ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปรัชญา

คำว่า ปรัชญา มีที่มามาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงความรู้อันประเสริฐ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปฺร ที่แปลว่าประเสริฐ กับ คำว่า ชฺญา ที่แปลว่ารู้ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ของคำว่า philosophy ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า ฟีโลโซเฟีย ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งแยกได้เป็นคำว่า ฟีเลน แปลว่าความรัก และ โซเฟีย แปลว่าความรู้ เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า "การรักในความรู้" หรือ ปรารถนาจะเข้าถึงความรู้หรือปัญญา
ปรัชญา ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และหลักแห่งความจริง กล่าวคือ ในบรรดาความรู้ทั้งหลายของมนุษยชาตินั้น อาจแบ่งได้เป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ
เรื่องที่หนึ่ง คือ เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ฟิสิกส์ มีเป้าหมายในการศึกษาเพื่อหาความจริงต่าง ๆ และเข้าใจในธรรมชาติมากกว่าสิ่งรอบตัวเพราะรวมไปถึงจักรวาลทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง ชีววิทยา มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เคมี มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับธาตุและองค์ประกอบของธาตุ เป็นต้น
เรื่องที่สอง คือ เรื่องเกี่ยวกับสังคม เช่น เศรษฐศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของสังคม รัฐศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองของสังคม นิติศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบกฎหมายของสังคม เป็นต้น
แต่เป้าหมายในการศึกษาของปรัชญานั้น ครอบคลุมความรู้และความจริง ในทุกศาสตร์และในทุกสาขาความรู้ของมนุษย์ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งผลจากการศึกษาของปรัชญา ก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ในทุกศาสตร์และในทุกสาขาความรู้ของมนุษย์ด้วย
ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่า ปรัชญา จึงเป็น ความรู้ที่เป็นหลักแห่งความรู้ และจึงเป็น ความรู้ที่เป็นหลักแห่งความจริง ด้วย
ผู้ที่ได้ศึกษาและเข้าใจปรัชญาแล้ว ย่อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในศาสตร์ทั้งปวง และในทุกเรื่องรวมทั้งในเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตนด้วย
นักปรัชญาสนใจในเรื่องของ การมีอยู่ (Existance) หรือการเป็นอยู่ คุณธรรม ความรู้ ความจริง และความงาม นักปรัชญา ตั้งคำถามกับแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการศึกษาของวิทยาศาสตร์ ในอดีต
เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการศึกษาของปรัชญา มีจำนวนมาก อาทิเช่น
ความคิดที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร?
เราจะตรวจสอบว่า ความคิดใดถูกต้องหรือไม่ ได้อย่างไร? ธรรมชาติของความคิดและการคิดเป็นอย่างไร?
ความคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์?
ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างไร?
ความรู้ เกิดจากเหตุปัจจัยใดบ้าง? อะไรคือกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้?
การกระทำ ควรจะมีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่อะไร?
มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วหรือไม่? อะไรคือเกณฑ์แบ่งแยกระหว่างดีและชั่ว?
อะไรคือความจริง? อะไรคือสิ่งที่มีอยู่? จักรวาลนี้มีพระเจ้าหรือไม่?
ธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสิ่งคืออะไร?
สรรพสิ่งมีอยู่ด้วยตัวของมันเองนอกเหนือการรับรู้ของเราหรือไม่?
ธรรมชาติของสถานที่และเวลาเป็นอย่างไร?
คนเรา เกิดมาทำไม? การมีสติรู้คืออะไร?
ความงามเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับรู้หรือไม่? หรือว่าเป็นสิ่งสากลที่เป็นจริงในตัวเองแม้จะไม่ถูกรับรู้?
องค์ประกอบของความงามคืออะไร? อะไรคือศิลปะ?
