวออกเสียงคำนี้ยาว จึงใช้สระอีแทน ปกติภาษาลาวใช้พยัญชนะนี้เขียนคำทุกคำที่ออกเสียง /ร/ หรือ /ล/ แต่เวลาอ่านออกเสียงอ่านเป็นเสียง /ล/ ทุกตัว |
ວ | ว วี | ว | วี แปลว่า พัด |
ຫ | ห ห่าน | ห | |
ອ | อ โอ | อ | โอ แปลว่า ขันน้ำ |
ຮ | ฮ เฮือน | ฮ | เฮือน คือคำว่า เรือน ในภาษาไทย |
[แก้] พยัญชนะควบ
รูปอักษร | เทียบอักษรไทย | เสียง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
ຫງ | หง | /ง/ | |
ຫຍ | หย | /ญ/ | ระบบอักษรลาวเก่ามักใช้รูป ຫຽ |
ຫນ, ໜ | หน | /น/ | ปัจจุบันนิยมใช้รูป ໜ |
ຫມ, ໝ | หม | /ม/ | ปัจจุบันนิยมใช้รูป ໝ |
ຫຣ | หร | /ร/ | |
ຫລ, ຫຼ | หล | /ล/ | รูปอักษรทั้งสองแบบนี้นิยมใช้ปะปนกันทั่วไป |
ຫວ | หว | /ว/ |
[แก้] รูปสระ
|
|
|
[แก้] อักษรลาวในระบบยูนิโค้ด
ช่วงรหัสอักษรลาวในระบบ ยูนิโค้ด อยู่ตั้งแต่ช่วงรหัส U+0E80 ถึง U+0EFF
อักษรลาว Unicode.org chart (PDF) | ||||||||||||||||
0 | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | A | B | C | D | E | F | |
U+0E8x | ກ | ຂ | ຄ | ງ | ຈ | ຊ | ຍ | |||||||||
U+0E9x | ດ | ຕ | ຖ | ທ | ນ | ບ | ປ | ຜ | ຝ | ພ | ຟ | |||||
U+0EAx | ມ | ຢ | ຣ | ລ | ວ | ສ | ຫ | ອ | ຮ | ຯ | ||||||
U+0EBx | ະ | ັ | າ | ຳ | ິ | ີ | ຶ | ື | ຸ | ູ | ົ | ຼ | ຽ | |||
U+0ECx | ເ | ແ | ໂ | ໃ | ໄ | ໆ | ່ | ້ | ໊ | ໋ | ໌ | ໍ | ||||
U+0EDx | ໐ | ໑ | ໒ | ໓ | ໔ | ໕ | ໖ | ໗ | ໘ | ໙ | ໜ | ໝ | ໞ | ໟ | ||
U+0EEx | ||||||||||||||||
U+0EFx |
[แก้] อ้างอิง
- รูปและการออกเสียงของอักษรลาว (อังกฤษ)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ชีวิตผู่ข้า (อัตชีวประวัติของข้าพเจ้า) โดย มหาสิลา วีระวงส์