เหล่านี้ เป็นต้น
ในปรัชญากรีกโบราณ กลุ่มของคำถามเหล่านี้จะถูกพิจารณาถึงในสาขาแยกย่อยของปรัชญา คือ การวิเคราะห์ หรือตรรกวิทยา(Logic), ญาณวิทยา(Epistemology), จริยศาสตร์(Ethics), อภิปรัชญา(Metaphysics), และสุนทรียศาสตร์ โดยที่จริยศาสตร์กับสุนทรียศาสตร์ถูกรวมเรียกว่าอรรฆวิทยา/คุณวิทยา(Axiology) อย่างไรก็ตามปรัชญามิได้สนใจเฉพาะเรื่องเหล่านี้เท่านั้น อริสโตเติลผู้ริเริ่มการแบ่งสาขาในลักษณะนี้ยังคงจัดให้การเมือง ฟิสิกส์สมัยใหม่ ธรณีวิทยา ชีววิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาด้วยเช่นกัน แวดวงปรัชญากรีกได้พัฒนากระแสการคิดแบบวิเคราะห์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโสกราตีสและวิธีการของเขา ซึ่งเสนอให้แบ่งปัญหาที่สนใจออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำให้เข้าใจปัญหาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามปรัชญาแนวอื่น เช่นในปรัชญาตะวันออก อาจไม่จำเป็นต้องใช้การแบ่งสาขาย่อยในลักษณะที่กล่าวมา หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกัน
สาขาต่าง ๆ ของปรัชญา
ญาณวิทยา
ญาณวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge)บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า Epistemology ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Episteme (ความรู้)และ Logos (วิชา)มีความหมายว่า ทฤษฎีแห่งความรู้ ซึ่งญาณวิทยาจะอธิบายถึงปัญหาเกี่ยวกับที่มาของความรู้ แหล่งเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง
อภิปรัชญา
อภิปรัชญาเป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Metaphysics หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน อภิปรัชญาเป็นการศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่ว ๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใด ๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล
จริยศาสตร์ จริยศาสตร์ (Ethics) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า (Ethos) ที่หมายถึง อุปนิสัย หรือหลักของความประพฤติ ขนบธรรมเนียมที่เป็นความเคยชิน จริยศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราว่าคืออะไร อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น และจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ดังนั้น เป้าหมายของชีวิต คือ ตัวที่จะกำหนดการกระทำของมนุษย์ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และเป้าหมายชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปหลายแนวคิด
สุนทรียศาสตร์
สุนทรียศาสตร์เป็นศัพท์คำใหม่ ที่บัญญัติขึ้นโดย โบมการ์เด็น (Alexander Gottieb Baumgarte) ซึ่งก่อนหน้าที่เป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต อริสโตเติล กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม สุนทรียศาสตร์นับว่าเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาคุณค่า (Axiology) ในสมัยก่อนวิชานี้เป็นที่รู้จักกันในรูปของวิชา “ทฤษฎีแห่งความงาม” (Theory of Beauty)
ตรรกวิทยา
ตรรกวิทยา (logic) มาจากรากศัพท์ ในภาษากรีกว่า “Logos” และ ความหมายของคำว่า logos ตามรากศัพท์เดิมในภาษากรีก หมายถึง คำพูด การพูด เหตุผล สมมุติฐาน สุนทรพจน์ คำกรีกที่มีรากศัพท์มาจาก logos เช่น logistikon มีความหมายถึง การอธิบาย การให้รายละเอียด นอกจากนี้ยังมีความหมาย หมายถึง คำสัญญา แต่อย่างไรก็ตามความหมาย ที่ซ่อนอยู่ของคำว่า Logic คือ การคิด นั่นเอง ตรรกวิทยามิใช่เรื่องราวของปรัชญาโดยตรง แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการคิดทางปรัชญา เพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกผิดในการโต้แย้งที่ต่างกัน
กระแสคิดหลักทางปรัชญา
จิตนิยม
มองว่า มนุษย์คือวิญญาณ
จิตนิยมเชื่อว่า มนุษย์เรามีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ จิต กับ ร่างกาย และเชื่อว่า จิตนั้นมีความสำคัญมากกว่าร่างกาย เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ จิตหรือวิญญาณนั้นเป็นอมตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ร่างกายนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมา มีเกิดมีดับตามสภาพโลกภายนอก จึงทำให้ร่างกายเกิดสุขหรือทุกข์ต่าง ๆ จิตนิยมมองว่า จิตนั้นทำหน้าที่ควบคุมร่างกาย ส่วนร่างกายเป็นเพียงสิ่งที่ทำตามความต้องการของจิตเท่านั้น จิตนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักการเรียนรู้ คิดค้น และมีอารมณ์ ความรู้สึกได้ ส่วนสมองนั้นเป็นเพียงเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ผู้ที่กระทำการเรียนรู้ เข้าใจ นึกคิดนั้นต้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่สมอง และไม่ใช่สสาร และสิ่งนั้นคือ จิตหรือวิญญาณ และแม้ว่า จิตจะไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่มันก็เป็น จริงอยู่ในตัวเราเท่า ๆ กับร่างกายที่เป็นจริงด้วย เพลโตเชื่อว่า มนุษย์เรามีธรรมชาติเป็นจิตกับร่างกาย เรียกทัศนะนี้ว่า ทวินิยม เพลโตแบ่งจิตออกเป็น 3 ภาค 3 หน้าที่ จิตภาคไหนแข็งแรงกว่า ร่างกายก็จะทำตามจิตภาคนั้นออกคำสั่ง ได้แก่ 1. ภาคตัณหา คือ ภาคที่มนุษย์ล้วนอยู่ในความต้องการความสุขทางร่างกาย เช่น กิน อยู่ โดยไม่คิดถึงสิ่งใดเลย ไม่สนใจความดี ความงาม หรือความเป็นจริง 2. ภาคน้ำใจ คือ ภาคที่มนุษย์มีความรู้สึกทางใจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุทางวัตถุ เช่น ความซื่อสัตย์ ความรักเกียรติ ความมีเมตตา คนที่มีจิตภาคนี้เข้มแข็ง ก็จะมีภาคตัณหาน้อยลง เพราะความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่การสนองตัณหา 3. ภาคปัญญา คือ จิตในด้านที่เป็นเหตุผล เป็นจิตภาคที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ เพลโตถือว่า มนุษย์จะแตกต่างจากสัตว์และสิ่งต่าง ๆ ในโลก ก็ด้วยจิตภาคปัญญานี้เท่านั้น และการใช้ปัญญาเหตุผลของมนุษย์ภาคนี้ ก็จะทำให้มนุษย์เข้าถึงโลกของแบบได้ มนุษย์ทุกคนมีจิตทั้ง 3 ภาคเหมือนกัน แตกต่างที่อัตราส่วนของจิตในแต่ละภาคนั้นไม่เท่ากัน ใครคนหนึ่งจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมา ก็แล้วแต่ว่ามีจิตภาคไหนเข้มแข็งที่สุด จิตที่ดีที่สุด คือ จิตที่มีภาค 3 ภาค สมดุลกัน แต่ขอให้ภาคปัญญานำภาคอื่น ๆ ก็เป็นอันใช้ได้
วัตถุนิยม
มนุษยนิยม
อัตถิภาวนิยม
ปรัชญาตะวันตก
ปรัชญาตะวันตกยุคโบราณ
ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง
ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่
ปรัชญาตะวันออก
ปรัชญาอินเดีย
ปรัชญาอินเดียแบ่งเป็น 2 พวก โดยแบ่งตามการนับถือเกี่ยวกับคัมภีร์พระเวท
1.ปรัชญานาสติกะ โดยเป็นปรัชญาที่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่
-ปรัชญาจารวาก
-ปรัชญาเชน
-พุทธปรัชญา
-พุทธปรัชญาสำนักไวภาษิกะ
-พุทธปรัชญาสำนักเสาตรานติกะ
-พุทธปรัชญาสำนักโยคาจาร
-พุทธปรัชญาสำนักมาธยมิกะ
2.ปรัชญาอาสติกะ โดยเป็นปรัชญาที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่
-ปรัชญานยายะ
-ปรัชญาไวเศษิกะ
-ปรัชญาสางขยะ
-ปรัชญาโยคะ
-ปรัชญามีมางสา
-ปรัชญาเวทานตะ
-ปรัชญาอไทฺวตะ เวทานตะ
-ปรัชญาวิศิษฏาไทฺวตะ เวทานตะ
ปรัชญาจีน
ดูเพิ่มเติม
http://thaisdophilosophy.net
ลัทธิสโตอิก
ปรัชญาวิเคราะห์
ปรัชญาภาคพื้นทวีป
ปรัชญาวิพากษ์
ปรัชญาหลังสมัยใหม่
ปรัชญาตะวันตก
ประวัติปรัชญาตะวันตก
ปรัชญาคริสต์ศาสนา
Jewish philosophy
Russian philosophy
Czech philosophy
Eastern philosophy
Buddhist philosophy
Chinese philosophy
Hindu philosophy
Islamic philosophy
Japanese philosophy
List of philosophers
List of philosophical topics
List of philosophies
Meta-philosophy
แหล่งที่มา
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ปรัชญา. (2552). ค้นเมื่อ มีนาคม 31, 2552, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0
%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com